in Economics, Politics

William McKinley – The Tariff King

ในสปีชรับตำแหน่งประธานาธิบดีของ Donald Trump เมื่อเดือนมกราคม 2025 เขาเอ่ยถึงชื่ออดีตประธานาธิบดีเพียงแค่คนเดียวคือ William McKinley ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 25 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1897-1901

ในฐานะผู้ติดตามการเมืองอเมริกาย่อมถือเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะในสปีชรับตำแหน่งประธานาธิบดี ยุคหลังๆ มักอ้างถึงประธานาธิบดีคนดังๆ ในอดีต เช่น George Washington, Thomas Jefferson, Abraham Lincoln (หากย้อนดูสปีช Obama จะอ้างถึง Lincoln เยอะหน่อยเพราะเป็นเรื่องสีผิว, Biden อ้างถึงอดีตประธานาธิบดีน้อย แต่ก็มีชื่อ Washington/Lincoln โผล่มาอย่างละครั้ง)

การที่ Trump เลือกเจาะจงไปที่ McKinley คนเดียวถือว่าแหวกธรรมเนียมมาก

เท่านั้นยังไม่พอ ในสปีชของ Trump ยังประกาศเปลี่ยนชื่อ ภูเขา Denali ใน Alaska ซึ่งเป็นชื่อภาษาถิ่น กลับมาเป็นชื่อ Mount McKinley ที่เคยใช้ระหว่างปี 1917-2015 ด้วย (เปลี่ยนจาก McKinley เป็น Denali ในยุค Obama) แสดงให้เห็นว่า Trump ให้เกียรติ McKinley เป็นอย่างมาก

Mount Denali หรือ Mount McKinley

Mount Denali หรือ Mount McKinley

แต่คนที่ติดตาม Donald Trump มาพอสมควร จะทราบดีกว่า Trump นั้น “คลั่งไคล้” ในตัวของ McKinley มาก ด้วยเหตุผลประการสำคัญคือ McKinley เป็น “เจ้าพ่อ” แห่งการตั้งกำแพงภาษี (tariff) ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุดในรัฐบาล Trump 2.0 เลยก็ว่าได้

บทความนี้ใน Yahoo! Finance เขียนไว้ค่อนข้างละเอียด

ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจว่า Trump คิดอะไรในเรื่อง tariff เราควรย้อนกลับไปดูว่า McKinley เป็นใครมาจากไหน และทำอะไรบ้างในเรื่องนี้

ประวัติชีวิต McKinley

William McKinley มีพื้นเพมาจากรัฐ Ohio ซึ่งเป็นรัฐตอนบนที่อยู่ติดทะเลสาบ Great Lakes มีพื้นเพครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก เคยต้องประกอบอาชีพเป็นครูอยู่พักหนึ่ง ช่วงวัยหนุ่มเขาผ่านสมรภูมิสงครามกลางเมืองอเมริกัน และเคยอยู่ภายใต้หน่วยของ Rutherford B. Hayes ที่ต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 19

หลังสงคราม McKinley หันมาประกอบอาชีพด้านกฎหมาย เป็นอัยการ และลงการเมือง (ตามสูตรนักการเมืองอเมริกันทั่วไป) เขาได้เป็น ส.ส. ครั้งแรกในปี 1876 ปีเดียวกับที่ลูกพี่ของเขาคือ Hayes ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี

บริบทของอเมริกาในยุคทศวรรษ 1870s เป็นยุคฟื้นฟูประเทศหลังสงครามกลางเมืองในทศวรรษ 1860s ปัญหาสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ โดยข้อถกเถียงสำคัญของยุคสมัยคือการยึดโยงค่าของเงินตรา (currency) เข้ากับค่าของทอง (gold) หรือเงิน (silver)

ไอเดียสำคัญอันหนึ่งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคือ เพิ่มจำนวนเงินตราในระบบแบบไม่จำกัดจำนวน จากการใช้โลหะเงิน (free silver) แทนการกำหนดจำนวนเงินตราในระบบเท่ากับทอง ซึ่งมีฝ่ายที่มองว่าการจำกัดจำนวนเงินตราทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ

ส.ส. McKinley ค่อยๆ กลายมาเป็นผู้สนับสนุนนโยบายกำแพงภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ (protectionism) ซึ่งเป็นนโยบายฝั่งรีพับลิกัน ในขณะที่พรรคเดโมแครตต่อต้านนโยบายนี้

ข้อเสนอครั้งสำคัญของ McKinley คือกฎหมายที่ถูกเรียกกันว่า McKinley Tariff ที่ผ่านสภาในปี 1890 (ตอนนั้นเขายังเป็น ส.ส. ไม่ใช่เป็นประธานาธิบดีแบบที่เข้าใจกัน) เสนอให้ขึ้นนำแพงภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภท 38-50%

แน่นอนว่าการขึ้นกำแพงภาษีแบบฉับพลัน ทำให้ค่าครองชีพของชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้นทันที ตัวของ McKinley แพ้เลือกตั้งในปีเดียวกัน 1890 (แพ้แบบเฉียดฉิว โดยมีปัจจัยเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือ gerrymandering มีผลด้วย) พรรครีพับลิกันแพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1892 ในช่วงนั้น McKinley จึงไปลงเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐ Ohio ระหว่างปี 1892-1896

โปสเตอร์หาเสียงปี 1896 ของ McKinley เขียนชัดเจนว่า Protection vs Free trade

ประธานาธิบดี McKinley

การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1896 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองอเมริกัน เพราะความวุ่นวายการทางเมืองที่สั่งสมจากยุคสงครามกลางเมือง บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1893 ขมวดปมมารวมกันพอดี ในอีกทาง ประธานาธิบดี Grover Cleveland จากเดโมแครตไม่ลงเลือกตั้งต่อ ทำให้เวทีชิงชัยเปิดกว้างมากขึ้น

จริงๆ แล้วต้องบอกว่า ผู้สมัครฝั่งพรรคเดโมแครตนั้นน่าตื่นเต้นกว่ามาก เพราะตัวแทนคือ William Jennings Bryan นักการเมืองดาวรุ่งสายประชานิยม สู้เพื่อคนยากไร้ ชาวไร่ชาวนาที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจสั่งสม โดยเขาเป็นผู้สนับสนุนนโยบาย free silver เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

แม้เป็นนักการเมืองนอกกระแส แต่ Bryan สามารถใช้สปีชที่หวือหวา จับใจ (สปีชสำคัญของเขาคือ Cross of Gold กางเขนทองคำเอาไว้ตรึงร่างคนจน) จนสามารถแหวกขนบธรรมเนียมของนักการเมืองเดโมแครตแบบเดิม (ที่เรียกกันว่า Bourbon Democrat) ที่สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจระบบตลาดเสรี (laissez-faire) มาเป็นตัวแทนพรรคได้สำเร็จในการโหวตรอบที่ 5 ของพรรค

ฝั่งรีพับลิกันมานิ่งๆ เลือก McKinley เป็นตัวแทนพรรคได้แบบไม่ยากเย็นในการโหวตรอบแรกของพรรค เขาถือเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่ๆ ของอเมริกา ที่กำลังตื่นกลัวกับการหาเสียงแนวทางหวือหวาของ Bryan ที่จะมาโค่นล้มฝ่ายนายทุนลง

การเลือกตั้งปี 1896 จึงเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 แนวคิดสุดขั้วคือ Protectionism คุ้มครองทุนใหญ่ในประเทศของ McKinley กับ Populism ของ Bryan

ผลลงเอยด้วย “นายทุนชนะ” แบบค่อนข้างทิ้งขาด (McKinley ได้ electoral vote 60.63%, popular vote 51.02%) กลุ่มรัฐร่ำรวยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก เทคะแนนเลือก McKinley

(ถ้าดูจากแผนที่ผลเลือกตั้ง มันจะกลับทิศกลับสีกับการเมืองอเมริกันยุคปัจจุบัน ถือเป็นเอกลักษณ์ของการเมืองยุค Fourth Party System)

การเลือกตั้งปี 1896 ยังมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ในฐานะการเลือกตั้งที่เป็น realignment ครั้งใหญ่ เข้าสู่ระบบพรรคการเมืองยุคที่ 4 (Fourth Party System) ก่อนไปเปลี่ยนใหญ่อีกครั้งในการเลือกตั้งปี 1932 ที่ Franklin D. Roosevelt ชนะเลือกตั้งแบบทิ้งขาด พาเข้าระบบพรรคยุคที่ 5 (Fifth Party System) ซึ่งมีหน้าตาค่อนข้างคล้ายกับการเมืองยุคปัจจุบัน

นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของประธานาธิบดี McKinley แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องกำแพงภาษี และการเลือกตรึงค่าเงินตามทอง ตามที่ได้อาณัติประชาชนมาจากการเลือกตั้ง

ในยุคของเขามีการเสนอกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่ (หลังถูกเดโมแครตล้มตัวเก่าไปในปี 1894) คือ Dingley Act of 1897 ขึ้นภาษีขนสัตว์ ผ้าไหม น้ำตาลเท่าตัว (กฎหมายฉบับนี้มีผลต่อเนื่องมา 12 ปี ขึ้นภาษีนำเข้าเฉลี่ยประมาณ 47%) และกฎหมาย Gold Standard Act ในปี 1900 ที่ปิดฉากการถกเถียงเรื่องทอง vs เงินในอเมริกา (ก่อนไปพัฒนาต่อเป็น Bretton Woods system ในปี 1944)

ในยุคของ McKinley ยังริเริ่มเจรจาซื้อโครงการขุดคลองปานามา ให้เป็นของสหรัฐอเมริกา (ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสพยายามขุดมาหลายปีแต่ไม่สำเร็จ) เสียดายว่า McKinley ไม่ทันเห็นการเริ่มขุดในปี 1904 เขาก็เสียชีวิตไปก่อนในปี 1901 (ซึ่ง Trump ก็ประทับใจในเรื่องการขยายดินแดนของ McKinley เช่นกัน และมีนโยบายพยายามยึดคลองปานามากลับคืนมาเป็นของสหรัฐ)

รัฐบาลสมัยแรกของ McKinley ผ่านไปด้วยดี ประสบความสำเร็จในทางเศรษฐกิจ เขาลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 1900 ต้องมาเจอกับคู่ชิงคนเดิมคือ William Jennings Bryan และเอาชนะได้อีกครั้ง

แต่เขาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ต่อได้เพียง 2 เดือน ก็ถูกลอบสังหารที่เมือง Buffalo ในรัฐนิวยอร์ก โดยมือสังหารเป็นสาย anarchist ยิงปืนเข้าที่ท้องของ McKinley สองนัดตอนที่ขอเช็คแฮนด์ด้วย

หลังจากการเสียชีวิตของ McKinley รองประธานาธิบดี Theodore Roosevelt ได้เป็นประธานาธิบดีต่อทันที (ด้วยอายุ 42 ปี ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดของสหรัฐ) และเป็นต่อไปจนถึงปี 1909 โดยนโยบายของ Roosevelt แตกต่างไปจาก McKinley หลายอย่าง นโยบายบจัดการกับทุนใหญ่ผูกขาด (ต้นกำเนิดของคำว่า antitrust) เกิดขึ้นในยุคของเขา

McKinley the Tariff King

Trump นั้นชื่นชอบ McKinley เป็นอย่างมาก ในฐานะผู้สร้างให้อเมริกา “ร่ำรวย” จากเงินภาษีนำเข้า

William McKinley made this country rich. He was the most underrated president. And those that followed him took the money. Roosevelt took the money and built, you know, the whole thing with the parks and the dams. But McKinley made the money and he was truly the tariff king.

แต่ถ้าเราดูภาพกว้างในระยะยาวกว่านั้น จะเห็นว่าสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มลดภาษีนำเข้าสินค้ามาโดยตลอด ทั้งช่วงก่อนและหลัง McKinley ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

จากภาพของ Tax Foundation การขึ้นภาษีของ McKinley ตอนเป็น ส.ส. (McKinley Tariff) และตอนเป็นประธานาธิบดี (Dingley Tariff) ถือเป็นช่วงเล็กๆ ของการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเท่านั้นเอง (หลังจากนั้นมีการขึ้นอีกครั้งในช่วง Great Depression ช่วงปี 1930 แล้วหายไปเลย)

ภาพจาก Tax Foundation

ตัวของ McKinley เอง แม้ได้ชื่อว่าเป็น the tariff king แต่ช่วงปลายสมัยแรกของ McKinley เขาก็เคยยอมรับว่า อเมริกาจำเป็นต้องอาศัยสินค้าจากโลกภายนอกเข้ามาด้วย (ตัวเขาไม่ได้แก้เรื่องกำแพงภาษีในสมัยของเขาอีก)

ในสปีชของเขาที่เมือง Buffalo (ก่อนโดนลอบสังหาร 1 วัน) เขาพูดว่าถ้าอเมริกาสามารถทำสนธิสัญญาลดภาษีกับประเทศอื่นๆ ได้ กำแพงภาษีที่ไม่จำเป็นก็สามารถปรับลดลงได้

Reciprocity treaties are in harmony with the spirit of the times, measures of retaliation are not. If perchance some of our tariffs are no longer needed, for revenue or to encourage and protect our industries at home, why should they not be employed to extend and promote our markets abroad?

เหตุผลที่ McKinley สามารถขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าได้ในยุคนั้น เป็นเพราะอเมริกาตอนนั้นไม่มีการเก็บภาษีบุคคลนั่นเอง (มีบ้างเล็กน้อยในช่วงสงคราม แต่ไม่ได้จริงจัง) กว่าจะเริ่มเก็บภาษีบุคคลต้องรอปี 1909 ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 16th Amendment ยอมให้เก็บภาษีประชาชนได้ ในยุคของ Theodore Roosevelt นี่ล่ะ (ตัวภาษีเริ่มเก็บจริงๆ ในปี 1913)

ภาพจาก Wikipedia

ในช่วงต้นศตววรษ 1900-1930s จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านวิธีการหารายได้ของรัฐบาลสหรัฐ จากภาษีนำเข้า (tariff) มาเป็นภาษีเงินได้บุคคล (income tax) นั่นเอง

ปัจจุบัน รายได้จาก tariff คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ประมาณ 1-2% ของรายได้รัฐบาลเท่านั้น

ภาพจาก LBO News

ไอเดียของ Donald Trump คือกลับมาขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าอีกรอบ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เยอะๆ จะได้ลดภาษีรายได้บุคคลลง เหมือนยุคทองอันเรืองรองของ McKinley ที่ชาวบ้านไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

“All he did was tariffs; we didn’t have an income tax.”

มันอาจผิดฝาผิดตัวกับบริบทยุคปัจจุบันไปพอสมควร เพราะรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันเยอะกว่าเดิมมากๆ (เทียบสัดส่วนต่อ GDP แล้วสูงขึ้น 10 เท่า เทียบกับยุค McKinley) ต่อให้ตั้งกำแพงภาษีแบบสูงชะลูด ก็ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการไม่เก็บภาษีเงินได้บุคคลเลยแบบในอดีต