in Knowledge

รากศัพท์คำว่า “สถาน”

โลกเรามีประเทศที่ลงท้ายชื่อด้วยคำว่า “สถาน” (stan) อยู่หลายประเทศ ที่คุ้นหูหน่อยก็อย่างเช่น ปากีสถาน อัฟกานิสถาน แล้วก็มีกลุ่มประเทศแถวเอเชียกลางที่เป็นของโซเวียตเก่าอีกชุดใหญ่ เช่น อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน ฯลฯ

ในฐานะคนไทย เราเข้าใจความหมายของชื่อประเทศเหล่านี้ได้ทันที เพราะในภาษาไทยมีคำว่า “สถาน” อยู่แล้ว และมีความหมายเดียวกันคือแปลว่า “ที่ตั้ง” เช่น คำว่า สถานที่ สถานบูชา สถานี

คำถามคือ ประเทศไทยกับประเทศย่านเอเชียกลางเหล่านี้ อยู่ห่างไกลกันไม่น้อย และแทบไม่มีการติดต่อสื่อสารใดๆ ระหว่างกัน ทำไมถึงใช้คำที่มีความหมายเดียวกันได้

เรื่องนี้ตอบไม่ยากนัก เพราะคำว่า “สถาน” ในภาษาไทย มาจากคำว่า “สถาน” ในภาษาสันสกฤต (स्थान)

ภาษาพูดภาษาเขียนส่วนใหญ่ในแถบทวีปเอเชีย-ยุโรป ล้วนแล้วแต่เป็นเครือญาติกันหมด โดยอยู่ในตระกูลใหญ่ที่มีชื่อเรียกตามยุคปัจจุบันว่า “Indo-European” ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่มีคนใช้งานเยอะที่สุดในโลก (ประมาณ 42% ของประชากรโลก)

คาดกันว่าต้นกำเนิดของภาษากลุ่ม Indo-European มาจากอารยธรรมโบราณในยุค 2-3 พันปีก่อนคริสตกาลชื่อว่า Yamnaya (อยู่แถวๆ ประเทศยูเครนในปัจจุบัน) แล้วก็ค่อยๆ กระจายตัวออกไปทั้งฝั่งเอเชียและยุโรป ทำให้ภาษาต่างๆ ในย่านนี้เป็นเครือญาติกันหมด

ที่มา – Wikipedia

ภาษาตระกูล Indo-European ก็แตกลูกแตกหลานออกไปมากมาย มีทั้งฝั่งเอเชียใต้ก็คือ Indo-Iranian (อินเดีย/อิหร่าน) และฝั่งยุโรป เช่น Hellenic (กรีก), Italic (ยุโรปใต้ อิตาลี ละติน ฝรั่งเศส สเปน), Germanic (ยุโรปเหนือ เยอรมัน อังกฤษ รวมถึงภาษา Celtic ที่พูดบนเกาะอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์), Slavic (ยุโรปตะวันออก รัสเซีย โครเอเชีย)

คำว่า “สถาน” ในแถบเอเชียกลาง มาจากภาษาย่อยกลุ่ม Indo-Iranian โดยเฉพาะสายย่อย Iranian เพราะแถบเอเชียกลางอยู่ติดกับอิหร่าน และได้อิทธิพลจากภาษาเปอร์เซีย ส่วนคำว่า “สถาน” ในไทย ก็มาจากภาษาสันสฤตซึ่งเป็นภาษากลุ่ม Indo-Aryan อีกสายย่อยหนึ่งนั่นเอง (พูดง่ายๆ คือเป็นภาษาของเผ่าอารยัน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ที่ไม่ใช่เผ่าทมิฬทางตอนใต้)

หมายเหตุ: ภาษาไทยเป็นภาษาในตระกูล ไท-กระได (Kra-Dai หรือ Tai-Kradai) ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวประเทศไทยและจีนตอนใต้ (ไทใหญ่-ไทย) แต่ได้อิทธิพลมาจากคำในภาษาสันสกฤตก็มาก

ที่มา – Wikipedia

ความหมายที่เหมือนกันของคำว่า “สถาน” ในภาษาสันสกฤตหรือภาษาเปอร์เซีย คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ ภาษาของฝั่งยุโรป ก็มีคำที่มาจากรากศัพท์คำเดียวกันอยู่มาก เช่น

  • State (อังกฤษ)
  • Status (ละติน)
  • Stadi (เยอรมัน)

ส่วนในภาษาสาย Slavic (เผ่าสลาฟ) ก็มีคำว่า “stan” ตรงๆ ซึ่งแปลว่าการตั้งถิ่นฐาน

รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้จาก Wikipedia