in Books, Knowledge, Politics

Modernity in Siam ในมุมมองธงชัย วินิจจะกูล

ช่วงนี้กลับมาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะ เพราะสนใจเรื่อง “ชาตินิยม” ในไทย ที่ลงลึกไปไกลกว่าอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

นักวิชาการไทยที่เขียนเรื่องชาตินิยมได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้น ธงชัย วินิจจะกูล ทำให้ตอนนี้กำลังไล่เก็บงานของธงชัยอยู่

หนังสือที่อ่านอยู่ตอนนี้คือ “เมื่อสยามพลิกผัน” ธีมหลักคือกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของรัฐสยามเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ (modernity) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วง ร.4-ร.6 ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคเดียวกัน แต่หลายอย่างก็ยังเป็นพื้นฐานทางความคิดของสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้

“เมื่อสยามพลิกผัน” เป็นการรวบรวมบทความวิชาการของธงชัยที่ตีพิมพ์ในโอกาสต่างๆ เข้าด้วยกัน ดังเช่นหนังสือรวมผลงานชิ้นอื่นๆ ของเขา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ “บทที่หนึ่ง” ที่ธงชัยเขียนเพิ่มใหม่ในการรวมเล่มครั้งนี้ ซึ่งเขาได้เสนอ “กรอบมโนทัศน์พื้นฐาน” (foundational mentality) ยุคสมัยใหม่ในสยาม จำนวน 7 ด้าน

  1. ภูมิกายา (geo-body)
  2. ประวัติศาสตร์อย่างใหม่ และราชาชาตินิยม (The royal-nationalist history and its others)
  3. พุทธใหม่-ไสย-วิทย์ (Modern Buddhism and its others)
  4. คนไทย/คนอื่น (Thais and Others)
  5. สังคมและระเบียบสังคม (Social relations in the Buddhist organic society)
  6. เพศสภาวะ (Gender in the Thai organic society)
  7. สยามในสากลโลก (Siam in the modern world order)

ธงชัยออกตัวว่า “กรอบมโนทัศน์” อันนี้เป็น framework ขนาดใหญ่ของเขาเอง ที่ต้องการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดเป็นโครงการใหญ่ของเขาเลย และเป็น superset ที่ครอบคลุมงานเกือบทั้งหมดที่เขาทำมาตลอดด้วย

(ธงชัยไม่ได้เขียนออกมาตรงๆ แต่ผมคิดว่า ตัวเนื้องานนั้นใหญ่ในระดับที่เขาก็อาจทำได้ไม่สำเร็จในช่วงชีวิตด้วย แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นกรอบที่ธงชัยตั้งเป้าเอาไว้ ซึ่งเรานำมาใช้เป็นกรอบช่วยในการทำความเข้าใจได้)

ออกตัวว่าผมไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์โดยอาชีพ เป็นแค่ความสนใจส่วนตัวเท่านั้น และเท่าที่มีประสบการณ์อ่านงานของธงชัยมาบ้าง ก็พบว่าอ่านค่อนข้างยาก มีความเป็นวิชาการสูง ต้องขบคิดใคร่ครวญอย่างมาก

ในบล็อกอันนี้จึงเป็นการนำกรอบทั้ง 7 ข้อของธงชัยมาบันทึกเอาไว้ก่อนเป็นเป้าหมาย แทรกด้วยความเห็นบางประการหลังอ่านงานเรื่องนั้นๆ ของธงชัยแล้ว ซึ่งคงจะตามอัพเดตไปเรื่อยๆ ในอนาคต หลังอ่านงานแต่ละชิ้นแล้ว

framework ของธงชัยทั้ง 7 ข้อ มีดังนี้

1) ภูมิกายา (geo-body)

สาระสำคัญ

  • เป็นกรอบคิดด้านภูมิศาสตร์ยุคใหม่ ที่กำหนดประเด็นเรื่องเขตแดน อธิปไตยเหนือดินแดน เอกราช การเสียดินแดน

สถานะการศึกษาของธงชัย

  • นี่คืองานชิ้นเอกที่สร้างชื่อให้ธงชัยในยุคแรกๆ คือ Siam Mapped และภายหลังได้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “กําเนิดสยามจากแผนที่” สำนักพิมพ์อ่าน

ความเห็นของข้าพเจ้า

  • เคยพยายามอ่าน Siam Mapped แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษ รู้สึกว่ายากไป ศัพท์เฉพาะเยอะไป ต้องหาเวลามาอ่านใหม่

2) ประวัติศาสตร์อย่างใหม่ และราชาชาตินิยม (The royal-nationalist history and its others)

สาระสำคัญ

  • ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม มีเรื่องเล่า 2 แม่บท (master narratives) คือ สุโขทัยที่เป็นยุคทอง (glorious antiquity) และ ไทยรบพม่า
  • การขจัดประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกการควบคุม-หลุดมาตรฐานของชนชั้นนำสยาม

สถานะการศึกษาของธงชัย

  • ประเด็นเรื่องสุโขทัยยุคทอง-ไทยรบพม่า อยู่ในเล่ม โฉมหน้าราชาชาตินิยม และบทความ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ใน เมื่อสยามพลิกผัน
  • การขจัดประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกการควบคุมของชนชั้นนำสยาม (ในที่นี้คือ ร.5 และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ท่าทีของชนชั้นนำสยามต่อ ก.ศ.ร. กุหลาบ นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของ ร.5 อยู่ในเล่ม เมื่อสยามพลิกผัน
  • ธงชัยยังมีหนังสืออีกเล่มคือ ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย ที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ไทย “แบบอื่น” ที่ไม่ใช่ราชาชาตินิยม

ความเห็นของข้าพเจ้า

  • โฉมหน้าราชาชาตินิยม ยังไม่ได้อ่าน ซื้อมาแล้ว
  • “ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่อยู่ใน “สยามพลิกผัน” เป็นเรื่องวิวัฒนาการของการเขียนประวัติศาสตร์ในสยาม ที่เดิมทีใช้ระบบ “พงศาวดาร” มาเป็นประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมใหม่ ตีความใหม่ ที่มี ร.5 และ กรมพระยาดำรงฯ เป็นแกนกลางสำคัญ บวกกับบริบททางการเมืองในยุคนั้นที่เป็นการสร้างชาติเพื่อรับมือภัยคุกคามจากโลกตะวันตกด้วย การสร้างประวัติศาสตร์แบบใหม่นี้ (สุโขทัยยุคทอง-ไทยรบพม่า) ยังเป็นรากฐานทางความคิดตกทอดมาถึงปัจจุบัน
  • อ่านเรื่อง ก.ศ.ร.กุหลาบ ตามที่ธงชัยตีความแล้ว คมคายมาก จะเขียนถึงละเอียดต่อไป

3) พุทธใหม่-ไสย-วิทย์ (Modern Buddhism and its others)

สาระสำคัญ

  • การปรับพุทธศาสนาในสยามให้เป็นเหตุเป็นผล เป็น Modern Buddhism
  • ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง พุทธ ไสย (พราหมณ์) และวิทยาศาตร์
  • การเปลี่ยนสถานะของศาสนาพุทธ ในฐานะศาสนาเดียวของสยาม มาเป็นเพียงศาสนาหนึ่งในศาสนาทั้งหลาย แต่คนไทยก็ยังมองว่าพุทธเป็นศาสนาที่สูงส่งกว่าศาสนาอื่น

สถานะการศึกษาของธงชัย

  • ธงชัยเขียนเรื่องที่สามคือ ศาสนาพุทธสูงส่งกว่าศาสนาอื่น ในบทความ “การแก้ต่างให้พุทธศาสนา” ในเล่ม เมื่อสยามพลิกผัน

ความเห็นของข้าพเจ้า

  • บทความของธงชัยชี้ประเด็นที่น่าสนใจว่า การ reform ศาสนาพุทธของไทยให้เป็นสมัยใหม่ แกนกลางอยู่ที่นิกายธรรมยุติที่ตั้งโดย ร.4 โดยเราอาจคิดว่า ร.4 หรือธรรมยุติ ต้องการต่อสู้กับมหานิกายที่มีความเป็นพราหมณ์มาแอบแฝง แต่จริงๆ แล้ว ร.4 ก็ได้อิทธิพลอย่างมาจากศาสนาคริสต์ที่เข้ามาสยามในยุคนั้น และจำเป็นต้องให้พุทธ “มีเหตุมีผล” เพื่อต่อสู้กับคริสต์ด้วย

4) คนไทย/คนอื่น (Thais and Others)

สาระสำคัญ

  • เป็นประเด็นเรื่องเชื้อชาติ (race) แต่มีรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ระดับของความเจริญระหว่าง กรุง เมือง บ้านนอก ป่าเขา การแบ่งชั้นในสังคมแต่ไม่เหยียดผิวรุนแรง

สถานะการศึกษาของธงชัย

ความเห็นของข้าพเจ้า

  • ยังไม่ได้อ่าน ซื้อมาแล้ว

5) สังคมและระเบียบสังคม (Social relations in the Buddhist organic society)

สาระสำคัญ

  • ตำราที่กำหนดกรอบ “หน้าที่พลเมือง” แบบไทยๆ เช่น หนังสือธรรมจริยา ไม่ได้สะท้อนความเป็นปัจเจกชน (individuality) แบบตะวันตก เช่น สิทธิความเป็นปัจเจก, ความเป็นส่วนตัว, สิทธิทางการเมือง เพราะสังคมไทยไม่เคยให้ความสำคัญต่อปัจเจกเท่ากับชาติ พลเมืองไทยยังเป็นไพร่ฟ้า ไม่ใช่ citizen
  • สังคมไทยเป็นสังคมชีวภาพ (organic society) มีระเบียบสังคม (social order) บ้านเมืองเป็นเหมือนร่างกาย อวัยวะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนั้น จึงมีความเชื่อว่า “ทำหน้าที่ของตัวเองไปให้ดี” อย่าไปขัดแย้งกับใคร
    ส่วนระเบียบสังคมไทย (social order) แบบเถรวาทยังถูกกำหนดด้วย “บุญบารมี” ดังนั้นถ้าบุญบารมีไม่ถึง ก็อย่าคิดทะเยอทะยานเป็นใหญ่เป็นโต
  • ระบอบกฎหมายและหลักนิติธรรม (legal regime and the Rule of Law) ดูแนวคิดรากฐานของกฎหมายไทย ที่อิงจากระบอบกฎหมายพราหมณ์โบราณ เน้นลำดับชั้นและหน้าที่ ไม่ใช่สิทธิหรือความเท่าเทียม แม้ปรับปรุงฟอร์แมตให้เป็นแบบตะวันตก แต่ก็ยังมีเชื้อของเก่าอยู่

สถานะการศึกษาของธงชัย

ความเห็นของข้าพเจ้า

  • เคยเขียนถึง รัฐราชาชาติ ไปแล้วครั้งหนึ่ง
  • หัวข้อนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นอีกประเด็นสำคัญ (หรือจะเรียกว่าแกนกลาง) ในม็อบราษฎร 2563 เลย เพราะคนรุ่นใหม่ไม่พอใจกับ “หน้าที่พลเมือง” หรือ “ระเบียบสังคม” แบบบุญบารมีแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว

6) เพศสภาวะ (Gender in the Thai organic society)

สาระสำคัญ

  • เป็นการต่อยอดประเด็น “สังคมชีวภาพ” ในหัวข้อก่อน ที่จัดวางลำดับของเพศให้มีความสำคัญต่างกัน

สถานะการศึกษาของธงชัย

  • ธงชัยยังไม่เคยเขียนถึงเรื่องนี้จริงจัง แต่ก็ตั้งคำถามที่น่าสนใจไว้หลายอัน เช่น แนวคิดมีเมียหลายคน (polygamy) ที่สยามดั้งเดิมต้องปรับตัวตามค่านิยมแบบตะวันตก

ความเห็นของข้าพเจ้า

  • ประเด็นเรื่องเพศ เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจในม็อบราษฎร 2563 ที่มีผู้หญิงในสัดส่วนที่เยอะมาก

7) สยามในสากลโลก (Siam in the modern world order)

สาระสำคัญ

  • สยามเคยเป็นเจ้าจักรวรรดิในภูมิภาค แต่พออิทธิพลตะวันตกแผ่เข้ามา สยามกลายเป็นประเทศชายขอบ กลายเป็นบ้านนอก สยามจึงต้องตามหาความศิวิไลซ์

สถานะการศึกษาของธงชัย

  • มีเขียนถึงใน โฉมหน้าราชาชาตินิยม บท “ความรู้เกี่ยวกับตัวตนของไทยภายใต้โลกคับแคบแบบเจ้ากรุงเทพฯ” และ คนไทย/คนอื่น บทเรื่องปัตตานีและพม่า

ความเห็นของข้าพเจ้า

  • ยังไม่ได้อ่าน