เขียนเรื่องธงชาติของประเทศต่างๆ ไปเยอะพอสมควรแล้ว (ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย) ทีนี้ได้เวลาวนกลับมาเขียนถึง “ธงชาติไทย” กันบ้าง
ก่อนเข้าเรื่องธงไตรรงค์เวอร์ชันปัจจุบัน ต้องย้อนดูประวัติของธงชาติไทยในอดีตกันก่อน โชคดีว่า Wikipedia มีข้อมูลค่อนข้างละเอียด สามารถใช้อ้างอิงได้เลย (แหล่งอ้างอิงอื่น ศิลปวัฒนธรรม และ BBC Thai)
ประวัติธงชาติไทยแบบสั้น
แนวคิดเรื่อง “ธงชาติ” เป็นแนวคิดของรัฐชาติสมัยใหม่ และเริ่มใช้งานจากแวดวงการเดินเรือก่อนใคร (จากเรื่องธงชาติดัตช์ และรัสเซียที่ใช้ตามดัตช์) ในยุคอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น เริ่มมีเรือสินค้าต่างชาติเข้าอ่าวไทยมา คนไทยจึงเริ่มรู้จักการใช้ธงเป็นสัญลักษณ์บอกสัญชาติของเรือ
ธงชาติไทย v1 ในสมัยแรกๆ ยังไม่มีใครออกแบบธงชาติไทย วิธีง่ายๆ คือใช้ผ้าแดงมาผูก ธงชาติไทยที่เป็นสัญลักษณ์ของ “เรือจากสยาม” จึงเป็นธงสีแดงล้วน
สมัย ร.1-2 เริ่มมี “เรือหลวง” ที่พระมหากษัตริย์นั่ง เลยหาสัญลักษณ์มาบ่งบอกว่าเหนือกว่าเรือชาวบ้านทั่วไป เลยนำจักรสีขาวและช้างเผือกเข้ามาใส่ในธงด้วย (แต่ชาวบ้านก็ยังใช้ธงแดงอยู่)
ธงชาติไทย v1.1 ในสมัย ร.3 พบว่าการใช้ธงแดงล้วน ซ้ำกับประเทศอื่น จึงนำช้างเผือกมาใส่กลางธงแดง ส่วนธงของกษัตริย์ที่ใช้กับเรือหลวงนั้น ร.4 ให้ใช้ธงช้างสีน้ำเงินขาบ (น้ำเงินม่วง) แทน
ธงชาติไทย v2 หลังใช้ธงช้างเผือกมานาน ในสมัย ร.6 พ.ศ. 2459 ได้ไปเยือน จ.อุทัยธานี ชาวบ้านหาธงมาปักต้อนรับกษัตริย์แต่ใช้ธงไม่เป็น จึงชักธงช้างกลับหัว ทำให้ ร.6 พบว่าธงช้างแบบเดิมมีจุดอ่อน แถมการวาดช้างให้สวยทำได้ยากด้วย จึงออกแบบธงใหม่ที่สมมาตร ชักด้านไหนก็ได้ และทำได้ง่าย กลายเป็นธง 5 ริ้วสีขาว-แดง
ธงชาติไทย v2.1 ธง 5 ริ้วขาว-แดง ใช้ได้ไม่นาน ในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2460 ก็มีคนเขียนความเห็นลงในหนังสือพิมพ์ เสนอว่าธง 5 ริ้วยังไม่สวยพอ ควรเปลี่ยนแถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงิน เพื่อแสดงถึงสีของกษัตริย์ (ร.6 เกิดวันเสาร์ สีประจำตัวคือม่วง/น้ำเงินขาบ และเป็นสีที่ชอบด้วย)
อีกเหตุผลหนึ่งคือช่วงนั้นมีสงครามโลกครั้งที่ 1 พอดี ซึ่งสยามเลือกเข้าข้างฝ่ายพันธมิตร (อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย) ที่ทั้ง 3 ประเทศใช้ธงสีน้ำเงิน-ขาว-แดงหมดเลย การที่สยามใช้ธงชุดสีเดียวกัน ย่อมทำให้ทั้ง 3 ประเทศพอใจ
เราเลยได้ใช้ธงชาติไทย v2.1 หรือธงไตรรงค์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ความหมายของธงชาติไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
จากประวัติของธงชาติไทยข้างต้น จะเห็นว่าธงชาติไทยถูกประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยประโยชน์เชิงการใช้สอย (functional) เป็นสำคัญ ทั้งจากการเดินเรือ (ธงแดง v1) การสร้างความแตกต่างจากธงชาติอื่น (เอาช้างมาใส่เป็น v1.1) การออกแบบธงที่ทันสมัยขึ้น ประดิษฐ์ได้ง่าย (ธง 5 ริ้ว v2) และการใส่สีน้ำเงินเพื่อความสวยงาม + สร้างสัมพันธ์ชาติพันธมิตร (ไตรรงค์ v2.1)
แล้วความหมายของธงชาติไทยที่อ้างอิงเรื่อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างที่เราร้องกันในเพลง “ไตรรงค์ธงไทย ปลิวไสวสวยงามสง่า สีแดงคือชาติ สีขาวศาสนา สีน้ำเงินนั้นหมายว่า พระมหากษัตริย์ไทย” นั้นมาจากไหนกันแน่
ในกรณีของไทย หลักฐานอ้างอิงที่มีคือ ร.6 เป็นคนแต่งขึ้นมาเอง อยู่ในกลอน “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” เมื่อ พ.ศ. 2462 (2 ปีหลังสร้างธงไตรรงค์) – มติชนสุดสัปดาห์
“ขอร่ำรำพันบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด
ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน และธรรมคุ้มจิตไทย
แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้ เพื่อรักษะชาติศาสนา
น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึงเป็นสีธง ที่รักแห่งเราชาวไทย
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธวิชัย วิชิตชูเกียรติสยาม”
หากเราประเมินตามบริบทของการสร้างธง
สีแดง ซึ่งเป็นสีออริจินัลของธงสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย หมายถึงชาติ-ประเทศ และเป็นสีที่เปิดให้ประชาชนทั่วไป (ไพร่) ใช้งาน ภายหลังถูกนิยามใหม่ให้เป็นสีแห่งเลือด ที่ปกป้องแผ่นดิน (ตามบริบทสงครามโลกในตอนนั้น แม้ว่าสยามไม่ได้ไปรบกับใครสักเท่าไรนักก็ตาม)
ส่วนสีน้ำเงิน ถูกกำหนดเป็นสีธงกษัตริย์ตั้งแต่สมัย ร.4 (ธงเรือหลวง) และถูกใช้อีกครั้งในธงไตรรงค์เวอร์ชัน 2.1 โดยกษัตริย์อีกยุคคือ ร.6
สีขาว ถูกนิยามขึ้นมาโดยไม่มีบริบทใดเพิ่ม คิดว่าน่าจะมาจากตัว ร.6 เองที่พยายามหานิยาม (ที่อาจจะ romanticize) ว่าเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์ และโยงเข้าเรื่องศาสนา (ซึ่งเป็นศาสนาพุทธ by default)
คำถามถัดมาคือ ร.6 ไปเอาแนวคิดเรื่อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาจากไหนกัน? นักวิชาการไทยจะเชื่อกันว่า มาจาก God, King, and Country ซึ่งเป็นคำขวัญทหารของอังกฤษในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะ ร.6 เองก็เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ น่าจะได้อิทธิพลมาจากอังกฤษเยอะ (แต่ท่านก็อยู่อังกฤษถึงแค่ พ.ศ. 2445 ก่อนสงครามโลกหลายปีมาก แม้อาจได้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ในช่วงครองราชย์แล้วก็ตาม)
แต่อย่างที่เขียนไปแล้วว่า ผมลองหาคำประวัติของคำว่า God, King, and Country ดู ก็ไม่ค่อยพบข้อมูลนี้มากนัก (เจอแต่ King and Country) เลยยังไม่เชื่อเรื่องนี้เท่าไร ในขณะที่ ความหมายของธงชาติรัสเซีย (ขาว = พระเจ้า, น้ำเงิน = กษัตริย์, แดง = ประชาชน) กลับมีความหมายที่ตรงกับของสยามกว่ามาก
ตัว ร.6 เองก็เคยเสด็จประพาสรัสเซียมาก่อน (สมัยอยู่อังกฤษ) และราชสำนักไทยยุคนั้นก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีมากๆ กับราชสำนักรัสเซีย ผมก็ขอตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้ว่า ร.6 อาจได้อิทธิพลเรื่อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มาจากรัสเซียก็เป็นได้
แต่ไม่ว่าที่มาของไอเดีย ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จะเริ่มมาอย่างไร ตลอดรัชสมัย ร.6 เองก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้ง (เช่น ในหนังสือ ปลุกใจเสือป่า) โดยใช้คำลักษณะเดียวกันนี้เรียกองค์ประกอบ 3 อย่างพร้อมกันในทีเดียว (เช่น “รักเจ้า รักชาติ รักศาสนา”) รวมถึงการกำหนดนิยามของ “ชาติ” ในแบบ modern state สมัยใหม่ด้วย
ธงไตรรงค์เองเคยเกือบถูก ร.7 เปลี่ยนกลับเป็นธงช้าง ด้วยเหตุผลว่าไม่เป็นที่รู้จักเท่ากับธงช้าง แต่ความเห็นของสภาองคมนตรีก็หลากหลาย เสียงแตก ทำให้ ร.7 ตัดสินใจใช้ธงไตรรงค์ต่อไปแบบเดิม
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ธงไตรรงค์ถูกนำมาใช้แทน “ชาติ” เป็นหลัก และยิ่งถูกขับเน้นในยุคสร้างชาติของจอมพล ป. (หลัง พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา) ที่มีหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหอก มีการประดิษฐ์เพลงชาติ และการเคารพธงชาติเช้า-เย็นเพิ่มเข้ามาอีก
รายละเอียดเรื่องธงชาติไทยกับอุดมการณ์รัฐไทย อ่านได้ในวิทยานิพนธ์ ธงไตรรงค์กับการสร้างอุดมการณ์รัฐไทย พ.ศ. 2459-2520 ของ ชนิดา พรหมพยัคฆ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PDF) รวบรวมไว้ค่อนข้างละเอียด (ผู้เขียนได้นำวิทยานิพนธ์ไปพัฒนาเป็นหนังสือ การเมืองในประวัติศาสตร์ : ธงชาติไทย ต่อด้วย มติชนพิมพ์ปี 2546 ปัจจุบันน่าจะหาไม่ได้แล้วนอกจากในห้องสมุด)