in Books, Politics

รัฐราชาชาติ

ช่วงวันหยุดปลายปี 2020 ได้อ่านหนังสือ “รัฐราชาชาติ” ของธงชัย วินิจจะกูล จนจบ (หาได้ยากที่จะอ่านหนังสือจบเล่มในช่วงหลังๆ) จึงมาบันทึกไว้

“รัฐราชาชาติ” เป็นหนังสือรวมบทความเก่าของธงชัย ที่เขียนเกี่ยวกับรัฐ (state), ชาตินิยม (nationalism) ภายใต้บริบทของประเทศไทยที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ในฐานะผู้ที่สนใจแนวคิดเรื่องชาตินิยมยุคใหม่ ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษาว่าอาจารย์ระดับธงชัย มีความคิดเห็นอย่างไร

โครงสร้างของหนังสือ

หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหารวมกันทั้งหมด 11 บทความ ประกอบด้วยส่วนคำนำ/บทนำ 3 บทความ และตัวบทความจริงๆ อีก 8 บทความ หลายบทความเคยเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นๆ แล้ว (เนื้อหาประมาณครึ่งหนึ่งสามารถอ่านได้ฟรีบนอินเทอร์เน็ต กระนั้นก็ตาม หนังสือทั้งเล่มก็ควรซื้อเก็บไว้อยู่ดี)

เพื่อประโยชน์ในการเขียนถึงเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ จึงขอแจกแจงปีที่เขียน และแหล่งที่มาของบทความต่างๆ ไว้ดังนี้

  • คำนำสำนักพิมพ์ มีให้อ่านบนเว็บของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
  • คำนำผู้เขียน มีให้อ่านบนเว็บของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
  • บทนำ สาแหรก (genealogy) ทางความคิดว่าด้วยรัฐราชาชาติของไทยในปัจจุบัน เขียนใหม่สำหรับหนังสือเล่มนี้
  • ภาครัฐ+สังคม
    • บทที่ 1 อนาคตการศึกษาเรื่องรัฐในสังคมไทย 2550 ปาฐกถาของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
    • บทที่ 2 อำนาจกับการขบถ 2551 บทกล่าวตามในหนังสือ 1984 ฉบับแปลไทย
  • ภาคราชา+รัฐ (+สังคม)
    • บทที่ 3 ลัทธิคลั่งไคล้เจ้าของประเทศไทย : ความสำเร็จในอดีต กับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในปัจจุบัน 2559 บทความต้นฉบับเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เขียนลงวารสาร ISEAS ของสิงคโปร์ แปลไทยครั้งแรกที่นี่
    • บทที่ 4 ประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมของไทย : ประวัติ กลไกการทำงาน และภาวะวิกฤต 2562 บทความต้นฉบับเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เขียนลงหนังสือ ISEAS ของสิงคโปร์ แปลไทยครั้งแรกที่นี่
  • ภาคนิติ+รัฐ+ราช
    • บทที่ 5 นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย 2563 ปาฐกถาป๋วย อึ้งภากรณ์ ตีพิมพ์ใน Way ฉบับในหนังสือเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม
    • บทที่ 6 ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับกรณีของไทย 2553 ตีพิมพ์ในฟ้าเดียวกัน มีให้อ่านบนเว็บไซต์ประชาไท
  • ภาค 4 ชาติ (ไม่นับประชา)
    • บทที่ 7 ชาติไทย เมืองไทย และนิธิ เอียวศรีวงศ์ 2538 เป็นคำนำเสนอในหนังสือ ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์
    • บทที่ 8 อ่าน Imagined Communities ของ Benedict Anderson หรือ IC ของ “ครูเบ็น” 2552 ตีพิมพ์ใน อ่าน ดาวน์โหลดไฟล์บทความได้จากเว็บไซต์ของธรรมศาสตร์

ถ้าดูปีที่ตีพิมพ์ จะเห็นว่าบทความเกือบทั้งหมดเขียนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือ 2550 เป็นต้นมา (ยกเว้นบทที่ 7 ที่เขียนในปี 2538) ภาพรวมก็ถือว่าค่อนข้างใหม่ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การที่หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความที่เคยเขียนมาก่อนแล้ว ย่อมมีข้อจำกัดเรื่องทิศทางของบทความอาจไม่เรียงร้อยต่อกันสวยงาม เหมือนกับหนังสือที่เขียนใหม่หมดทั้งเล่ม และบางบทความก็มีส่วนเกริ่นนำที่ซ้ำกันอยู่บ้าง

ประเด็นสำคัญในแต่ละภาค

ธงชัยแบ่งหนังสือออกเป็น 4 ภาค ซึ่งชื่อของแต่ละภาคก็สะท้อนเนื้อหาในส่วนนั้นๆ อย่างชัดเจน

ภาคแรก เป็นการพูดถึงแนวคิดของ “รัฐสมัยใหม่” (ในที่นี้คือ modern state) โดยรวมๆ ซึ่งธงชัยเสนอคุณสมบัติของรัฐไทยไว้บทความแรก 3 ข้อคือ มีแนวคิดเรื่องอำนาจเชิง “บารมี”, ระเบียบสังคมมีลำดับชั้น (hierarchy of power) โดยมีบารมีเป็นแกนกลาง, ความสัมพันธ์ของรัฐกับสังคมเป็นองค์รวม เชิงชีวภาพ (organic) คือทั้งสังคมเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตเดียว อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเอง

ภาคสอง พูดเรื่องบทบาทของ “ราชา” (ในที่นี้คือ ร.9) เรื่องตำแหน่งแห่งที่ในรัฐไทย บทความทั้งสองชิ้นเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านต่างชาติ จึงมีส่วนเกริ่นนำ ปูพื้นเยอะหน่อย คนที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาพอสมควร น่าจะรู้เกือบหมดแล้ว แต่ก็ถือเป็นบทความ recap ที่ดี ให้เห็นเส้นทางการสร้างตัวของสถาบันกษัตริย์ในไทย

บทความที่ 3 เป็นเรื่องการสร้างตัวสถาบันให้ “ศักดิ์สิทธิ์” ผ่านสื่อสมัยใหม่ และการช่วยกระจายของสาธารณชนเอง ส่วนบทความที่ 4 เป็นเรื่องของหน่วยงานรายล้อม เช่น ตุลาการ ทหาร องคมนตรี ฯลฯ การอ่าน 2 บทความต่อกันอาจมีส่วนที่ซ้ำซ้อนกันอยู่บ้าง แต่ก็ทำให้เห็นภาพรวมได้ดี

ภาคสาม พูดเรื่องบทบาทของกษัตริย์และกฎหมายในรัฐไทยสมัยใหม่ งานชิ้นหลักของภาคนี้และหนังสือเล่มนี้คือบทความที่ 5 นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ซึ่งเป็นสุดยอดงานของธงชัยในรอบหลายปีที่ผ่านมา (ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน ลองอ่านในลิงก์ของ way ได้ แต่ในหนังสือจะละเอียดและอัพเดตกว่า)

ธงชัยย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ทางกฎหมายของไทยตั้งแต่โบราณ (ที่ใช้คัมภีร์ฮินดู) เพื่อดูว่าบทบาทของกษัตริย์กับการออกกฎหมายเป็นอย่างไร เพื่อกลับมาอธิบายว่าทำไม เราจึงเห็นพฤติกรรม “งดเว้น” การบังคับใช้กฎหมายอยู่เต็มไปหมดในสังคมไทย ไม่ใช่เฉพาะแค่สถาบันกษัตริย์ (ราชนิติธรรม) แต่ยังรวมถึงรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐด้วย (นิติรัฐอภิสิทธิ์) ตัวอย่างเล็กๆ มีตั้งแต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือที่ดินจะไม่ถูกเอาผิด กรณีไปจับคนรุกป่าแบบไม่ถูกต้อง เพราะกรอบคิดเชิงกฎหมายของรัฐไทยจะมีข้อยกเว้นการกระทำของรัฐไว้ให้เสมอ ไปจนตัวอย่างใหญ่ๆ อย่างการล้อมปราบคนเสื้อแดงปี 53

ภาคสี่ กลับมาพูดเรื่องประเด็นของชาตินิยม (เพิ่งเขียนเรื่องนี้เป็นบทความแยกต่างหากใน Imagined Communities ชุมชนจินตกรรม) ที่ธงชัยย้อนเอากรอบการมองเรื่องชาติในแบบของนิธิ หรือแบบของ Ben Anderson มาวิเคราะห์ชาตินิยมของไทยย้อนกลับไปข้างหลัง งานทั้งสองชิ้นเขียนขึ้นในแนววิพากษ์แนวคิดของนักวิชาการคนอื่นว่ามีจุดอ่อนอย่างไร แต่ธงชัยเองก็ยังไม่ได้เสนอโมเดลใหม่ของ “ชาตินิยมใหม่” ไว้มากนัก

แต่บทความที่สรุปใจความสำคัญทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ อยู่ใน “บทนำ” ของธงชัยที่เขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด ขอคัดย่อหน้าสำคัญมาบางส่วน

คำถามมีอยู่ว่ากษัตริย์อยู่ตรงไหนในคำว่า “รัฐชาติ” หรือ “nation-state” ของไทย

ผู้เขียนขอตอบผ่านบทความต่างๆ ในเล่มนี้ว่ากษัตริย์แอบอยู่ตรงขีดระหว่างสองคำนั้นน่ะแหละ “รัฐ-ชาติ” ของไทยอ่านเต็มๆ ได้ว่า “รัฐ(ราชา)ชาติ” ไม่ใช่ รัฐ(ประชา)ชาติ

ธงชัยมองว่า รัฐไทยปัจจุบันเป็นรัฐสมัยใหม่ เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชแบบกึ่งอาณานิคม แต่แตกต่างจากตัวแบบรัฐชาติแบบยุโรป 2 ประการ

  • รัฐราชาชาติ เป็นชุมชนจินตกรรม ที่ผู้คนในชาติรับรู้ความเป็นชาติ (มุมมองแบบ Ben Anderson) ผ่านพระราชา ไม่ใช่ชุมชนของประชาชาติที่เป็นประชาชนเสมอกัน
  • อำนาจของกษัตริย์ (ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐก่อน 2475) ต่อสู้และสถาปนาเป็นอำนาจรูปแบบใหม่ ที่เหนือกว่ารัฐบาลและระบบราชการ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ธงชัยระบุว่าเคยเขียนถึงแนวคิดทั้ง 2 ข้อไว้ในหนังสือเล่มก่อนๆ หน้านี้แล้ว และพยายามจะอธิบาย “รัฐชาติไทย” ในมิติต่างๆ ด้วยกรอบการมองที่หลากหลาย ซึ่งสะท้อนไว้ในบทความต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้ (เช่น บทที่ 5 มองด้วยกฎหมาย, บทที่ 7 มองด้วยกรอบวัฒนธรรม, บทที่ 8 มองด้วยกรอบ Imagined Communities)

เงาร่างของรัฐชาติไทยในอนาคต

หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมพบว่าธงชัยยังไม่ได้เสนอแนวทางของรัฐชาติไทยยุคใหม่ว่าควรเป็นอย่างไร แต่ด้วยการวิเคราะห์ (ย้อนหลัง) อย่างละเอียดของธงชัยในหนังสือเล่มนี้ ผมพบว่า “เครื่องมือ” ของรัฐราชาชาติเริ่มใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว โดยเฉพาะ

  • แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ทางเศรษฐกิจแบบอเมริกัน ที่เติบโตมาด้วยกันในยุคสงครามเย็น เริ่มตีบตัน (ทุนนิยมแบบเดิมไปต่อไม่ไหวแล้ว)
  • สื่อมวลชน (mass media) และปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) แบบเก่า เริ่มถูกทำลายจากไซเบอร์สเปซ ที่ควบคุมได้ยากมาก
  • มุมมองในเชิงคุณค่า (value) ของประชาชนรุ่นใหม่ก็เริ่มเปลี่ยนไป หันไปนิยมคุณค่าในเชิงสากลมากขึ้น ทั้งในเรื่องความเท่าเทียมทางอายุ เพศ เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งแสดงเห็นได้ชัดจากม็อบราษฎร 2563
  • และสุดท้ายคือแกนกลางสำคัญที่สุด เมื่อตัวกษัตริย์เปลี่ยน รัชสมัยเปลี่ยน วิธีการแสดงออก นโยบาย แนวคิดก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

ม็อบราษฎร 2563 ก่อตัวขึ้นมาโดยมีเงาของรัฐชาติสมัยใหม่อยู่ลางๆ บางอย่างยังเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นมาแบบลองผิดลองถูกอยู่เยอะ บางอย่างก็เป็นจุดร่วมของกระแสมุมมองแบบใหม่ที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญปัญหา และหาคำตอบร่วมกันอยู่

ทิศทางของรัฐชาติไทยยุคหน้า ย่อมมีความเป็น “รัฐประชาชาติ” มากขึ้นแน่ แต่ “ประชา” ที่ว่านั้นหน้าตาเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ข้างในนั้นบ้าง (คนชายขอบเป็นประชาหรือไม่ เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นประชาหรือไม่ เกย์เป็นประชาหรือไม่ โรฮิงญาเป็นประชาหรือไม่ ไม่จ่ายภาษีบุคคลเป็นประชาหรือไม่ ฯลฯ) เป็นสิ่งที่ต้องขบคิดกันต่อไป