in Economics, Politics

Universal Basic Income

ตามอ่านแนวคิดเรื่อง Universal Basic Income (UBI) มาได้สักพักใหญ่ๆ แล้วแต่ยังไม่ค่อยตกผลึกนัก ช่วงหลังมีการสนทนาเรื่อง UBI ในระดับโลกกันมากขึ้น และในไทยเองก็เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน

ล่าสุดมีเคสของเมือง Stockton ในแคลิฟอร์เนีย ที่ทดลองจ่ายเงิน UBI ให้กลุ่มคนมีรายได้น้อยเป็นระยะเวลานาน 2 ปี และผลที่ได้ออกมาดี รายละเอียดดูได้จากบทความใน The Atlantic

ผมคิดว่าเราสามารถ conceptualize แนวคิดและความจำเป็นของ UBI ออกมาเป็นหลักใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  • โลกยุคปัจจุบันมีปัญหาเรื่อง income equality มาก คนรุ่นปัจจุบันเป็นรุ่นแรกที่ “จน” กว่ารุ่นพ่อแม่ จนมีชีวิตที่ยากลำบากในทางเศรษฐกิจ ชีวิตบีบคั้น มีเงินเดือนชนเดือน ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามมีอุบัติเหตุ ฯลฯ (นี่ยังไม่นับรวมปัจจัย COVID ที่มาทีหลังด้วยซ้ำ)
  • เมื่อชีวิตมีความยากลำบากในทางเศรษฐกิจ ก็มีปัญหาอื่นตามมาอีกมาก เช่น หมดไฟ เป็นโรคซึมเศร้า เจ็บป่วย ความสามารถในการทำงานลดลง ฯลฯ มีผลกระทบต่อทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
  • ดังนั้น เราจึงต้องมี safety net บางอย่างคอยเป็นที่ให้คนเหล่านี้มีหลังพิง
    • ในแง่สุขภาพกาย ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Healthcare) ที่ประเทศไทยทำในยุค 30 บาท ก็พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง
    • ในแง่สุขภาพเศรษฐกิจ อันนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในเรื่องแนวทาง การมีรัฐสวัสดิการ (welfare state) หรือสวัสดิการโดยรัฐ (เช่น รถเมล์ฟรี ค่าไฟฟรี) ก็เป็นทางออกหนึ่ง
  • แต่คำว่ารัฐสวัสดิการนั้นมีความหมายกว้าง ก็ต้องตีความกันว่าควรมีอะไรบ้าง ในอีกแง่หนึ่ง การที่รัฐเข้าไปบริหารจัดการบริการหรือโครงสร้างพื้นฐานเอง ก็มีปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง ตั้งแต่ต้นน้ำอย่าง สวัสดิการนั้นตรงใจประชาชนจริงๆ หรือไม่ ไปจนถึงปัญหาปลายน้ำคือ คอร์รัปชันหรือความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
  • UBI จึงเป็นวิธีคิดมุมกลับกัน คือ แทนที่รัฐจะเป็นผู้จัดสรรเงินงบประมาณ แล้วมา “เลือก” ให้ว่าควรมีสวัสดิการอะไรดี ก็เอาเงินงบประมาณเหล่านั้นมาจ่ายให้ประชาชนไปเป็นคนตัดสินใจ “เลือก” เอาเองเลยว่าอยากได้สวัสดิการอะไร
  • มุมมองของ UBI จึงเป็นการเชื่อมั่นในประชาชนมากๆ ว่าโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความคิดของตัวเอง และมีสิทธิที่จะเลือกเอง (รัฐไม่เป็นคุณพ่อรู้ดีคิดให้) ประชาชนจะนำไปใช้หนี้ ไปซื้อหุ้น ซื้อเหล้าบุหรี่ ซื้อมือถือหรือรถกระบะ ก็สุดแล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน
  • แนวคิดแบบนี้จึงคล้ายๆ กับ “กองทุนหมู่บ้าน” ในอดีต ที่ให้เงินก้อนกับหมู่บ้านไปบริหารจัดการกันเอง (ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าเวิร์คซะเป็นส่วนใหญ่ หนี้เสียน้อย) เพียงแต่รอบนี้ให้เป็นกองทุนส่วนบุคคล ให้เป็นรายบุคคลไปแทน
  • ผลการทดลองของ Stockton ก็ค่อนข้างได้ผลออกมาดี คือ คนที่ได้เงินก็นำไปใช้อย่างเหมาะสม (ซึ่งคำว่าเหมาะสมก็ subjective อีกนั่นแหละ) แต่ที่ดีกว่านั้นคือ ไม่ว่าจะใช้เงินอย่างไรก็ตาม คนที่ได้เงินเหล่านี้มีชีวิตในเชิงบวกขึ้น มีความเครียดน้อยลง พอมีความเครียดน้อยลงก็มีเวลา มีพลังไปทำสิ่งที่สร้างสรรค์ ไปหางานที่ดีกว่าทำ ไปรักษาตัวให้หายป่วย ไปใช้หนี้ที่คั่งค้าง ฯลฯ
  • ประเด็นหนึ่งที่คนเถียงกันเยอะเรื่อง UBI คือ “ได้เงินฟรีแล้วไม่ทำงาน” (แนวคิดเดียวกับ “จนเครียดกินเหล้า”) ซึ่งผลการทดลองของ Stockton ก็ยืนยันแล้วว่าไม่จริง กลับเป็นว่าพอยิ่งมีเงิน (สำรองก้นกระเป๋าให้อุ่นใจ) ยิ่งอยากออกไปทำงาน

มาถึงตอนนี้แล้วก็เริ่มเชื่อมั่นว่า UBI มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ยิ่งในโลกยุคนี้ที่ภาครัฐทำอะไรก็ช้าไปหมดเมื่อเทียบกับความเร็วของโลกเอกชน และคนก็มีช่องทางมากมายในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ดังนั้น การให้ UBI จึงเหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกสมัยใหม่

คำถามถัดมาคงเป็นเรื่องรายละเอียดทางเทคนิค ว่าจะจัดสรร UBI อย่างไร ซึ่งก็มีอยู่หลายสูตร ที่แต่ละประเทศคงมีบริบทแตกต่างกันไป

  • ให้เงินใครดี? เป็นคำถามสำคัญที่สุดของนโยบาย Basic Income เพราะเป็นการเลือกที่สำคัญ
    • ถ้าเอาแบบง่ายที่สุดเลยคือ ให้ทุกคน (universal) เท่ากันอย่างถ้วนหน้า ลดปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม แต่ก็อาจมีงบประมาณไม่มากพอ
    • อีกสูตรหนึ่งก็อาจเป็นการให้คนที่มีรายได้น้อยก่อน มีแนวคิดเรื่อง Negative income tax (NIT) ที่ให้เงินกับคนรายได้น้อย (เสียภาษีติดลบ นั่นคือได้เงินแถมมาแทน) แต่ก็มีคำถามตามมาอีกว่า เส้นรายได้อยู่ตรงไหน แบ่งอย่างไรถึงแฟร์
  • ให้เงินเท่าไรดี? เป็นอีกคำถามโลกแตก มีตั้งแต่การให้เงินนิดหน่อย (เบี้ยคนชราไทย 600 บาท) หรือช่วยพอแค่ให้มีชีวิตอยู่ได้ (ซึ่งค่าครองชีพในแต่ละประเทศก็ต่างกันอีก) ไปจนถึงให้เงินในระดับเทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ
  • เอาเงินมาจากไหนจ่าย? อันนี้ตอบง่ายครับ ถ้าจะทำ UBI ต้องกลับไปคอนเซปต์ว่าเป็นการให้ประชาชนเลือกสวัสดิการด้วยตัวเอง ดังนั้นเงิน UBI ก็มาจากการตัดสวัสดิการอื่นบางอย่างออก รัฐเลิกทำ แล้วเอาเงินมาแจกจ่ายแทน
    • แต่ในรายละเอียดก็ยังมีคำถามอีกว่า สวัสดิการอะไรบ้างที่ควรตัด เช่น เบี้ยคนชราควรตัดไหมถ้ามี UBI แล้ว, โครงการอย่างคืนค่ามิเตอร์ไฟฟ้า ควรยกเลิกไหม? เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดมีมาก และคำตอบคงแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่สังคม
    • ตัดสวัสดิการอื่นแล้วอาจยังไม่พอ? เป็นไปได้ (แต่เมืองไทยนี่ตัดงบไร้สาระออกน่าจะเกินพอ) ทางแก้คือ ขึ้นภาษีในบางด้าน เช่น ภาษีคนรวย ภาษีสรรพสามิต ของฟุ่มเฟือย รวมถึง VAT ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบย่อมไม่พอใจ

นักการเมืองสหรัฐที่โดดเด่นในแง่นโยบาย UBI คือ Andrew Yang ที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2020 และกำลังลงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรี NYC ปี 2021 โดยชูนโยบาย UBI ทั้งสองรอบ

ส่วนในประเทศไทยตอนนี้ มีทางกลุ่ม CARE ของพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ในรูปของ Negative Income Tax อย่างน้อย 3,000 บาทต่อเดือน

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า UBI เป็นนโยบายที่ “เชื่อมั่นในมนุษย์” เชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีความคิดอ่านของตัวเอง มีเกียรติมีศักดิ์ศรีมากพอ

แน่นอนว่าย่อมมีบางคนในสังคมที่มัก abuse ระบบ แต่เรื่องไหนๆ ก็มีนี่ หากเราเชื่อว่า มนุษย์ควรมีอำนาจกำหนดชะตาทางการเมืองของตัวเอง (ผ่านการเลือกตั้ง ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน) และเราไม่เห็นว่าอะไรหากบางคนไม่ออกไปใช้สิทธิ เราก็น่าจะมองว่า มนุษย์ควรมีอำนาจกำหนดชะตาทางเศรษฐกิจของตัวเองเช่นกัน

ภาพประกอบจาก Pexels