in Knowledge

อัตลักษณ์ไทย และชาติไทย

ย้อนอ่านบทความของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ สองชิ้น ที่พูดเรื่องความเป็นชาติและอัตลักษณ์ของคนไทย

อัตลักษณ์นั้นมีความเป็นไดนามิกสูง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของคนไทยไม่น้อย อัตลักษณ์ไม่ใช่คุณลักษณะที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด ยกเว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ เช่น จมูกแฟบ, โหนกแก้มสูง, ผิวสีน้ำผึ้ง ฯลฯ (ซึ่งปัจจุบันก็ถูกปรับแก้ได้ด้วยเวชกรรมความงาม) ที่สำคัญกว่าก็คือภาษา, มารยาท, การแต่งกาย ฯลฯ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็น “เครื่องหมาย” ที่สังคมสร้างและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เครื่องหมายเหล่านี้ช่วยบอกคนอื่นว่าเราคือใคร และบอกตัวเองว่าเราคือใคร มากเสียยิ่งกว่ารูปร่างหน้าตา

ดังนั้น อัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งสร้างทางสังคมหรือ Social Construct อย่างหนึ่ง

ในอดีต สังคมเมืองมีความหลากหลายสูง มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันมาก คนในเมืองจึงรวมกลุ่มกันตามอัตลักษณ์ เพื่อต่อรองอำนาจกับคนกลุ่มอื่นๆ

คนปักษ์ใต้หรือคนอีสานมีสมาคมของตนเอง คนในอาชีพขี่สามล้อก็มีสมาคมสามล้อ คนเชื้อสายญวน, มอญ, เขมร, ทวาย ฯลฯ ในกรุงเทพฯ ยังจัดพิธีกรรมของตนในละแวกทุกปี ไม่พูดถึงประเพณีเฉพาะ และอาหารเฉพาะ ซึ่งยังปฏิบัติและปรุงกันในละแวกนั้นๆ แสดงอัตลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ในเมืองใหญ่

สมาคมศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนดังๆ ก็มักมีอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วไป ด้วยการอุดหนุนของสถานทูตต่างๆ สมาคมศิษย์เก่าอังกฤษ, อเมริกัน และฝรั่งเศส ยังมอบอัตลักษณ์ของ “ชนชั้นสูง” ให้แก่สมาชิก

แต่หน้าที่ของ “อัตลักษณ์” แบบเดิม ใช้ไม่ได้แล้วกับยุคสมัยใหม่

แต่อัตลักษณ์ที่มาจากความเฉพาะเหล่านี้หมดหน้าที่ลง ที่ทำการสมาคมของคนจากภาคต่างๆ ถูกให้เช่าหรือขายไปหมดแล้ว แม้แต่สมาคมของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยบางแห่งก็หายไป หรือถึงมีอยู่ก็ให้เขาเช่าทำร้านอาหาร ดูเหมือนสมาคมศิษย์เก่านักเรียนนอกก็ไม่มีกิจกรรมใดๆ อีกแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออัตลักษณ์เฉพาะเหล่านี้แทบไม่มีหน้าที่หรือบทบาทในความสัมพันธ์ทางสังคม

ความหลากหลายทางอัตลักษณ์หายไป เพราะถูกดูดกลืนไปหมด

ชีวิตของชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่มในประเทศไทย คงจะถูกผนวกรวม (incorporate) เข้ามาในสังคมไทยจนกลืนหายไปนานแล้ว ถ้าฝ่ายความมั่นคงไม่คอยกีดกันมิให้เขาได้สิทธิพลเมือง เพราะแทบไม่มีชนกลุ่มน้อยกลุ่มใดอยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยรายได้จากการรับจ้างในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งในฐานะคนงานก่อสร้าง หรือแรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซ้ำบุตรหลานยังถูกส่งเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนของรัฐ กินขนมกร๊อบแกร๊บเหมือนเด็กทั่วไป และพูดภาษาไทยคล่องจนไม่สามารถพูดภาษาของเผ่าพันธุ์ตนเองได้เสียแล้ว

เหตุผลก็เพราะ ความฝันของรัฐไทยสมัยใหม่ พยายามรวมคนหลายๆ ชาติพันธุ์เข้ามาอยู่ภายใต้คอนเซปต์ “ความเป็นไทย” ซึ่งที่ผ่านมาหลายทศวรรษถือว่าทำได้สำเร็จมาก (จาก “เจ๊กอั้งยี่” กลายเป็น “ลูกจีนรักชาติ”)

ความใฝ่ฝันของรัฐไทยซึ่งมีมานานตั้งแต่เราเริ่มสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้น คือการผนวกเอาผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ให้เข้ามารวมอยู่ใน “ความเป็นไทย” ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ได้บรรลุเป้าหมายอย่างแทบจะไม่ทันได้รู้สึกตัว ปัญหาของรัฐไทยเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ชาติพันธุ์อันหลากหลายของพลเมืองเสียแล้ว แต่อยู่ที่ “ความเป็นไทย” ที่คนไทยจำนวนมากเข้าใจและใฝ่ฝันกลับไม่ตรงกับที่รัฐไทยต้องการต่างหาก

อ.นิธิ ขยายความเรื่องนี้ในบทความอีกชิ้น ว่าชัยชนะของปีกทหารในคณะราษฎร ทำให้เกิดการสร้าง “ชาติไทย” สมัยใหม่ที่อิงอยู่กับชาติพันธุ์ไท-ไต (ซึ่งก็เป็นชาติพันธุ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นในเชิงวิชาการอีกที)

หลัง 2475 จนถึงรัฐประหาร 2490 แกนนำคณะราษฎรช่วงชิงกันนิยามชาติในสองความหมาย ฝ่ายหนึ่งยังอิงอยู่กับชาตินิยมแบบ ร.6 แต่ลดความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ลงไป ส่งเสริมการเขียนประวัติศาสตร์ที่เน้นอานุภาพทางการเมืองและการทหารของ “ชาติ” ไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ โดยเน้นย้ำบทบาทสำคัญให้อยู่กับชาติพันธุ์ไท-ไต อีกฝ่ายหนึ่งถือว่าชาติคือประชาชน และพยายามผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน รวมทั้งขยายบทบาทและอำนาจทางการเมืองของประชาชนด้วย

ฝ่ายแรกซึ่งมีกองทัพหนุนหลังได้โอกาสการนำสูงกว่า และหลังรัฐประหาร 2490 ก็สามารถขจัดฝ่ายหลังออกไปจากวงการเมืองได้เกือบสิ้นเชิง และด้วยเหตุดังนั้น “ชาติไทย” สืบต่อมาอีกหลายทศวรรษ จึงเป็นชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไตมากกว่าของประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นพลเมือง

แต่เศรษฐกิจแบบเปิด ก็ทำให้มีผู้อพยพใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะเชื้อชาติจีน

การเปิดเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบเสรีนิยมในต้นทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ทำให้พลเมือง “เชื้อสาย” อื่น โดยเฉพาะจีน เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่มากขึ้น ทำให้การกีดกันพลเมืองกลุ่มนี้ออกไปจากการเมืองทำได้ยากขึ้น จนในที่สุดก็หลุดออกไปจากการถูกเลือกปฏิบัติ ในขณะที่พลเมืองซึ่งยังไม่อาจเข้าสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ได้เต็มที่ ยังต้องตกเป็นพลเมืองชั้น 2, 3 ต่อไป

โมเดลการรวมชาติของไทย ใช้เครื่องมือสองอย่างคือ การใช้สถาบันหลักของชาติ (บารมีของสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล ฯลฯ) และความเป็นชาติพันธุ์ “ไทย” เป็นแกนกลาง ซึ่งประสบความสำเร็จในยุคก่อน แต่กลับไม่เวิร์คแล้วในยุคสมัยใหม่

ความเป็นชาติของไทยกำลังเปลี่ยน ชาติที่รวมตัวกันภายใต้บารมีของสถาบันหลักแห่งชาติก็ตาม ชาติที่อาศัยชาติพันธุ์หลักคือไทยเป็นแกนกลางให้ผู้คนรวมตัวกันเข้ามาก็ตาม ไม่ได้อยู่ในจินตนาการของคนรุ่นใหม่ไปเสียแล้ว ชาติในทัศนะของเขา กลายเป็นฐานอันแข็งแกร่งเพื่อรองรับระบบคุณค่าประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ, ความเท่าเทียม, ความยุติธรรม เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ในการบริหารสาธารณะ ก็เรียกร้องประสิทธิภาพ, ความซื่อสัตย์ และความสำเร็จเป็นความอยู่ดีกินดีของประชาชน ซึ่งชาติแบบเดิมไม่เคยมอบให้ได้เลย บางส่วนของความใฝ่ฝันเหล่านี้ ก็เป็นที่ต้องการของกลุ่มที่ไม่เรียกตนเองว่าเป็นรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน

หากดูจากความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ แม้แต่ตัดส่วนที่เป็นคุณค่าประชาธิปไตยออกไป ชาติภายใต้สถาบันหลักก็ตาม ชาติเชิงชาติพันธุ์ก็ตาม ไม่อาจตอบสนองได้เสียแล้ว ไม่ใช่ขัดข้องเชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่รัฐชาติในความหมายทั้งสองอย่างนั้นได้เดินมาถึงจุดเสื่อมจนไร้พลังจะตอบสนองได้อีกเลย

ในยุคของทศวรรษ 2560s อัตลักษณ์เรื่องเชื้อชาติไม่ใช่ประเด็นอีกแล้ว แต่กลายเป็นเรื่อง ความคิดทางการเมืองแทน

ความคิดทางการเมือง หรือจุดยืนทางเศรษฐกิจ อาจไม่เคยเป็น “เครื่องหมาย” สำคัญในอัตลักษณ์ของคน (ยกเว้นในหมู่ชนชั้นนำจำนวนน้อย) แต่ในปัจจุบันทั้งสองอย่างกลายเป็น “เครื่องหมาย” สำคัญของอัตลักษณ์ไปแล้ว คุณเป็นสามกีบหรือคุณเป็นสลิ่ม ต้องชัดออกมาอย่างน้อยในพื้นที่สาธารณะ (และบางครั้งลามเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวเช่นการคบหาเพื่อนหรือในครอบครัวด้วย)

การปะทะกันของอัตลักษณ์ จึงเปลี่ยนจากเชื้อชาติ มาเป็นเรื่องความคิดของคนต่างยุคสมัย (generation)

กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “คนรุ่นใหม่” แสดงอัตลักษณ์ของตนในที่สาธารณะ ซึ่งแตกต่างและไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมไทยสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง ในด้านหนึ่ง อัตลักษณ์ที่แตกต่างเช่นนี้ดึงดูดความนิยมจาก “คนรุ่นใหม่” อื่นๆ ทั้งประเทศ เพราะเป็นอัตลักษณ์ที่ตรงกับโลกทัศน์และคุณค่าที่ตนเห็นพ้องมานานแล้ว จึงทำให้ได้รับแรงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นบาดหูบาดตาแก่คนอื่นที่ไม่ได้เปลี่ยนโลกทัศน์และคุณค่าไปไกลถึงเพียงนั้น

การปะทะกันของอัตลักษณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ อ.นิธิ ยกตัวอย่างกรณีของ “นักเรียนเลว” ที่ปะทะกับภาพจำของ “นักเรียนดี” ในสายตาคนรุ่นก่อน

กลุ่มเยาวชนที่เรียกตนเองว่า “นักเรียนเลว” อาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาแสดงความรอบรู้อย่างที่นักเรียนไม่เคยถูกคาดหวังเช่นนี้มาก่อน และล้วนเป็นความรู้ที่อยู่นอกหลักสูตรทั้งสิ้น การศึกษาสำหรับพวกเขากลายเป็นการแสวงหาความรู้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่ใช่การฝึกทักษะที่กำหนดมาให้อย่างแคบๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง สัมมาคารวะในหมู่พวกเขา ไม่จำเป็นต้องให้แก่กลุ่มคนที่มีสถานภาพทางสังคมและการเมืองสูงกว่าเขา แต่ต้องอาศัยสิทธิเป็นเกณฑ์

ข้อเสนอของ อ.นิธิ คือเรากำลังอยู่ในระหว่าง “การต่อรอง” เรื่องอัตลักษณ์กันใหม่ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้

เราอาจมองความขัดแย้งในเมืองไทยเวลานี้ว่าเป็นความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์ก็ได้ เพราะสังคมเปลี่ยนไป ทำให้คนทุกกลุ่มต้องต่อรองอัตลักษณ์กันใหม่ จากลักษณะเฉพาะที่ถูกควบคุมให้อยู่ใน “ความเป็นไทย” ร่วมกัน กลายเป็นลักษณะเฉพาะที่จะอยู่ร่วมกันได้ ก็ต่อเมื่อ “ความเป็นไทย” ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เปิด อนุญาตให้มีความแตกต่างหลากหลายภายในได้อย่างไม่จำกัด มีแต่กติกาหลวมๆ ที่คุมมิให้ความแตกต่างหลากหลายนั้น นำไปสู่การใช้ความรุนแรงใส่กัน