in Knowledge, Politics

American Politics: Democrat vs Republican

ปัจจุบัน พรรคการเมืองในอเมริกามีสองพรรคใหญ่คือ Democrat และ Republican

แต่ในอดีตสมัยแรกก่อตั้งประเทศนั้น ยังไม่มีทั้งสองพรรคนี้อยู่ด้วยซ้ำ โดยพรรค Democrat เกิดก่อน Republican นานพอสมควร และในสมัยแรกๆ มีพรรคชื่อ Democratic-Republican ซะด้วย

ต้องย้อนกลับไปว่า ประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกาเป็นระบบ 2 พรรคใหญ่มาเกือบตลอด และนักวิชาการยุคหลังได้แบ่งยุคของพรรคการเมืองออกเป็น 5 ยุค

ประธานาธิบดีคนแรกคือ George Washington นั้นไม่สังกัดพรรคการเมืองใด โดยเขาเป็นประธานาธิบดีอยู่ 2 สมัย รวมกันนาน 8 ปี (1789-1797) แต่หลังจากนั้น การเมืองอเมริกันก็แบ่งกันเป็น 2 ขั้ว ตามกลุ่มก้อนทางการเมืองของกลุ่มผู้ก่อตั้งประเทศ (Founding Fathers) ซึ่งก็อยู่ในคณะรัฐมนตรีของวอชิงตันนั่นแหละ

ข้อมูลทั้งหมด รวมถึงภาพประกอบจาก Wikipedia

First Party System

1792-1824: Federalist vs Democratic-Republican

ระบบพรรคยุคแรกแบ่งเป็น 2 พรรค เริ่มจาก Federalist Party ที่อิงตามแกนนำ Alexander Hamilton ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลัง (Secretary of the Treasury) ในยุคของวอชิงตัน โดยมีอุดมการณ์สนับสนุนรัฐบาลกลาง (federal) เข้มแข็ง, รักษาความใกล้ชิดกับอังกฤษ ประเทศแม่ที่อเมริกาเพิ่งแยกตัวออกมา

หลังวอชิงตันเป็นประธานาธิบดีครบ 2 เทอม พรรค Federalist Party ก็สนับสนุน John Adams รองประธานาธิบดีในยุควอชิงตัน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของสหรัฐ (และเป็นประธานาธิบดีคนเดียวจากพรรค Federalist ซะด้วย)

ส่วนพรรคฝ่ายตรงข้ามคือ Republican Party ที่ก่อตั้งโดย Thomas Jefferson (ภายหลังเป็นประธานาธิบดีคนที่สาม) และ James Madison (ประธานาธิบดีคนที่สี่) ซึ่งพรรคนี้ชูอุดมการณ์ไม่เอากษัตริย์อังกฤษและระบอบขุนนางเต็มรูปแบบ เน้นเสรีนิยม และพลังของรัฐบาลท้องถิ่น

ภายหลังพรรคนี้ถูกเรียกว่า Democratic-Republican หรือ Jeffersonian Republican เพื่อให้ต่างจากคำว่า Republican ในยุคปัจจุบัน (ซึ่งเป็นคนละพรรคกัน)

พรรค Federalist มีชัยในการเลือกตั้งปี 1796 เพียงครั้งเดียว (John Adams มีชัย ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่สอง) แต่หลังจากนั้น Republican Party ยิงยาว ชนะการเลือกตั้งนับตั้งแต่ปี 1800 เป็นต้นมา ส่วน Federalist ล่มสลายลงในช่วงปี 1815

Second Party System

1828-1854: Democratic vs Whig

หลังพรรค Federalist ล่มสลายลงไป พรรค Democratic-Republican ก็กลายมาเป็นพรรคหลักเพียงพรรคเดียวของอเมริกาอยู่ช่วงหนึ่ง พอไม่มีคู่แข่งก็แน่นอนว่าต้องทะเลาะกันเอง

หลังประธานาธิบดีคนที่ห้า James Monroe (คนที่สามในสังกัดพรรค Democratic-Republican) ก็เกิดปัญหาผู้สืบทอดที่จะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปในการเลือกตั้งปี 1824 ซึ่งในพรรคแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ สนับสนุน John Quincy Adams (ต่อมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6) และ Andrew Jackson (ต่อมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7)

John Quincy Adams ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ในสังกัดพรรค Democratic-Republican ได้ในการเลือกตั้งปี 1824 แต่ภายในพรรคก็แตกแยกกัน โดยกลุ่มที่สนับสนุน Adams (และต่อต้าน Jackson) พัฒนากลายมาเป็นพรรค National Republican Party (ก่อตั้งเป็นทางการในปี 1824)

ส่วนกลุ่มที่สนับสนุน Andrew Jackson ก็แยกตัวออกมาเป็นพรรค Democratic Party ซึ่งเป็นพรรคเดโมแครตในปัจจุบันนั่นเอง (ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 1828 ถือว่าเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดที่ยังดำเนินกิจการอยู่)

John Quincy Adams เป็นประธานาธิบดีได้ 4 ปี พอถึงปี 1828 ก็โดน Andrew Jackson โค่นลงได้ และนั่งเป็นประธานาธิบดียาว 2 สมัย 8 ปี (1828-1836) ทำให้พรรค Democratic มั่นคง

ฝั่งของ National Republican Party ที่แพ้เลือกตั้งก็ระส่ำ และหันไปหนุนนักการเมืองอีกคนคือ Henry Clay (ซึ่งมาจาก Democratic-Republican เหมือนกัน) ก่อตั้งพรรคใหม่คือ Whig Party ในปี 1933 ซึ่งเอาชื่อมาจากพรรค Whig ของอังกฤษ และประสบความสำเร็จ ชนะเลือกตั้งในปี 1840

Whig และ Democratic กลายเป็น 2 พรรคใหญ่ของอเมริกา ผลัดกันแพ้ชนะเลือกตั้งไปจนถึงทศวรรษ 1850s

Third Party System

1854-1890 Democratic vs Republican

หลังการเลือกตั้งปี 1852 ที่พรรค Democratic ชนะขาดลอย ทำให้ Whig อ่อนแอลงไป บวกกับสถานการณ์การเมืองอเมริกันในยุคนั้น มีเรื่องเลิกทาส-ไม่เลิกทาสเข้ามาเป็นประเด็นใหญ่ โดยพรรคเดโมแครตมีจุดยืนคือสนับสนุนให้ยังมีทาสต่อไป

ในปี 1854 จึงมีนักการเมืองกลุ่มใหม่ที่สนับสนุนให้เลิกทาส บวกกับอดีตนักการเมืองของ Whig เดิม รวมกันก่อตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาชื่อ Republican Party โดยเลือกตั้งชื่อตามชื่อพรรคดั้งเดิมของ Jefferson

การเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 1856 พรรคใหม่อย่าง Republican ยังไม่สามารถตั้งตัวสู้กับ Democratic ได้ แต่พอเป็นการเลือกตั้งปี 1860 การเมืองอเมริกันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะ Republican ได้ผู้นำคนสำคัญ ที่เป็นอดีตนักการเมืองพรรค Whig กลับมาลงสนามเลือกตั้งอีกครั้ง

ชื่อของเขาคือ Abraham Lincoln

Lincoln นำพาพรรครีพับลิกันตั้งมั่นในอเมริกาได้สำเร็จ (และกลายเป็นสองพรรคหลักของอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้) แม้เขาถูกลอบสังหารในปี 1865 แต่ก็มีผู้สืบทอดพรรครีพับลิกันอย่างต่อเนื่อง (เช่น Ulysses S. Grant อดีตนายพลยุคสงครามกลางเมือง) ซึ่งในยุคที่สามนี้ ต้องบอกว่ารีพับลิกันเป็นรัฐบาลบ่อยกว่าเดโมแครตมาก

Fourth Party System

1896-1832: Democratic vs Republican

การเมืองยุคที่สี่ ยังเป็น 2 พรรคเดิมที่ตั้งมั่นกันอย่างมั่นคงแล้ว แต่เปลี่ยนประเด็นที่สนใจจากเรื่องเลิกทาส-สงครามกลางเมือง-ฟื้นฟูประเทศ มาเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) แทน

ในยุคที่สี่ ยังเป็นพรรครีพับลิกันที่ชนะเยอะกว่าเดโมแครต โดยนักการเมืองคนสำคัญในยุคนี้ได้แก่ Theodore Roosevelt (รีพับลิกัน) และ Woodrow Wilson (เดโมแครต)

จุดจบของการเมืองยุคที่สี่คือ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1929 (Great Depression) ส่งผลสะเทือนต่อการเลือกตั้งในปี 1932

Fifth Party System

1832-present: Democratic vs Republican

การเลือกตั้งในปี 1932 มีนักการเมืองคนสำคัญอีกคนที่พลิกฟื้นพรรคเดโมแครตให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง นั่นคือ Franklin Delano Roosevelt ที่สร้างสถิติเป็นประธานาธิบดีนาน 4 สมัย (นับจากปี 1932 ถึงการเสียชีวิตในปี 1945 รวม 13 ปี)

Roosevelt เสนอนโยบาย New Deal ที่ปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของอเมริกาครั้งใหญ่ และผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ระบบการเมืองอเมริกันในปัจจุบันยังนับว่าเป็นยุคที่ห้าอยู่ เพราะเป็นระบบที่เซ็ตขึ้นมาในยุคของ Roosevelt นั่นเอง

ปัจจุบัน นักวิชาการยังเถียงกันอยู่ว่า Fifth Party System จบลงหรือยัง (บางคนก็บอกว่าจบลงแล้วเมื่อระบอบ New Deal ตายไปในยุคของเรแกน 1980 และเราเข้าสู่ Sixth Party System แล้ว แต่ก็ยังไม่มีข้อยุติ)

กล่าวโดยสรุปคือ ระบบพรรคการเมืองอเมริกันเป็นแบบ 2 พรรคใหญ่มาโดยตลอด และค่อนข้างเสถียรนับตั้งแต่ Lincoln ตั้งตัวพรรครีพับลิกันได้สำเร็จในการเลือกตั้งปี 1860 เป็นต้นมา ถ้าดูจากชาร์ทด้านบน (จาก Wikipedia) จะเห็นว่าทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันก็ผลัดกันแพ้ชนะมาเรื่อยๆ โดยไม่ทิ้งขาดกันมากนัก

การเปลี่ยนยุคทางการเมืองอเมริกัน ก็เกิดจากการผลักดันของ “รัฐบุรุษ” ของแต่ละสมัยด้วย จากชื่อที่ปรากฏก็อย่างเช่น Thomas Jefferson, Andrew Jackson, Abraham Lincoln, Franklin Roosevelt ซึ่งก็เป็นประธานาธิบดีที่มีบทบาทอย่างสูงในแต่ละยุคสมัยเช่นกัน