in Politics

รัฐศักดินา

ภาพจากเกม Crusader Kings III (Twitter)

“รัฐไทยยังอยู่ในยุคฟิวดัล ไม่ได้ออกจากยุคมืดเลย” เป็นประโยคที่ผมใช้เปรียบเปรยแบบขำๆ ในหมู่เพื่อนฝูงแบบไม่ได้คิดอะไรมากนัก

แต่เมื่อคนระดับธงชัย วินิจจะกูล ออกมาพูดในประเด็นเดียวกัน (อย่างเป็นระบบกว่ามาก) ก็ควรค่าแก่การมาบันทึกไว้

ประเด็นเรื่องรัฐศักดินา ในที่นี้มีความหมายรวมๆ คือ feudal state ทั่วไป (ซึ่งส่วนใหญ่จะหมายถึงยุโรปยุคกลาง) ธงชัยให้คำนิยามไว้ดังนี้

ธงชัยอธิบายว่ารัฐศักดินาไม่ว่าที่ไหนในโลกหากเปรียบอย่างง่ายๆ ก็คือระบบมาเฟียที่พัฒนาถึงที่สุด หมายความว่าเป็นระบบอำนาจที่ผูกติดกับตัวบุคคลเฉกเช่นเดียวกับรัฐศักดินา แต่สิ่งหลังพัฒนาให้อำนาจดิบแปรเปลี่ยนเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เป็นอุดมการณ์ที่ทำให้เชื่อว่าอำนาจการคุ้มครองแบบดิบๆ อย่างระบบมาเฟียเป็นอำนาจที่ชอบธรรม เถลิง เฉลิมฉลอง ยกย่อง เชิดชู สรรเสริญ จนหมดสิ้นความรู้สึกว่าเป็นอำนาจดิบของคนหนึ่งคน

“ระบบมาเฟียถือว่าตัวเองให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนในท้องถิ่นหนึ่งๆ เขาเรียกว่าให้ความคุ้มครอง เวลาเรียกภาษีส่วย เขาเรียกว่าเก็บค่าคุ้มครอง รัฐศักดินาถือว่าตัวเองปกป้องคุ้มครอง แผ่บารมีคุ้มหัวราษฎรให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ระเบียบสังคม ระเบียบศีลธรรมอันดีงาม เขาใช้คำว่าคุ้มครองเหมือนกัน พูดง่ายๆ รัฐศักดินาไม่สนใจการทำนุบำรุงความเจริญให้ก้าวหน้า คือไม่ใช่ไม่สนใจเลย อาจจะเป็นเรื่องรอง รองมากรองน้อยแล้วแต่รัชสมัย แต่หลักๆ priority สำคัญที่สุดก็คือคุ้มครองให้สังคมสงบ คุ้มครองในความเห็นของเจ้าศักดินา รัฐศักดินาทำหน้าที่ไม่ต่างกับมาเฟีย ต่างกันแต่เพียงว่าเขาไม่ได้ใช้อำนาจดิบ แต่เขาใช้บารมี ใช้มหากรุณาธิคุณ”

หากเราเทียบระบบมาเฟียทั่วไป ที่มอบ “ความสงบเรียบร้อย” (order) ให้กับคนในอาณัติของตัวเอง การันตีว่าถ้าหากมีใคร ไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือคนในก็ตาม มาสร้างความรุนแรง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มาเฟียผู้ปกครองจะ “จัดการให้” โดยมีค่าตอบแทนคือ “ส่วย” “ค่าคุ้มครอง” หรือ “ภาษี” แล้วแต่จะเรียก

ส่วนการใช้บารมีเพื่อปกครอง ผมมองว่าเป็นต้นทุนการจัดการที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการใช้กำลัง หากเราใช้กรอบคิด “เรื่องเล่า” ตามแบบของ Yuval Harrari คนเขียน Sapiens ก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือ ประดิษฐ์เรื่องเล่า เรื่องสมมติขึ้นมา เพื่อให้คนในสังคมคล้อยตามกัน โดยไม่ต้องใช้กำลังบังคับ

“รัฐปัจจุบันทำตัวเป็นศักดินาใหม่ จะเรียกว่าเจ้าขุนมูลนายก็ได้ คืออ้างบุญคุณสารพัด แต่บุญคุณสำคัญที่สุดคือรักษาความสงบ เวลามีปัญหา การทำนุบำรุงความเจริญ จัดการเรื่องโควิดเฮงซวยอย่างไรก็เป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือการรักษาความสงบ รัฐศักดินาเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้มีบุญบารมี ปกครองโดยบุญบารมี จะโหดร้ายสักแค่ไหน จะจารีตนครบาลแบบไหนก็เพื่อจรรโลงการปกครองของผู้มีบุญบารมี

“รัฐเจ้าขุนมูลนายปัจจุบันเชื่อว่าตนเองเป็นคนดีที่สูงกว่าคนอื่น ต้องปกครองด้วยคนดี จำได้ไหมครับ ประโยคที่กล่าวทำนองว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นการปกครองของคนดี อย่าให้คนไม่ดีมามีอำนาจได้ อันนี้ศักดินาเต็มตัวเลย ไม่ว่าคนดีจะใช้วิธีการที่ป่าเถื่อนอย่างไร รวมทั้งเหนือกฎหมายก็ต้องทำเพื่อให้การปกครองอยู่ในมือของคนดี เปลี่ยนคำว่าคนดีเป็นผู้มีบุญบารมีแค่นั้น เหมือนรัฐศักดินาหมดเลย

อีกประเด็นคือ ความสัมพันธ์แบบ hierarchy ต่อกันไปเป็นชั้นๆ หากไปดูตามหนังมาเฟีย (อย่าง The Godfather) หรือโครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่ในปัจจุบัน (เช่น ระบบ downline ของวงการขายตรง) ก็เป็นการจัดโครงสร้างองค์กรเป็น unit ย่อยที่บริหารตัวเองได้ และส่งต่อคุณค่า-ความสัมพันธ์กันเป็นลำดับชั้นเช่นกัน

ในระบบขายตรง การความสัมพันธ์ที่ส่งต่อกันอาจเป็นค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่พอเป็นการปกครองที่เน้นเรื่อง order ของโครงสร้างสังคมเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ส่งต่อกันเป็นชั้นๆ จึงเป็นความภักดี ตามที่ธงชัยเขียนไว้

หมายเหตุ: ธงชัยเคยอธิบายเรื่องคุณลักษณะ “ลำดับชั้น” ของสังคมไทยที่มีความเป็น organic society แบบพุทธด้วย เคยเขียนบล็อกถึงเรื่องนี้ไว้

“ทั้งศักดินาเก่าและใหม่เป็นรัฐที่ขึ้นกับเครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างบุคคลเป็นชั้นๆ จากล่างขึ้นไปถึงเจ้าของศูนย์กลาง ค่าของคน value คุณค่าของความสัมพันธ์อันนี้ที่สำคัญที่สุด ไม่ได้อยู่ตรงที่การประกอบกรรมความดี ถึงแม้เขาจะพยายามทำสิ่งที่ดี รวมทั้งจิตอาสาทั้งหลาย คุณค่าสำคัญที่สุดอยู่ที่ความจงรักภักดี เพราะฉะนั้นจิตอาสาในแบบบวกหรือจิตอาสาในแบบลบ เช่นกำจัดยาเสพติดด้วยวิธีการป่าเถื่อนก็อาจจะยอมได้ ถ้าคุณจงรักภักดีจริง ดูกันไปก็แล้วกันนะว่าจะพ้นผิดลอยนวลหรือว่าจะลงโทษอย่างเบาๆ ก็ว่ากันไป

“ความจงรักภักดีหมายถึงอะไร ความจงรักภักดีหมายถึงการทำตามคำสั่งความต้องการของนายเหนือหัวเป็นชั้นๆ ขึ้นไป รัฐราชการที่เป็นเสมือนสมบูรณาญาสิทธิ์ในปัจจุบันจึงเป็นวัฒนธรรมของระบบราชการ ผมเห็นว่าวัฒนธรรมระบบราชการปัจจุบันเปลี่ยนและต่างไปจากวัฒนธรรมระบบราชการในสมัยที่ผ่านมาอย่างมาก ผมไม่กล้าบอกว่านี่ไม่ใช่ระบบราชการ ผมว่านี่ยังเป็นรัฐราชการ เป็นระบบราชการอยู่ แต่สิ่งที่ต่างก็คือปัจจุบันเต็มไปด้วยการรอคำสั่งนาย จากล่างถึงนายก นายไม่สั่งไม่กล้าทำ นายสั่งอะไรก็ถูกหมด เป็นรัฐราชการที่มีลักษณะผูกติดกับตัวบุคคล very personal อย่างยิ่ง ยิ่งกว่ารัฐราชการยุคก่อนๆ ซึ่งระบบราชการและ technocrat มีสิทธิ์ มีเสียง มีอำนาจ มีอิทธิพล ผลักดันการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ ปัจจุบันไม่ว่าใครจะเสนอ เทคโนแครตที่ไหน ลงท้ายอย่างเดียวก็คือนายกฯ ว่าอย่างไร

ส่วนจุดสูงสุดของการปกครองอยู่ที่ “พลังศักดิ์สิทธิ์”

ตัวอย่างที่ดีของ “พลังศักดิ์สิทธิ์” ที่ใช้ปกครองคนในรัฐศักดินาคือ แนวคิดเรื่อง “อาณัติสวรรค์” ของจีน (เทียนเซี่ย – Tianxia – ภาษาอังกฤษมักแปลว่า All Under Heaven ถ้าแปลไทยคือ “ใต้หล้า”) ที่มองว่าฮ่องเต้ (หรือตระกูลฮ่องเต้) ได้รับอำนาจจากฟ้า (ที่ยิ่งใหญ่กว่าคนบนโลก) ให้มาปกครอง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ ขุนนางหรือขุนศึกลุกขึ้นมาปฏิวัติ โค่นราชวงศ์ก่อนหน้าลง ก็สามารถอธิบายได้ว่า “อาณัติสวรรค์เปลี่ยนแปลงแล้ว” ไม่สนับสนุนราชวงศ์ก่อนอีกต่อไป เรื่องนี้ในเพจ Starless Night ของคุณ Harit อธิบายไว้ละเอียด

“รัฐศักดินาไม่ accountable ต่อประชาชน หมายถึงเขาไม่ต้องรายงาน ไม่ต้องหวั่นเกรงการรับผิดรับชอบกับประชาชน การกระทำต่างๆ ไม่ต้องแคร์ประชาชน เพราะความชอบธรรมไม่ได้มาจากประชาชน ความชอบธรรมของรัฐศักดินาแต่โบราณมาจากพลังศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย การดูแลทุกข์สุขของราษฎรเป็นเพียงแค่พฤติกรรม คุณดูแลราษฎรได้ดีหรือไม่ดีอาจจะทำให้พลังศักดิ์สิทธิ์ไม่พอใจแล้วลงโทษคุณ ลงโทษกษัตริย์ศักดินา แต่ว่าสิ่งที่กษัตริย์เขาแคร์คือพลังศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเห็นว่าเขายังควรอยู่ในอำนาจหรือไม่ อันนี้รัฐศักดินาแต่โบราณเป็นอย่างนั้น