in Politics

#เริ่มต้นที่ตัวเอง จุดกำเนิดและคำอธิบาย

ประเด็นดีเบทสำคัญประจำโลกโซเชียลไทยเดือนเมษายน 2564 ที่ประสบวิกฤต covid ระลอกสาม เป็นเรื่องวาทกรรมทางการเมืองในกลุ่มที่เรียกว่า #เริ่มต้นที่ตัวเอง หรือ #เริ่มที่ตัวเรา

ตัวอย่างวาทกรรมลักษณะนี้มักเกิดจากขั้วการเมืองฝ่ายสนับสนุนอนุรักษ์นิยม (หรือเรียกเป็นภาษาบ้านๆ ว่าสลิ่ม) เรามักเห็นคำพูด คอมเมนต์ ในเชิงว่า “อย่าด่า หรือ อย่าเรียกร้องบางอย่าง [จากรัฐบาลที่ตัวเองสนับสนุน] เลย ควรเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน”

ในขณะที่ฝ่ายขั้วตรงข้าม (ไม่แน่ใจว่าควรนิยามศัพท์ว่าอย่างไรจึงจะถูกต้องในเชิงวิชาการ จะใช้คำว่า เสรีนิยม หรือ เสรีประชาธิปไตยดีไหม) จะมองกลับกันว่า รัฐบาลต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และหลายสิ่งที่เป็น “สิทธิที่พึงมี” ต้องเรียกร้องได้

ถ้าเราพักประเด็นร้อนตรงหน้าเรื่องวัคซีนหรือโรคระบาดเอาไว้ก่อน คำถามที่น่าสนใจในระยะยาวคือ แนวคิดแบบ “เริ่มต้นที่ตัวเอง” มันเกิดมาได้อย่างไร อะไรคือฐานคิดเบื้องหลังแนวคิดแบบนี้

ส่วนตัวแล้วก็สงสัยเรื่องนี้มานาน มาพอเริ่มเข้าใจเรื่องนี้ หลังอ่านหนังสือซีรีส์ของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ที่ชำแหละ-วิเคราะห์ “สยามยุคใหม่” (หลังเหตุการณ์ รศ. 112) ไว้ในหนังสือ เมื่อสยามพลิกผัน ตามที่เคยเขียนไว้แล้ว

ใน 7 ข้อของ อ.ธงชัย ข้อที่ตรงที่สุดคือมุมมองเรื่องโครงสร้างสังคมไทย ที่มีความเป็น “สังคมชีวภาพ” (organic society) ที่เปรียบเทียบง่ายๆ คือแต่ละคนเป็นอวัยวะของร่างกาย มีหน้าที่เฉพาะของตัวเอง และจง “ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี” อย่าไปก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น

เพื่อความสะดวกก็ขอยกหน้าที่เขียนถึงเรื่องนี้มาแบบเต็มๆ ดีกว่า (จากในหนังสือ เมื่อสยามพลิกผัน หน้า 21-23)

ในหนังสือเล่มอื่นของธงชัย ก็ยังมีพูดถึงประเด็นนี้อีกประปราย เช่น ในหนังสืออีกเล่มที่พูดเรื่องชาติพันธุ์คือ คนไทย/คนอื่น พูดเรื่องลำดับชั้นในสังคม ที่เป็นชาตินิยมสมัยใหม่

กล่าวโดยสรุปคือ ประเด็นเรื่อง organic society ที่อิงจากวัฒนธรรมแบบพุทธ (ผมไม่แน่ใจนักว่า แนวคิดเชิงพุทธที่สอนเรื่อง organic มีเรื่องอะไรบ้าง) น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อวาทกรรม “เริ่มต้นที่ตัวเอง” (อย่างน้อยก็ในเชิงการเมืองสมัยใหม่ พ.ศ. 2564)

คู่ตรงข้ามของวิธีคิดแบบนี้คือ แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพสมัยใหม่ ซึ่งเกิดจากการต่อสู้ทางการเมือง (อย่างหนักหน่วง) ในโลกตะวันตกยุคศตวรรษที่ 17-18 เป็นต้นมา แต่สังคมไทยเองไม่เคยต้องต่อสู้ทางความคิดในลักษณะนี้มาก่อน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคม organic society แบบเดิมจะมองว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง (ที่ควรมี) เป็นแนวคิดแบบโลกตะวันตก ที่แปลกแยกในสังคมไทย

(หมายเหตุ: ธงชัยมีเขียนเรื่องการต่อต้าน-ดูดกลืนคุณค่านิยมแบบตะวันตกของสังคมไทยเอาไว้  ตัวอย่างโดยผมเองคือ ปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่ใช้ iPhone/Facebook ดูหนัง Marvel ได้เฉยเลย แต่คงไม่ใช่ประเด็นถกเถียงในบทความนี้)

ส่วนประเด็นอื่นนอกจาก organic society ผมคิดว่ามีเรื่องของชนชั้นทางเศรษฐกิจปนอยู่ด้วย เรื่องนี้คงไม่มีผลสำรวจเชิงสถิติชัดเจนนัก แต่เราก็พอรู้เลาๆ อยู่แล้วว่า ฝ่ายอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม (หรือเรียกสั้นๆ ว่าสลิ่ม) มักมีฐานะเศรษฐกิจที่ดี มีรายได้หรือชีวิตที่ไม่ลำบากนัก ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงการจัดสรรทรัพยากรโดยรัฐ (driven only by private resources)

และเมื่อมีทรัพยากรในชีวิตมากพอ (เวลา+เงิน) ไม่มีภาระในชีวิตมากนัก การ “เริ่มต้นที่ตัวเอง” จึงเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ และคนกลุ่มนี้จะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงหรือแปลกแยกอะไรนักในการลุกขึ้นมาทำอะไรเอง (as a hobby in my spare time) โดยปฏิเสธหรือมองข้าม ข้อจำกัดของกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรไป จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม