in Politics

The End of Pax Americana

หมายเหตุ: ลองใช้ Bing Image Creator สร้างภาพ “Captain America แพ้” แล้วออกมาสวยดี เลยนำมาใช้เป็นภาพประกอบบทความ

อ่านงานเขียนของ Noah Smith บล็อกเกอร์ด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่ติดตามมานาน เขากล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดในอิสราเอล ที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอีกครั้งเนื่องในโอกาสครบ 50 ปีของ Yom Kippur War ในปี 1973 (สงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลครั้งที่ 4 ซึ่งก่อนหน้านั้นคือ สงคราม 6 วันในปี 1967)

แต่ในบทความนี้ Noah Smith ไม่ได้โฟกัสไปที่อิสราเอล เขายกเคสอิสราเอลขึ้นมา โดยใช้ชุดคำอธิบายว่ามันเกิดขึ้นเพราะอำนาจของอเมริกาเสื่อมถอยลง

คำว่า Pax Americana ถูกใช้กันมานานแล้วในวงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มันหมายถึงภาวะโลกที่มีอเมริกาเป็นผู้นำเดี่ยว เป็นพี่ใหญ่ในทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร นวัตกรรม

คำว่า Pax Americana เป็นภาษาละติน แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า American Peace โดยตั้งขึ้นเพื่อเลียนแบบคำว่า Pax Romana ในยุคโรมันเรืองรอง และ Pax Britanica ในยุคที่อังกฤษเป็นเจ้าโลก

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และยิ่งโดยเฉพาะยุคหลังสงครามเย็นที่โซเวียตล่มสลาย อเมริกากลายเป็นผู้นำเดี่ยวของโลก โลกเราในช่วงนั้นอยู่ในสภาวะสันติสุขอันยาวนาน (The Long Peace) ความขัดแย้งย่อยๆ ระหว่าง 2 ประเทศ หรือสงครามกลางเมืองก็ตาม ลดลง จำนวนคนตายจากสงครามลดลงมาก

Death rate in state-based conflicts by conflict type, World, 1946 to 2020 – source

คำอธิบายว่าภาวะ Long Peace เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นมีหลากหลาย มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจดี คนเลยไม่อยากสู้กัน, การเมืองดี นักการเมืองบ้าอำนาจ บ้าสงครามมีน้อยลง, การต่างประเทศดี มีหน่วยงานนานาชาติเข้ามาช่วยประสานความขัดแย้งมากมาย ฯลฯ

แต่ชุดคำอธิบายของ Smith ตรงไปตรงมากว่านั้น เขามองว่าเป็นเพราะ “อเมริกาทำหน้าที่เป็นตำรวจโลก” เมื่อใดมีความขัดแย้งที่กำลังจะก่อตัวเป็นสงคราม เมื่อนั้นอเมริกาจะเข้ามาแทรกแซง (แบบที่เราเห็นในหนังแอคชั่นอเมริกัน cliché ทั่วไป)

แม้คนในประเทศอื่นๆ อาจไม่ชอบที่อเมริกาเข้ามาเป็นตำรวจโลก แต่มันก็ช่วยหยุดยั้งความสูญเสียในวงกว้างได้จริง ตัวอย่างที่ชัดๆ คือ สงครามเกาหลี (1950) สงครามอ่าวเปอร์เซีย (1991) สงครามโคโซโว (1999)

ถึงแม้อาจมีบางเคสที่อเมริกาไม่ประสบความสำเร็จและต้องถอนตัวมาอย่างเจ็บช้ำ คือสงครามเวียดนาม แต่ Smith ก็ชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ตายในชาร์ทข้างต้นพุ่งเยอะในช่วงปี 1960-1970s นั้นเป็นเพราะว่าอเมริกาไปติดหล่มสงครามเวียดนามอยู่ ไม่มีทรัพยากรไปเป็นตำรวจโลกที่อื่น ทำให้ความขัดแย้งปะทุกลับขึ้นมาใหม่ได้ง่ายกว่า

ประเด็นสำคัญที่ Smith ต้องการสื่อคือ Pax Americana เสื่อมถอยลงมากแล้ว ทั้งจากปัจจัยความเสื่อมถอยของอเมริกาเอง ที่ไปติดหล่ม สงครามอัฟกานิสถาน (2001) สงครามอิรัก (2003) และเจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (2008) และปัจจัยเรื่องคู่แข่งในระดับสากลคือ จีน รุ่งเรืองขึ้นมาแข่งบารมีด้วย (Beijing Consensus vs Washington Consensus) โดยเฉพาะในเรื่องศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิต (Three New World Orders)

ความเสื่อมถอยของ Pax Americana ทำให้ตำรวจโลกไม่มีแรงทำงานแบบเดิม (Biden Doctrine เลิกยุ่งเรื่องชาวบ้าน) สงครามย่อยๆ เฉพาะจุดกำลังกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียที่เราทราบกันดี, สงครามระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย ที่กำลังปะทุขึ้นมาใหม่ (เคยโดนรัสเซียขวางเอาไว้ แต่พอรัสเซียไปทำสงครามกับยูเครน อาเซอร์ไบจานเลยเตรียมซัดต่อ และอาร์เมเนียไม่สามารถพึ่งพาอเมริกาให้ช่วยได้ทัน)

และเคสล่าสุดคือ ความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่มีคำอธิบายว่ากลุ่มฮามาสต้องการขัดขวางสัญญาสันติภาพระหว่างอิสราเอล-ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีอเมริกาช่วยสนับสนุนมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทรัมป์

Smith บอกว่าโลกเรากำลังเปลี่ยนจากยุคที่มีระเบียบโลกชัดเจน มีอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ เป็นตำรวจโลก เมื่ออิทธิพลของอเมริกาลดลง บางพื้นที่ในโลกมีสภาพเป็นป่า (jungle) ใครมีกำลังเหนือกว่าจะไล่ล่าผู้อ่อนแอกว่า ความขัดแย้งเก่าๆ ที่เคยหยุดไป ความแค้นเดิมๆ กำลังจะกลับมาชำระกันอีกครั้ง

พื้นที่หลายแห่งในโลก เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง รอบประเทศรัสเซีย กลับมามีสงคราม แต่ Smith ชี้ว่าให้จับตาเอเชีย เพราะภัยคุกคามจากจีนทำให้ประเทศแถบเอเชียหันมาสะสมอาวุธกันใหม่ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน หรือแม้แต่ออสเตรเลีย

Smith ปิดท้ายบทความว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราวิพากษ์วิจารณ์อเมริกาว่าเป็นตำรวจโลก เย่อหยิ่งยะโส ไปยุ่งกับชาวบ้านเขาไปทั่ว และเราเรียกร้องหา “โลกหลากขั้ว” (multipolar world) ซึ่งตอนนี้เรากำลังได้สิ่งนั้นแล้ว แต่เขาก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิมจริงหรือไม่