in Politics, Technology

The Future of Election After COVID

ประเด็นร้อนในแวดวงการเมืองอเมริกัน ปลายเดือนพฤษภาคม 2020 คือ การแก้กฎหมาย (ระดับรัฐ) เพื่อให้สามารถเลือกตั้งทางไปรษณีย์ได้ เพราะเกรงว่าสถานการณ์ COVID-19 อาจทำให้คนไม่สามารถออกมาเลือกตั้งที่คูหาได้ในเดือนพฤศจิกายน 2020

เรื่องนี้ฝั่งคนต้าน Trump ออกมาสนับสนุนให้ทำได้ (ด้วยหลักคิดว่าคนไม่พอใจ Trump เยอะ ถ้าคนออกมาเลือกตั้งได้เยอะก็โค่น Trump ได้) ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุน Trump ก็ต่อต้าน (ด้วยหลักคิดเดียวกัน)

ประเด็นเรื่องอนาคตของการเลือกตั้ง (Future of Election) ว่าจะใช้การลงคะแนนแบบอื่นๆ แทนการมาเลือกตั้งที่คูหา (รวมถึงเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์แทนกระดาษที่คูหา) เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานมากแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้ข้อยุติ เพียงแต่ว่าปัจจัย COVID-19 น่าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น เพราะทุกฝ่ายถูกบีบให้ต้องมาคิดจริงๆ จังๆ ว่าจะแก้ปัญหาเรื่อง “คนออกไปเลือกตั้งไม่ได้” อย่างไรดี

วันก่อนนั่งฟัง Podcast Recode Decode สัมภาษณ์ David Plouffe ซึ่งเคยเป็น campaign manager ของ Obama ในปี 2008 และมีผลงานจับต้องได้ชัดเจนว่ามีส่วนช่วยให้ Obama ชนะเลือกตั้ง

Plouffe เป็นคนแรกๆ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการหาเสียงได้อย่างเห็นผล เขาเคยเขียนหนังสือเรื่อง The Audacity to Win เล่าถึงเบื้องหลังในช่วงนั้น ซึ่งผมก็เคยซื้อมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดของ Plouffe ด้วย

หลังจากเข้ามาทำงานในรัฐบาลโอบามาอยู่ช่วงหนึ่ง Plouffe ก็ลาออกไปทำเรื่องอื่นๆ มากมาย จนกระทั่งกลับมาในปี 2020 ด้วยการออกหนังสือที่ระบุชื่อกันโต้งๆ A Citizen’s Guide to Beating Donald Trump

หนังสือพูดเรื่องอะไรบ้าง ยังไม่แน่ใจเพราะไม่ได้ลองไปดู แต่ Plouffe พูดใน podcast ว่าสิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อโค่น Trump คือ ต้องทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้จริงๆ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม

รัฐธรรมนูญอเมริกากำหนดไว้ชัดว่าต้องมีการเลือกตั้งทุก 4 ปี ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หากมีเหตุจำเป็นให้เลือกตั้งไม่ได้ (เช่น โรคระบาดแบบครั้งนี้) ประธานาธิบดีคนเดิมจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระอยู่ดี (ไม่มีสิทธิเป็นต่อ) และประธานสภาผู้แทนราษฎร จะรักษาการแทน

Plouffe เน้นเรื่องการทำให้เลือกตั้งเกิดขึ้นมาก เขาเล่าย้อนว่าในตอนที่อเมริกามีสงครามกลางเมือง ก็ยังสามารถจัดการเลือกตั้งได้ (หมายถึงการเลือกตั้งปี 1864 ที่ลินคอล์นชนะเป็นสมัยที่สอง ก่อนโดนลอบสังหาร)

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Plouffe มองว่ามันไม่เมคเซนส์เลยในยุคปัจจุบัน ที่เราทำทุกอย่างจากมือถือได้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญๆ อย่างด้านการเงินหรือการแพทย์ แต่เรากลับยังไม่ยอมให้เลือกตั้งจากมือถือได้ อันนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจดี

คำถามของ Plouffe ถือว่าท้าทายอย่างมาก และมีความพยายามจัดการเลือกตั้ง รวมถึงการลงมติออนไลน์อยู่บ้างแล้ว (เช่น กรณีของเอสโตเนีย) แน่นอนว่ายังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก ทั้งเรื่องเทคนิค (ระบบการเลือกตั้งที่ปลอดภัย เชื่อถือได้) โครงสร้างพื้นฐาน (การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต) และมิติเชิงสังคม-วัฒนธรรม ฯลฯ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มคิดกันจริงจังแล้วเช่นกัน

เพิ่มเติม: หาข้อมูลเขียนบล็อกนี้ เลยพบว่า กกต. ไทยมีทดลองพัฒนาเครื่องลงคะแนนเลือกตั้ง เมื่อปี 2560 ด้วยเหตุผลเรื่องงบประมาณจัดการเลือกตั้งที่ต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก จึงพัฒนาเครื่องมาใช้ลดจำนวนคนที่ต้องใช้งาน โดยเครื่องต้นแบบราคาประมาณ 47,000 บาท แต่ไม่รู้ว่าหลังจากนั้นยังได้พัฒนาต่อหรือจบโครงการไปแล้วก็เลิกกันไป

แน่นอนว่า กกต. ไทยมีอะไรก้าวหน้าแบบ voting machine ก็ต้องมีอะไรตามขนบหน่วยราชการยุคใหม่แบบนี้ด้วย

ภาพหีบบัตรจากเว็บไซต์ กกต.