ช่วงนี้กลับมาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะ เพราะสนใจเรื่อง “ชาตินิยม” ในไทย ที่ลงลึกไปไกลกว่าอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
นักวิชาการไทยที่เขียนเรื่องชาตินิยมได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้น ธงชัย วินิจจะกูล ทำให้ตอนนี้กำลังไล่เก็บงานของธงชัยอยู่
หนังสือที่อ่านอยู่ตอนนี้คือ “เมื่อสยามพลิกผัน” ธีมหลักคือกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของรัฐสยามเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ (modernity) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วง ร.4-ร.6 ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคเดียวกัน แต่หลายอย่างก็ยังเป็นพื้นฐานทางความคิดของสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้
“เมื่อสยามพลิกผัน” เป็นการรวบรวมบทความวิชาการของธงชัยที่ตีพิมพ์ในโอกาสต่างๆ เข้าด้วยกัน ดังเช่นหนังสือรวมผลงานชิ้นอื่นๆ ของเขา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ “บทที่หนึ่ง” ที่ธงชัยเขียนเพิ่มใหม่ในการรวมเล่มครั้งนี้ ซึ่งเขาได้เสนอ “กรอบมโนทัศน์พื้นฐาน” (foundational mentality) ยุคสมัยใหม่ในสยาม จำนวน 7 ด้าน
- ภูมิกายา (geo-body)
- ประวัติศาสตร์อย่างใหม่ และราชาชาตินิยม (The royal-nationalist history and its others)
- พุทธใหม่-ไสย-วิทย์ (Modern Buddhism and its others)
- คนไทย/คนอื่น (Thais and Others)
- สังคมและระเบียบสังคม (Social relations in the Buddhist organic society)
- เพศสภาวะ (Gender in the Thai organic society)
- สยามในสากลโลก (Siam in the modern world order)
ธงชัยออกตัวว่า “กรอบมโนทัศน์” อันนี้เป็น framework ขนาดใหญ่ของเขาเอง ที่ต้องการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดเป็นโครงการใหญ่ของเขาเลย และเป็น superset ที่ครอบคลุมงานเกือบทั้งหมดที่เขาทำมาตลอดด้วย
(ธงชัยไม่ได้เขียนออกมาตรงๆ แต่ผมคิดว่า ตัวเนื้องานนั้นใหญ่ในระดับที่เขาก็อาจทำได้ไม่สำเร็จในช่วงชีวิตด้วย แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นกรอบที่ธงชัยตั้งเป้าเอาไว้ ซึ่งเรานำมาใช้เป็นกรอบช่วยในการทำความเข้าใจได้)
ออกตัวว่าผมไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์โดยอาชีพ เป็นแค่ความสนใจส่วนตัวเท่านั้น และเท่าที่มีประสบการณ์อ่านงานของธงชัยมาบ้าง ก็พบว่าอ่านค่อนข้างยาก มีความเป็นวิชาการสูง ต้องขบคิดใคร่ครวญอย่างมาก
ในบล็อกอันนี้จึงเป็นการนำกรอบทั้ง 7 ข้อของธงชัยมาบันทึกเอาไว้ก่อนเป็นเป้าหมาย แทรกด้วยความเห็นบางประการหลังอ่านงานเรื่องนั้นๆ ของธงชัยแล้ว ซึ่งคงจะตามอัพเดตไปเรื่อยๆ ในอนาคต หลังอ่านงานแต่ละชิ้นแล้ว
framework ของธงชัยทั้ง 7 ข้อ มีดังนี้
1) ภูมิกายา (geo-body)
สาระสำคัญ
- เป็นกรอบคิดด้านภูมิศาสตร์ยุคใหม่ ที่กำหนดประเด็นเรื่องเขตแดน อธิปไตยเหนือดินแดน เอกราช การเสียดินแดน
สถานะการศึกษาของธงชัย
- นี่คืองานชิ้นเอกที่สร้างชื่อให้ธงชัยในยุคแรกๆ คือ Siam Mapped และภายหลังได้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “กําเนิดสยามจากแผนที่” สำนักพิมพ์อ่าน
ความเห็นของข้าพเจ้า
- เคยพยายามอ่าน Siam Mapped แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษ รู้สึกว่ายากไป ศัพท์เฉพาะเยอะไป ต้องหาเวลามาอ่านใหม่
2) ประวัติศาสตร์อย่างใหม่ และราชาชาตินิยม (The royal-nationalist history and its others)
สาระสำคัญ
- ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม มีเรื่องเล่า 2 แม่บท (master narratives) คือ สุโขทัยที่เป็นยุคทอง (glorious antiquity) และ ไทยรบพม่า
- การขจัดประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกการควบคุม-หลุดมาตรฐานของชนชั้นนำสยาม
สถานะการศึกษาของธงชัย
- ประเด็นเรื่องสุโขทัยยุคทอง-ไทยรบพม่า อยู่ในเล่ม โฉมหน้าราชาชาตินิยม และบทความ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ใน เมื่อสยามพลิกผัน
- การขจัดประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกการควบคุมของชนชั้นนำสยาม (ในที่นี้คือ ร.5 และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ท่าทีของชนชั้นนำสยามต่อ ก.ศ.ร. กุหลาบ นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของ ร.5 อยู่ในเล่ม เมื่อสยามพลิกผัน
- ธงชัยยังมีหนังสืออีกเล่มคือ ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย ที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ไทย “แบบอื่น” ที่ไม่ใช่ราชาชาตินิยม
ความเห็นของข้าพเจ้า
- โฉมหน้าราชาชาตินิยม ยังไม่ได้อ่าน ซื้อมาแล้ว
- “ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่อยู่ใน “สยามพลิกผัน” เป็นเรื่องวิวัฒนาการของการเขียนประวัติศาสตร์ในสยาม ที่เดิมทีใช้ระบบ “พงศาวดาร” มาเป็นประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมใหม่ ตีความใหม่ ที่มี ร.5 และ กรมพระยาดำรงฯ เป็นแกนกลางสำคัญ บวกกับบริบททางการเมืองในยุคนั้นที่เป็นการสร้างชาติเพื่อรับมือภัยคุกคามจากโลกตะวันตกด้วย การสร้างประวัติศาสตร์แบบใหม่นี้ (สุโขทัยยุคทอง-ไทยรบพม่า) ยังเป็นรากฐานทางความคิดตกทอดมาถึงปัจจุบัน
- อ่านเรื่อง ก.ศ.ร.กุหลาบ ตามที่ธงชัยตีความแล้ว คมคายมาก จะเขียนถึงละเอียดต่อไป
3) พุทธใหม่-ไสย-วิทย์ (Modern Buddhism and its others)
สาระสำคัญ
- การปรับพุทธศาสนาในสยามให้เป็นเหตุเป็นผล เป็น Modern Buddhism
- ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง พุทธ ไสย (พราหมณ์) และวิทยาศาตร์
- การเปลี่ยนสถานะของศาสนาพุทธ ในฐานะศาสนาเดียวของสยาม มาเป็นเพียงศาสนาหนึ่งในศาสนาทั้งหลาย แต่คนไทยก็ยังมองว่าพุทธเป็นศาสนาที่สูงส่งกว่าศาสนาอื่น
สถานะการศึกษาของธงชัย
- ธงชัยเขียนเรื่องที่สามคือ ศาสนาพุทธสูงส่งกว่าศาสนาอื่น ในบทความ “การแก้ต่างให้พุทธศาสนา” ในเล่ม เมื่อสยามพลิกผัน
ความเห็นของข้าพเจ้า
- บทความของธงชัยชี้ประเด็นที่น่าสนใจว่า การ reform ศาสนาพุทธของไทยให้เป็นสมัยใหม่ แกนกลางอยู่ที่นิกายธรรมยุติที่ตั้งโดย ร.4 โดยเราอาจคิดว่า ร.4 หรือธรรมยุติ ต้องการต่อสู้กับมหานิกายที่มีความเป็นพราหมณ์มาแอบแฝง แต่จริงๆ แล้ว ร.4 ก็ได้อิทธิพลอย่างมาจากศาสนาคริสต์ที่เข้ามาสยามในยุคนั้น และจำเป็นต้องให้พุทธ “มีเหตุมีผล” เพื่อต่อสู้กับคริสต์ด้วย
4) คนไทย/คนอื่น (Thais and Others)
สาระสำคัญ
- เป็นประเด็นเรื่องเชื้อชาติ (race) แต่มีรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ระดับของความเจริญระหว่าง กรุง เมือง บ้านนอก ป่าเขา การแบ่งชั้นในสังคมแต่ไม่เหยียดผิวรุนแรง
สถานะการศึกษาของธงชัย
- อยู่ในหนังสือ คนไทย/คนอื่น
ความเห็นของข้าพเจ้า
- ยังไม่ได้อ่าน ซื้อมาแล้ว
5) สังคมและระเบียบสังคม (Social relations in the Buddhist organic society)
สาระสำคัญ
- ตำราที่กำหนดกรอบ “หน้าที่พลเมือง” แบบไทยๆ เช่น หนังสือธรรมจริยา ไม่ได้สะท้อนความเป็นปัจเจกชน (individuality) แบบตะวันตก เช่น สิทธิความเป็นปัจเจก, ความเป็นส่วนตัว, สิทธิทางการเมือง เพราะสังคมไทยไม่เคยให้ความสำคัญต่อปัจเจกเท่ากับชาติ พลเมืองไทยยังเป็นไพร่ฟ้า ไม่ใช่ citizen
- สังคมไทยเป็นสังคมชีวภาพ (organic society) มีระเบียบสังคม (social order) บ้านเมืองเป็นเหมือนร่างกาย อวัยวะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนั้น จึงมีความเชื่อว่า “ทำหน้าที่ของตัวเองไปให้ดี” อย่าไปขัดแย้งกับใคร
ส่วนระเบียบสังคมไทย (social order) แบบเถรวาทยังถูกกำหนดด้วย “บุญบารมี” ดังนั้นถ้าบุญบารมีไม่ถึง ก็อย่าคิดทะเยอทะยานเป็นใหญ่เป็นโต - ระบอบกฎหมายและหลักนิติธรรม (legal regime and the Rule of Law) ดูแนวคิดรากฐานของกฎหมายไทย ที่อิงจากระบอบกฎหมายพราหมณ์โบราณ เน้นลำดับชั้นและหน้าที่ ไม่ใช่สิทธิหรือความเท่าเทียม แม้ปรับปรุงฟอร์แมตให้เป็นแบบตะวันตก แต่ก็ยังมีเชื้อของเก่าอยู่
สถานะการศึกษาของธงชัย
- เรื่องระบอบกฎหมาย มีในบทความ อภิสิทธิ์ปลอดความผิด ในเล่ม เมื่อสยามพลิกผัน และภายหลัง ธงชัยก็ขยายความเรื่องนี้ในปาฐกถา นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ที่นำไปรวมในเล่ม “รัฐราชาชาติ“
ความเห็นของข้าพเจ้า
- เคยเขียนถึง รัฐราชาชาติ ไปแล้วครั้งหนึ่ง
- หัวข้อนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นอีกประเด็นสำคัญ (หรือจะเรียกว่าแกนกลาง) ในม็อบราษฎร 2563 เลย เพราะคนรุ่นใหม่ไม่พอใจกับ “หน้าที่พลเมือง” หรือ “ระเบียบสังคม” แบบบุญบารมีแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว
6) เพศสภาวะ (Gender in the Thai organic society)
สาระสำคัญ
- เป็นการต่อยอดประเด็น “สังคมชีวภาพ” ในหัวข้อก่อน ที่จัดวางลำดับของเพศให้มีความสำคัญต่างกัน
สถานะการศึกษาของธงชัย
- ธงชัยยังไม่เคยเขียนถึงเรื่องนี้จริงจัง แต่ก็ตั้งคำถามที่น่าสนใจไว้หลายอัน เช่น แนวคิดมีเมียหลายคน (polygamy) ที่สยามดั้งเดิมต้องปรับตัวตามค่านิยมแบบตะวันตก
ความเห็นของข้าพเจ้า
- ประเด็นเรื่องเพศ เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจในม็อบราษฎร 2563 ที่มีผู้หญิงในสัดส่วนที่เยอะมาก
7) สยามในสากลโลก (Siam in the modern world order)
สาระสำคัญ
- สยามเคยเป็นเจ้าจักรวรรดิในภูมิภาค แต่พออิทธิพลตะวันตกแผ่เข้ามา สยามกลายเป็นประเทศชายขอบ กลายเป็นบ้านนอก สยามจึงต้องตามหาความศิวิไลซ์
สถานะการศึกษาของธงชัย
- มีเขียนถึงใน โฉมหน้าราชาชาตินิยม บท “ความรู้เกี่ยวกับตัวตนของไทยภายใต้โลกคับแคบแบบเจ้ากรุงเทพฯ” และ คนไทย/คนอื่น บทเรื่องปัตตานีและพม่า
ความเห็นของข้าพเจ้า
- ยังไม่ได้อ่าน