in Politics

Obsoleted เมื่อประเทศไทยล้าสมัย

เป็นเช่นเดียวกับหลายคน คือนั่งเฝ้ามองและสังเกตการณ์ “ม็อบ 2020” มาได้สักระยะหนึ่ง นอกจากความตื่นเต้น แปลกใจ ประทับใจ ฯลฯ ดังที่คนทั่วไปสามารถสังเกตเห็นได้ไม่ยากนัก อีกประเด็นที่ผมคิดว่ายังไม่ค่อยมีคนพูดถึงนักคือ “ความล้าสมัย”

ซึ่งไม่ได้แปลว่าม็อบล้าสมัย แต่แปลว่าม็อบเป็นตัวเร่งให้ “ความล้าสมัย” หลายเรื่องของสังคมไทยมันยิ่งเห็นเด่นชัด

เมื่อต้นๆ ปีเคยเขียนเอาไว้ว่า COVID-19 เป็นตัวเร่ง ให้โลกหมุนเร็วกว่าเดิม โลกหมุนไปในทางเดิมที่พอมองเห็นแล้ว แต่หมุนขึ้นเร็วกว่าเดิมมาก

ม็อบคนรุ่นใหม่ใน พ.ศ. นี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือเป็นตัวเร่งให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นกว่าเดิม และเป็นตัวเทียบให้เห็นความล้าสมัย เห็นปัญหาของประเทศไทยในด้านต่างๆ ชัดเจนขึ้น

วิธีการจัดม็อบ

เหตุการณ์วันที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่มีม็อบ 2 ขั้วมาเจอกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (โดยอยู่คนละฝั่งถนนกัน) ยิ่งเป็นการเปรียบเทียบชัดระหว่างม็อบรุ่นเก่ากับม็อบรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกระบวนการหรือวิธีการในการจัดม็อบ

ม็อบรุ่นเก่าในช่วง 10-15 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรปี 48 หรือ 51, ม็อบเสื้อแดงปี 52 หรือ 53 รวมถึงม็อบนกหวีดในปี 56-57 มันเกิดจากวิธีคิดพื้นฐานที่คล้ายๆ กัน เช่น

  • การจัดม็อบแบบยืดเยื้อยาวนาน
  • การยึดครองพื้นที่สำคัญในเชิงพาณิชย์ ที่มีคนสัญจรมากๆ
  • การ mobilized คนจากต่างจังหวัด ที่มีระบบหัวคะแนนท้องถิ่นจัดคนมาเข้าร่วม
  • การจัดการที่มีขบวนการชัดเจน และแนบแน่นกับขั้วอำนาจทางการเมือง
  • วิธีคิด วิธีการจัดการแบบฝ่ายซ้ายเดิม (คนรุ่นตุลา)

แต่คัมภีร์ของม็อบยุคปี 2563 น่าจะเป็นสูตรที่ริเริ่มใช้จากการประท้วงฮ่องกงมากกว่า คือเป็น flash mob/fast mob ที่มาเร็วไปเร็ว มีการจัดการขบวนที่หลวมกระจายกว่ามาก และเป็นการจัดม็อบที่กระจายในเชิงพื้นที่ด้วย คือไม่ได้นำคนเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ประท้วงของเมืองหลวง

นอกจากการจัดม็อบลงพื้นที่เชิงกายภาพแล้ว การจัดการขบวนเบื้องหลังของแต่ละกลุ่ม ยังได้อิทธิพลอย่างสูงจากวัฒนธรรม fandom ของวงการเพลงเกาหลี-เกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่น ที่เด็กรุ่นนี้ทำกันได้เป็นปกติมาตรฐานอยู่แล้ว และถึงขั้นทำให้สื่อรุ่นเก่าบางคนประหลาดใจ ว่าทำไมเวทีแสงสีเสียงอลังการราวกับ “จ้างมา”

ข้อดีข้อเสียของม็อบแบบเก่าและแบบใหม่ คงเป็นเรื่องที่ว่ากันในระยะยาว แต่ที่แน่ๆ คือ คนรุ่นใหม่ไทยเห็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ฮ่องกง และนำมาใช้เป็นต้นแบบ ภาพสะท้อนที่ชัดเจนคือ infographic ที่ทำแชร์ๆ กัน ก็นำกรอบคิดมาจากฮ่องกงเป็นหลัก กรณีของ The Matter เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า “ไปม็อบแบบชาวฮ่องกง”)

(หมายเหตุ: ประท้วงฮ่องกงอาจไม่ใช่ที่แรกที่ใช้โมเดลนี้ ผมคิดว่าการประท้วง Bersih ของมาเลเซียที่จัดขึ้นหลายครั้ง ก็มีความคล้ายคลึงกันบ้าง เพียงแต่ฮ่องกงคือร่างสมบูรณ์ของม็อบพันธุ์ใหม่นี้)

สื่อมวลชน

ในฐานะที่อยู่ในวงการสื่อด้วยเช่นกัน สื่อมวลชนไทยแบบดั้งเดิมเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ทั้งในทางธุรกิจและคุณภาพ (ในขณะที่สื่อใหม่เองก็ไม่สามารถ “ผงาด” ขึ้นมาแทนที่ได้อย่างที่ควรจะเป็นเช่นกัน) และการประท้วงปี 2020 ยิ่งแสดงให้เห็นเด่นชัด

เราพอรู้กันอยู่บ้างว่าสื่อแบบดั้งเดิม เช่น หนังสือพิมพ์หรือทีวี ถูกกดดันไม่ให้เผยแพร่ข่าวม็อบ 2020 หรืออย่างเก่งก็รายงานว่ามีม็อบ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องเนื้อหา-การสนทนาบนเวที ข้อเรียกร้องของม็อบสักเท่าไรนัก (รวมถึงการ self-censored ด้วย แต่คงไม่ลงรายละเอียดในที่นี้ และแน่นอนว่าย่อมมีข้อยกเว้นบ้างกับบางช่องบางรายการ เช่น รายการข่าวสามมิติก็ได้ยินมาว่ารายงานข่าวได้ละเอียดดี)

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเป้าหมายของม็อบ 2020 เองก็เป็นกลุ่มที่ไม่สนใจสื่อแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ เราจึงเห็นกระบวนการ bypass ช่องทางการนำเสนอเรื่องราวของม็อบ จากสื่อแบบดั้งเดิม ไปเป็นสื่อใหม่ที่สามารถ self-organized เองได้เลย ไม่ว่าจะเป็น Live โดยตรงของเพจ (ไม่ต้องพึ่งสำนักข่าว) หรือแคมเปญทางโซเชียลช่องทางต่างๆ อย่าง Twitter/Instagram

ผลคือเราเห็นโลกคู่ขนานกัน ระหว่างโลกของชาวม็อบที่นำเสนอเรื่องราวพวกนี้อย่างคึกคัก แท็กเกี่ยวกับม็อบติดเทรนด์อันดับหนึ่งทุกวัน กับอีกโลกที่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย (ยังไม่รวมประเด็นเรื่อง bubble ของข้อมูลข่าวสารของแต่ละโลก ที่ยิ่งทำให้สองโลกนี้ถ่างออกไปอีก)

ประเด็นเรื่องช่องว่างทางข้อมูลข่าวสาร (information gap) ระหว่างคนสองกลุ่มย่อมเป็นปัญหาทางสังคมตามมาอีกมาก แต่ถ้าเอาเฉพาะแค่เรื่องสื่อ ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่า สื่อมวลชนแบบดั้งเดิมล้าสมัย และแทบไม่มีตัวตนในสายตาคนรุ่นใหม่อีกแล้ว

คน

สิ่งที่สำคัญที่สุดของม็อบ 2020 คือการสะท้อนให้เห็นว่า “คนก็ล้าสมัย” มันอาจฟังดูขำ แต่ก็ขำไม่ออกสักเท่าไร

ประเด็นเรื่องช่องว่างทางความคิดระหว่างคน 2 generation ยิ่งถ่างออกไปเรื่อยๆ มาถึงตอนนี้เราน่าจะพอสรุปได้แล้วว่า ในบรรดา “คนรุ่นใหม่” ค่อนข้างมีฉันทามติทางการเมืองแล้วว่าคิดอะไร มองอะไร อยากได้อะไร มีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง

ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า มันไปกันไม่ได้เลยกับวิธีการมองโลกของคนรุ่นเก่า รุ่นพ่อแม่หรือครูที่โรงเรียน ที่เติบโตมากับ “คุณค่า” บางอย่างที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเราเห็นการปะทะกันอยู่เรื่อยๆ ระว่างคน 2 generation ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

ถ้าไม่เอาประเด็นเรื่องการเมืองระดับชาติ ข่าวที่ผมประทับใจมากในรอบ 1-2 ปีมานี้คือข่าว อาม่าตบเด็ก ที่แสดงให้เห็นชัดถึงการปะทะกัน (ในเชิงกายภาพซะด้วย) ของคนข้าม generation อย่างเต็มรูปแบบ

ม็อบ 2020 นำพาการปะทะกันไปไกลกว่านั้น เมื่อคนรุ่นใหม่ค่อนข้างเห็นตรงกัน สมรภูมิต่อไปจึงไม่ใช่ถนน แต่เป็นบ้านและโรงเรียน เราจึงเห็นความขัดแย้งในครอบครัว ระหว่างลูกกับพ่อแม่ ญาติ หรือ นักเรียนนักศึกษากับครูอาจารย์ กันอย่างกว้างขวางรุนแรง

https://twitter.com/procyonmon/status/1293932748126613504?s=19

เราจะเห็นเรื่องราวลักษณะนี้ถูกนำมาเล่าอยู่เรื่อยๆ ในโซเชียล ซึ่งบอกตามตรงว่า ผมก็นึกทางแก้ไม่ออกเหมือนกันว่าต้องทำอย่างไร เพราะการปรับทัศนคติของคนรุ่นก่อนที่อยู่แบบนี้มายาวนานหลายสิบปี มันไม่ง่ายเลย

สุดท้ายทางแก้ที่ง่ายที่สุดอาจกลายเป็น “หนี” และเราอาจเห็นปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ย้ายออกไปอยู่คนเดียวมากขึ้น แบบเดียวกับสังคมตะวันตก (หรือญี่ปุ่น) ที่อายุถึงเกณฑ์ (เช่น 18) แล้วก็ออกไปมีชีวิตของตัวเองนอกบ้าน อยู่เอง ทำงานหาเงินเอง ฯลฯ กันมากขึ้น

ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังมองเด็กว่าเป็นเด็กอยู่ อย่ามายุ่งอะไรกับการเมืองเลย เด็กๆ กลับไปไกลมากแล้วทั้งความคิดอ่าน มุมมองต่อโลก คลิปอันนี้ถือว่าสะท้อนมุมมองของเด็ก (จากสายตาของผู้ใหญ่ที่เข้าใจ) ได้ดีมากๆ

สัญญาณอีกอย่างที่น่าจับตาและพึงระวังคือ ในโลกยุค Post-pandemic ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หาความแน่นอนอะไรไม่ได้อีกต่อไป คนรุ่นเก่าจะเริ่ม “ล้าสมัยทั้ง generation” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะการทำงาน หรือว่า mindset ก็ตาม

ในฐานะคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ที่คิดว่าตามโลกทันในระดับหนึ่งแล้ว ผมยังรู้สึกว่าตัวเองเริ่มล้าสมัย เริ่มไม่เข้าใจวิธีคิดของวัยรุ่นบางอย่างแล้ว (เช่น ทำไมเราต้องโพสต์ Stories กันด้วยนะ ทำไมเราต้องไปซื้อรูปดาราติดที่สถานีรถไฟฟ้ากันนะ) แล้วคนรุ่นที่เก่ากว่านั้น เขาจะอยู่กันอย่างไรในอนาคตเบื้องหน้า (คำตอบหนึ่งก็คือ อยู่กันแต่ใน bubble / safe zone ของตัวเอง กีดขวางการเคลื่อนไหวของโลก)

ประเด็นเรื่องความล้าสมัยนี้ คุณอุ้ย ธีรภัทร เขียนไว้ค่อนข้างดีมากแล้ว เชิญชวนให้อ่านกัน

รัฐ

เรื่องสุดท้ายที่คิดว่าสมควรเขียนถึงคือ รัฐเองก็ล้าสมัย (รัฐในที่นี้คือ state ไม่ใช่ government)

รัฐไทยปัจจุบันนั้นล้าสมัยไปนานมากแล้ว การปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจังครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นในยุคทักษิณปี 2545 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว ที่เหลือนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบจุดเล็กจุดน้อย ที่เปรียบเสมือนหยดน้ำกลางมหาสมุทรแบบเก่า

ถ้าไปถามหน่วยงานรัฐไทย ก็คงได้คำตอบว่าเราพยายาม (อย่างหนัก) ปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา แต่สุดท้ายถ้าดูจากผลลัพธ์แล้ว จะเห็นว่ารัฐไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานสุดๆ ของประชาชนได้ นั่นคือ

  • โอกาสในชีวิต (เศรษฐกิจ-อาชีพที่ทำแล้วลืมตาอ้าปากได้)
  • คุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ (ถนน การคมนาคม อากาศ น้ำ ฯลฯ)
  • ความยุติธรรมในสังคม (ตัวอย่างกรณีกระทิงแดง, ผู้พิพากษายิงตัวตาย)

จริงอยู่ว่า รัฐทุกประเทศมีปัญหาเหล่านี้ ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การกระจุกตัวของทุน ความเหลื่อมล้ำระหว่าง generation คนตกงานเพราะเครื่องจักรอัตโนมัติ ฯลฯ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก

แต่รัฐไทยก็ยังมีปัญหาด้านอื่นๆ ที่สั่งสมมานาน เช่น คุณภาพชีวิต (ประเทศอื่นมีปัญหาเศรษฐกิจแต่ฟุตบาทก็เดินสบายนะพวกเธอ) หรือความยุติธรรมในสังคมที่พบเจอได้ทั่วไป

โมเดลของรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบัน เป็นโมเดลรัฐสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีแกนหลักคล้ายๆ กัน (เช่น ใช้ประชาธิปไตยแบบแบ่งแยกอำนาจ, มีระบบพรรคการเมือง, เป็น secular state) ที่ตัวมันเองก็เริ่มล้าสมัยแล้ว แต่รัฐไทยเองกลับยังไม่ก้าวหน้าไปถึงระดับเดียวกับรัฐอื่นๆ ด้วยซ้ำ เรายังเห็นกองทัพแบบสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบยุติธรรมที่คร่ำครึ หรือระบบรัฐราชการรวมศูนย์ กันอยู่เลย

พูดง่ายๆ ว่าโมเดลรัฐทั่วโลกเริ่มล้าสมัยเมื่อเจอกับโลกยุค post-pandemic แต่โมเดลของรัฐไทยล้าสมัยไปสองชั้นแล้ว

การปฏิรูปรัฐไทยจึงต้องลงทุนลงแรงกับมันเยอะยิ่งกว่า ตอนนี้ในแวดวงรัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ก็เริ่มมีข้อถกเถียงเรื่องรัฐสมัยใหม่กันแล้ว เริ่มมีไอเดียใหม่ๆ อย่างการการันตีรายได้ขั้นต่ำ (universal basic income) โผล่ขึ้นมา

โจทย์ข้อนี้ยากและคงต้องใช้เวลาถกเถียงกันอีกมาก แต่ผมเคยนั่งถามตัวเองว่า รัฐไทยสมัยใหม่ควรตอบโจทย์อะไรบ้างที่สำคัญจริงๆ ชนิดที่ไม่มีไม่ได้เลย ได้คำตอบออกมา 3 ข้อ

  • เข้มแข็ง: ทั้งในเชิงการปกป้องประชาชนจากภัยคุกใหม่ (โรคระบาด-ภัยธรรมชาติ) และตอบโจทย์ได้ในเชิงเศรษฐกิจ (ปากท้อง-อาชีพ-โอกาส)
  • เท่าเทียม: ทั้งในเชิงการเมือง-สังคม (ชนชั้นวรรณะ, กระจายอำนาจท้องถิ่น) และทางเศรษฐกิจ (ความเหลื่อมล้ำ)
  • ยุติธรรม: มีความยุติธรรมในสังคมโดยทั่วไป คนทำผิดต้องได้รับผิด ระบบยุติธรรมต้องไว้วางใจได้

ส่วนจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องคิดกันต่อไป

หมายเหตุ: ขอบคุณภาพจากมิตรสหายท่านหนึ่ง