in Books, Politics

รีวิวหนังสือ: สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว

การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ นับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา สร้างความพิศวงให้กับคนรุ่นก่อนๆ ว่า “เด็กพวกนี้มาจากไหนกัน” และเกิดคำอธิบายรูปแบบต่างๆ มากมาย ตั้งแต่คำอธิบายแบบดิบๆ อย่าง “ม็อบจัดตั้งโดยทักษิณ/อเมริกา” ที่เราคุ้นเคย จนถึงคำอธิบายแบบที่ซับซ้อน เป็นวิชาการมากขึ้น

นักวิชาการที่โดดเด่นที่สุดแบบไม่มีข้อถกเถียงเลยคือ อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ที่ลงไปคลุกคลีกับม็อบ สัมภาษณ์เด็กๆ คนรุ่นใหม่ที่มาม็อบด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง และมีบทสัมภาษณ์ออกมาตามสื่อต่างๆ มากมาย ที่เคยเขียนถึงเอาไว้คือ

อ.กนกรัตน์ยังได้เขียนหนังสือสรุปงานวิจัยของตัวเองโดยตรง กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง generation ของคน หนังสือใช้ชื่อว่า “สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว” (พิมพ์โดยมติชน, เมษายน 2564 ลิงก์สำนักพิมพ์) จึงตามไปซื้อมาอ่าน

หนังสือหนา 344 หน้า แต่เล่มเล็ก ใช้ฟอนต์ค่อนข้างใหญ่ และใช้วิธีการเขียนที่อ่านง่าย จึงใช้เวลาอ่านไม่นาน (ประมาณ 2 วัน) อ่านจบก็สมควรมาจดไว้สักหน่อย

อ.กนกรัตน์ ออกตัวว่าเป็นหนังสือสรุปงานวิจัย ที่ตั้งใจเขียนให้อ่านสนุก ไม่ใช้วิธีการเขียนแบบงานวิจัย (ความเห็นผมคือ ออกจะเป็นหนังสือกึ่งๆ ป๊อปด้วยซ้ำ) มีการใช้กราฟิก เรื่องเล่าจากตัวละครจำลอง ช่วยให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนแต่ละรุ่นได้ง่ายขึ้น มีความพยายามอธิบายศัพท์ของแต่ละรุ่นผ่าน hashtag แบบทวิตเตอร์ (ซึ่งดู อ. ตื่นเต้นกับมันมาก 555)

อ่านจบสรุปได้ว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่เริ่มสนใจปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนแต่ละรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้ตามข่าวการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมมากนัก (for beginner จริงๆ) อ่านแล้วจะเห็นภาพใหญ่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

(ข้อเสียในมุมกลับที่พบคือ เนื้อหาไม่ค่อยลึกมาก เทียบกับ บทสัมภาษณ์ของ อ.กนกรัตน์ บางอันยังลึกกว่าในบางประเด็น แต่ก็ให้อภัยได้เพราะตั้งใจมาเป็นหนังสือ for beginner)

สรุปแบบสั้นๆ คือ มันเป็นหนังสือที่เหมาะซื้อให้คนแก่ๆ (ที่ค่อนข้างเปิดใจสักหน่อย) อ่านว่าเด็กๆ เขาคิดอะไรกัน 😁

สรุปประเด็นสำคัญจากหนังสือ

ใจความหลักของหนังสือเล่มนี้คือการแบ่งคนไทยออกเป็น 3 รุ่น (ตามชื่อหนังสือ) ได้แก่

  1. รุ่นสงครามเย็น (Cold War Generation) คนแก่ตอนนี้ อายุ 60 ปีขึ้นไป (เกิดประมาณ พ.ศ. 2490-2510) ผ่านยุคสงครามเย็นมา เทียบได้เป็นรุ่น Baby Boomer
  2. รุ่น (ใน) ระหว่าง (In-between Generation) คนรุ่นผู้ใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง เทียบรุ่นคือ Gen X + Gen Y ตอนต้นๆ เข้าใจแนวคิดของคนทั้งสองรุ่นที่ขนาบอยู่
  3. รุ่นโบว์ขาว (White Ribbon Generation) คือคนรุ่นใหม่ที่ออกมาประท้วง ใช้โบว์ขาวเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในโรงเรียน เป็น Gen Y ตอนปลาย + Gen Z และหลังจากนั้น

ความขัดแย้งเกิดจากวิธีคิด วิถีปฏิบัติของรุ่นสงครามเย็น และรุ่นโบว์ขาวที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ชนิดว่าแทบคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว

หนังสือแบ่งออกเป็น 6 บท โดย 2 บทแรกเน้นเจาะที่คนรุ่นสงครามเย็น กับคนรุ่นโบว์ขาว ว่ามีวิธีคิดที่แตกต่างกันอย่างไร ในเรื่องเดียวกัน เช่น การปฏิบัติตนในครอบครัว, การศึกษา, อาชีพ-การทำงาน, การเสพสื่อ ฯลฯ

คนรุ่นสงครามเย็น

มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม 5 ข้อคือ

  • ไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลง เพราะโตมาในยุคเศรษฐกิจไทยเติบโตพอดี (จากปัจจัยภายนอกไทย เช่น สหรัฐและญี่ปุ่น) เมื่อทำอะไรก็สำเร็จ เลยยึดถือว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ก่อนนั้นดีแล้ว คิดถึงวันเวลาดีๆ ในอดีต (Good Old Days) นอกจากนี้คนกลุ่มที่เคยเรียกร้องทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นยุค 2516, 2519, 2535, 2548, 2552 พบว่าสุดท้ายต่อสู้ไปก็เท่านั้น ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี เลยหันหลังให้การเมือง เลิกติดตามข่าวการเมือง
  • อุ่นใจใต้ระเบียบ (order) ไม่ว่าเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวา ก็มักเป็น “อำนาจนิยม” ไม่ว่าเป็นซ้ายหรือขวาจะไม่มีปัญหากับการรัฐประหาร หากทำแล้วสังคมเกิดความสงบ ผู้นำที่เติบโตมาในยุคนี้คุ้นเคยกับการมีอภิสิทธิ์ มีคนห้อมล้อม ปรนนิบัติ ทำงานแบบผู้นำสั่ง คนอื่นพยักหน้าตาม
  • มีลำดับชั้น (hierarchical) ไม่ว่าซ้ายหรือขวา ยอมรับในโครงสร้างสังคมแบบมีระดับชั้น ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อม (พุทธ-พราหมณ์-จีนขงจื๊อ) เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ ชายใหญ่กว่าหญิง ไม่ใช่เฉพาะในครอบครัว แต่ไปถึงโครงสร้างองค์กร แม้อดีต พคท. ก็เชื่อมั่นในการรวมศูนย์จากบนลงล่าง จากแกนนำพรรคสู่ระดับปฏิบัติ สมาชิกระดับล่างต้องห้ามเถียง ห้ามตั้งคำถาม
  • ชาตินิยม (nationalist) ไม่ว่าซ้ายหรือขวา จะเชื่อในแนวคิด “ชาตินิยม” (แม้นิยามต่างกัน) ความรักชาติคือความจริงแท้ที่ใครก็ละเมิดไม่ได้ ฝ่ายขวาเป็นชาตินิยมอิงกษัตริย์ ส่วนฝ่ายซ้ายนิยามชาตินิยมต่อต้าน “จักรวรรดินิยมอเมริกา” เป็นเชื้อติดมายังยุคปัจจุบัน วาทกรรม “ขายชาติ” ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชวนยอมรับเงื่อนไข IMF, ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ป, โจมตีนักวิชาการ NGO รับเงินต่างชาติ ล้วนมาจากเชื้อความคิดนี้
  • ประชาธิปไตยไม่น่าไว้ใจ ไม่ว่าซ้ายหรือขวา ต่างไม่ไว้ใจประชาธิปไตย ฝ่ายขวายึดติดกับความเป็นคนดีมากกว่าระบบ ชอบผู้นำที่มีบารมี ราชานักปราชญ์ (philosopher king) ส่วนฝ่ายซ้ายชอบระบอบรวมศูนย์ เลยกลายมาเป็น “ติ่งจีน” หลังเห็นจีนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ทั้งสองกลุ่มไม่ชอบประชาธิปไตยที่เกิดความวุ่นวาย ความขัดแย้งในสังคม กลายเป็นเครื่องมือของนายทุน-เจ้าพ่อท้องถิ่นในการคอร์รับชั่น กลัวการกระจายอำนาจ ไม่ต้องการให้เจ้าพ่อท้องถิ่นมากลายเป็นผู้ว่าจากการเลือกตั้ง เพราะจะเข้ามาโกง

คนรุ่นโบว์ขาว

เกิดมาในโลกที่ไร้ระเบียบ ไม่มีความแน่นอน เศรษฐกิจฝืดเคือง มีความเหลื่อมล้ำ แต่จริงๆ แล้วปัญหาที่คนรุ่นใหม่สนใจก็เป็นเรื่องอนาคตของตัวเอง เช่น ปัญหาปากท้อง อนาคตว่าจะทำอาชีพอะไรจึงจะสามารถเลี้ยงตัวเอง-ครอบครัวได้ แม้จะพยายามมากแค่ไหน แต่โครงสร้างสังคมที่มีปัญหาก็ทำให้ตัวเองไม่มีอนาคต “ขยันอย่างเดียวไม่พอสำหรับการสร้างฝัน”

คนรุ่นโบว์ขาวยังมีปัญหากับระบบโรงเรียนแบบดั้งเดิม (ที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น) มีปัญหาอำนาจนิยม ความรุนแรงในโรงเรียน การคุกคามทางเพศ การบังคับเครื่องแต่งกาย-ทรงผมโดยไม่มีเหตุผล การปฏิบัติตัวของครูที่ปากว่าตาขยิบ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเติบโตมาในครอบครัวที่เปิดกว้างกว่ายุคก่อน พ่อแม่จำนวนหนึ่งเลี้ยงลูกแบบเป็นเพื่อน เปิดให้มีการถกเถียง ชวนลูกคุยเรื่องการเมือง หรือถึงขั้นสนับสนุนให้ไปม็อบด้วยซ้ำ

โลกทรรศน์ของคนรุ่นใหม่เชื่อการถกเถียง ทุกคนควรมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเป็นเด็ก-ผู้ใหญ่ ชาย-หญิง เป็นอิสระจากพรรคการเมือง-แกนนำ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง

ประเด็นสำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือ การปะทะกันระหว่างโลกทรรศน์ 2 แบบจากคน 2 ยุค ซึ่งตารางนี้น่าจะอธิบายได้ดีมาก

บทที่ 3-4 เป็นเรื่องความเคลื่อนไหวของ “ม็อบ” โดยเริ่มจากการอยู่บนออนไลน์ การใช้เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ (บทที่ 3) จนมาสู่การลงถนน (บทที่ 4) มีการจัดโครงสร้างองค์กรแบบหลวมๆ กระจาย ไร้แกนนำ

สองบทนี้เป็นการ recap เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 เป็นหลัก ใครที่ติดตามข่าวม็อบอยู่แล้วคงพอทราบข้อมูลเกือบหมดอยู่แล้ว

บทที่ 5 เป็นการย้อนดู “สงครามระหว่างรุ่น” ของประเทศอื่นๆ ว่ามีกรณีไหนใช้เป็นตัวอย่างได้บ้าง ที่หยิบยกมาเล่ามี 3 เคสคือ

  • ขบวนการนักศึกษาฝรั่งเศสปี 1968 ประท้วงชาร์ล เดอโกล
  • ฮิปปี้อเมริกันต่อต้านสงครามเวียดนามในยุคนิกสัน
  • นักศึกษาเยอรมันปี 1962 ต่อต้านผู้นำที่มีอดีตผูกโยงกับนาซี

บทที่ 6 ซึ่งเป็นบทสุดท้าย เป็นข้อเสนอของ อ.กนกรัตน์ ว่าทางออกของสงครามระหว่างรุ่น คือ คนรุ่นที่อยู่ตรงกลาง (ปัจจุบันอายุ 35-50 ปี) ที่เข้าใจคนทั้งสองรุ่น และเริ่มมีบทบาทในภาคเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศอยู่พอสมควรแล้ว

เหตุเพราะเราคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนรุ่นสงครามเย็นได้ ข้อเสนอคือ คนรุ่นในระหว่าง กับรุ่นโบว์ขาว ต้องผนึกกำลังกัน เพื่อแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้น และปัญหาโครงสร้างในระยะยาว