อ่านหนังสือ Common Sense: สามัญสำนึก ของ Thomas Paine ที่สำนักพิมพ์ Bookscape นำมาแปล มีหลายเรื่องอยากมาบันทึกไว้
อย่างแรกเลยคือ หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเมื่อเกือบ 250 ปีที่แล้ว (เขียนในปี 1775) สมัยที่อเมริกายังไม่มีประเทศด้วยซ้ำ
ผู้เขียนคือ Thomas Paine ปัญญาชนชาวอังกฤษ เขียนขึ้นในรูปแบบจุลสาร (pamphlet) เพื่อปลุกเร้าให้ชาว 13 อาณานิคมอเมริกา ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ (ซึ่งก็สำเร็จในปีถัดมา คำประกาศเอกราช Declaration of Independence ลงนามในวันที่ 7 กรกฎาคม 1776 ซึ่งกลายเป็นวันชาติอเมริกา และอังกฤษเซ็นสัญญา Treaty of Paris ในปี 1783 ยอมรับเอกราชของอเมริกาอย่างเป็นทางการ)
อ่านแล้วพบว่าเนื้อหาใน Common Sense เป็นการ “ปลุกเร้า” ให้ชาวอาณานิคม “กล้า” ที่จะปลดแอกตัวเองจากอังกฤษ ซึ่งเป็นปมปัญหาทางจิตใจที่ยังมีเยื่อใยกับระบบเก่า สำนวนของ Paine จึงเหมือนการอ่านคำปราศรัย ที่เป็นวิวาทะ มีการหักล้างความเชื่อหรือวาทกรรมต่างๆ ของฝั่งอังกฤษ และชาวอาณานิคมผู้นิยมอังกฤษ หรือผู้ที่อยากแค่ปรองดองกับอังกฤษ ให้ลุกขึ้นมาเป็นอิสรภาพอย่างเต็มตัวจริงๆ (Paine ตอกย้ำว่าการยอมอยู่กับอังกฤษต่อไป เป็นทางออกในระยะสั้น ที่จะเกิดปัญหาใหม่ในระยะยาวอยู่ดี สู้ลุกขึ้นมาแยกตัวในตอนนั้นให้เด็ดขาดไปเลยดีกว่า)
Common Sense จึงเปรียบเสมือนการนำคำปราศรัยของ Paine มาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม (ในตอนแรกไม่ลงชื่อคนเขียนด้วยซ้ำ) และเป็นเทคโนโลยีด้านการสื่อสารในสมัยนั้น ที่กระจายเนื้อหาในคำปราศรัย (ที่คนฟังอย่างมากก็หลักร้อยหลักพัน) ให้ไปไกลกว่านั้นมาก
มีการประเมินกันว่ายอดพิมพ์ Common Sense ในปีแรกอาจสูงถึง 5 แสนก็อปปี้ (รวมที่แปลเป็นภาษาอื่นๆ ขายในยุโรปด้วย) ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับประชากรในสมัยนั้น ที่ชาวอาณานิคมมีเพียง 2.5 ล้านคน (นักประวัติศาสตร์บางคนก็ประเมินว่ายอดพิมพ์จริงๆ อาจแค่ประมาณ 75,000 ชุด ซึ่งก็เยอะอยู่ดี) ถ้ารวมยอดพิมพ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็ถือเป็นสิ่งพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในประวัติศาตร์อเมริกา
ตัวหนังสือ Common Sense ไม่ยาวนัก (เพราะเป็นจุลสาร) แบ่งออกเป็น 4 บท
- Of the Origin and Design of Government in General, With Concise Remarks on the English Constitution
ว่าด้วยเรื่องบทบาทของ “รัฐบาล” (government) ในฐานะผู้จำกัดความชั่วร้ายของสังคมมนุษย์ (society) และวิจารณ์ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญอังกฤษ ที่เป็นลูกผสมของระบอบกษัตริย์ (สภาขุนนาง) และระบอบสาธารณรัฐ (สภาผู้แทนราษฏร) ซึ่งขัดแย้งกัน - Of Monarchy and Hereditary Succession
เป็นการวิจารณ์ระบอบกษัตริย์ของอังกฤษ สิ่งที่น่าสนใจคือ Paine วิจารณ์ระบอบกษัตริย์ในภาพรวมว่าเป็น “บาป” โดยอ้างอิงแนวคิดของพระเจ้าในพระคัมภีร์เก่า (ว่าพระเจ้าไม่ต้องการให้มีระบอบกษัตริย์ แต่ชาวยิวนั้นหลงผิดกันในภายหลัง) บวกกับการวิจารณ์ระบอบสืบทอดอำนาจโดยสายเลือด ว่าไม่การันตีจะได้คนดีมีความสามารถเสมอไป เพราะ - Thoughts on the Present State of American Affairs
เป็นข้อเสนอของ Paine ว่าหน้าตาของรัฐบาลอเมริกาควรเป็นเช่นไร เช่น ตัวแทนของสภาคองเกรสควรมีรัฐละกี่คน เขายังเสนอของสภาชั่วคราวที่เรียกว่า Continental Conference ขึ้นมาร่างกฎบัตร (charter) ลักษณะเดียวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย (มีคนทำแผนภาพโครงสร้างไอเดียของ Paine ให้ดูด้วย) - On the Present Ability of America, With Some Miscellaneous Reflections
บทนี้เพิ่มเข้ามาในฉบับพิมพ์ครั้งหลังๆ พูดถึงศักยภาพการสร้างกองเรือของอเมริกาเพื่อมาต่อกรกับกองเรืออังกฤษ โดยมีการคำนวณต้นทุนให้ดูแบบคร่าวๆ และให้เหตุผลว่าอเมริกาสร้างเฉพาะกองเรือคุ้มครองชายฝั่งของตัวเอง ในขณะที่อังกฤษต้องมีกองเรือมาดูแลอาณานิคมทั่วโลก ซึ่งมีต้นทุนเยอะกว่ามาก
ในฉบับแปลภาษาไทยของ Bookscape ได้เพิ่ม บทนำ, บทตาม, บันทึกการออกแบบปก เข้ามาอีก 3 บท ซึ่งมีให้อ่านแบบออนไลน์บนเว็บของ Bookscape
- บทนำ “สามัญสำนึก” – เมื่อสามัญชนปฏิวัติ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
เป็นคำวิจารณ์ทั้งเนื้อหาและปูมประวัติชีวิตของ Paine ว่าเพราะเหตุใด เขาจึงมีความคิดแบบที่เขียน - บทตาม “สามัญสำนึก” ของ โธมัส เพน ปราบดา หยุ่น
- บันทึกการออกแบบ “Common Sense” ฉบับภาษาไทย กิตติพล สรัคคานนท์
สิ่งที่น่าประทับใจในหนังสืออายุเกือบ 250 ปีเล่มนี้คือ ระบบการให้เหตุผลของ Paine ที่ใช้การเปรียบเทียบ ทำให้เห็นภาพ เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา แม้จะรู้สึกดุดันไปบ้าง (แม้มาอ่านใน 250 ปีให้หลังแล้วก็ตาม) เช่น
ในองค์ประกอบของสถาบันกษัตริย์มีบางอย่างน่าขันสิ้นดี แรกสุดมันแยกคนผู้หนึ่งออกจากหนทางแห่งการรับข้อมูลข่าวสาร กระนั้นกลับให้อำนาจเขากระทำการในกรณีต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีวิจารณญาณสูงสุด สภาวะแห่งการเป็นกษัตริย์ปิดกั้นเขาจากโลก กระนั้นกิจธุระแห่งการเป็นกษัตริย์กลับเรียกร้องให้เขารู้จักโลกอย่างถ้วนถี่ ดังนั้น องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันเองและทำลายกันเองอย่างขัดต่อธรรมชาติจึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าลักษณะโดยรวมของสถาบันมีแต่ความไร้สาระและไร้ประโยชน์
วิธีการเขียนของ Paine เน้นการให้เหตุผลตามสำนักธรรมชาติ (ระบบสังคมมนุษย์ที่วิจารณ์ ขัดแย้งกับหลักตามธรรมชาติ) ดังตัวอย่างข้างล่าง
นั่นคือการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็น กษัตริย์ กับ ราษฎร ผู้ชายกับผู้หญิงเป็นการแบ่งแยกของธรรมชาติ ดีกับเลวเป็นการแบ่งแยกของสวรรค์ แต่เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งอุบัติมาบนโลกพร้อมกับความสูงส่งเหนือมนุษย์คนอื่นและแตกต่างออกไปราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ ประเด็นนี้ควรค่าแก่การพิจารณ์ รวมทั้งตั้งคำถามว่ามันเป็นหนทางแห่งความสุขหรือความทุกข์ของมนุษยชาติกันแน่
มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนพึงมีสิทธิแต่กำเนิดในอันที่จะยกยอตระกูลของตนให้มีอภิสิทธิ์ถาวรเหนือคนทั้งปวงตลอดไป และถึงแม้ตัวเขาเองอาจสมควรได้รับการยกย่องนับถือพอประมาณจากผู้คนร่วมรุ่น แต่ลูกหลานของเขาอาจหล่นไกลต้นเกินกว่าจะควรค่าให้ยกย่องนับถือสืบต่อไป ข้อพิสูจน์ตามธรรมชาติที่หนักแน่นที่สุดประการหนึ่งต่อความเขลาของสิทธิการสืบทอดสายเลือดในหมู่กษัตริย์ก็คือ ธรรมชาติไม่เห็นชอบด้วย มิฉะนั้นแล้ว ธรรมชาติคงไม่แกล้งให้มันดูน่าหัวร่อร่ำไปด้วยการประทาน ลาคลุมหนังสิงโต แก่มนุษยชาติ
ซึ่งอาจดูขัดแย้งกับอีกกลวิธีในการเขียน (โดยเฉพาะในบทที่ 2) คือการอ้างข้อความในพระคัมภีร์เดิม (เป็นการใช้อำนาจที่สูงกว่า คือ อ้างพระเจ้าว่ามีอำนาจเหนือกษัตริย์) ซึ่งเป็นการใช้ศาสนาเข้านำ อาจดูแปลกๆ แล้วในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าดูบริบทในตอนนั้น ก็อาจเป็นวิธีการที่ทรงพลังและแยบยล
นอกจากนี้ Paine ยังอ้างประวัติศาสตร์ด้วย เช่น การย้อนไปไกลหลายร้อยปีถึงยุคของ William the Conqueror ที่ข้ามฝั่งมาจาก Normandy แล้วมาพิชิตกษัตริย์อังกฤษเดิม โดยเขาบอกว่า William the Conqueror ในฐานะต้นตระกูลของกษัตริย์อังกฤษยุคปัจจุบัน เป็นเพียงแค่ “ลูกนอกสมรสชาวฝรั่งเศสที่ยกพลขึ้นบกพร้อมกองโจรติดอาวุธ” และ “ต้นตระกูลที่มาจากอันธพาลกระจอกชั้นต่ำ” ถือเป็นหนึ่งในกลวิธีการเขียนเพื่อทำลายความชอบธรรมของกษัตริย์อังกฤษนั่นเอง
สิ่งที่อ่านแล้วประทับใจที่สุด และน่าขบคิดต่อมากที่สุด คือ ไอเดียของ Paine ในบทที่ 3 เรื่องการสร้าง “จินตนาการใหม่” ของโมเดลรัฐแบบใหม่ บนแผ่นดินใหม่อย่างอเมริกา เขาเสนอว่า อเมริกานั้นกว้างใหญ่กว่ายุโรปมาก อยู่ไกลจากยุโรปมาก มีชาติพันธุ์ที่หลากหลายกว่าอังกฤษมาก ในระยะยาวอเมริกาจึงจะเป็นต้องมีระบอบการปกครองของตัวเอง เพื่อไม่ให้ติดหล่มปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการทะเลาะกันเอง
หากไม่ประกาศอิสรภาพแล้วไซร้ กล่าวคือมีรูปแบบการปกครองในระดับทวีปเป็นของตนเอง ก็ไม่มีหนทางอื่นในการธำรงสันติภาพของทวีปอเมริกา และรักษาทวีปนี้ให้ปลอดพ้นจากสงครามกลางเมือง
บางคนอาจถามหาว่า แล้วกษัตริย์ของทวีปอเมริกาอยู่หนใด? กฎหมายก็คือกษัตริย์ในอเมริกา หากกษัตริย์คือกฎหมายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชฉันใด กฎหมายก็ ควร เป็นกษัตริย์ในประเทศเสรี และไม่พึงมีกษัตริย์อื่นใดอีกฉันนั้น
ประเด็นเรื่อง “จินตนาการใหม่” จึงน่าสนใว่าหากเราต้องการออกแบบโมเดลของรัฐใหม่ในยุคถัดไป (ดังที่เคยเขียนไปแล้ว) มันจะมีกระบวนการวาดฝันถึงมันอย่างไร โดยมีตัวอย่างของ Paine และกลุ่ม Founding Fathers เมื่อ 250 ปีก่อนเป็นแบบอย่าง
อีกประเด็นคือเรื่องของ “กาละ” โดย Paine เสนอว่า ณ เวลาที่เขียนบทความเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการประกาศอิสรภาพ เพราะเป็นช่วงที่รัฐเพิ่งก่อตั้ง ประชาชนยังสามัคคี และยังเป็นช่วงบ่มเพาะให้เกิดความรู้สึกร่วมเป็นชาติเดียวกันอยู่ ในแง่หนึ่ง Paine อาจเร่งเร้าให้คนรีบตัดสินใจปลดแอกตัวเองจากอังกฤษ แต่ก็ให้แง่คิดในเรื่อง timing ที่เหมาะสมในการก่อตั้งรัฐชาติใหม่เช่นกัน
อ่าน Common Sense จบแล้วก็พบว่าหลายอย่างยังทันสมัย ไม่ล้มหายตายจากไปกับกาลเวลา พร้อมยังจุดประกายไอเดียหลายอย่างให้ต้องครุ่นคิดกันต่อไป