in Business, Technology

Silicon Valley’s Magical Thinking

บทความใน L.A. Times อธิบายเรื่องการประท้วงของกลุ่มนักแสดง-คนเขียนบทในฮอลลีวู้ด ด้วยการเปรียบเทียบว่า ฮอลลีวู้ด (อุตสาหกรรมบันเทิง) กำลังพยายามเดินตามรอยของ Silicon Valley (อุตสาหกรรมไอที) ด้วยการก็อปวิธีคิดแบบ Silicon Valley มาใช้งาน

วิธีคิดแบบนี้เรียกว่า Magical Thinking ซึ่งยังนึกคำแปลภาษาไทยที่ตรงบริบทไม่ได้ ขอใช้ภาษาอังกฤษไปเลย

ผู้เขียนให้นิยามว่า Magical Thinking เป็นวิธีคิดของ Silicon Valley ทศวรรษ 2010s ที่เห็นความสำเร็จของบริษัทยุค 2000s อย่าง Google, Amazon, Apple ที่ใช้พลังเทคโนโลยีล้ำสมัย บวกพลังเงินจากนักลงทุน สามารถเข้ามา disrupt วงการต่างๆ ทำลายธุรกิจเก่า สร้างเป็นโมเดลธุรกิจยุคใหม่ (เช่น marketplace, ads) ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด (hypergrowth) และทำเงินมหาศาล

ทศวรรษ 2010s อยากสร้างสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่ “กดสูตร” แบบเดียวกัน แต่ไป disrupt วงการอื่นๆ บ้าง จึงเกิดเป็นบริษัทอย่าง

  • Uber/Lyft เปลี่ยนแปลงวงการขนส่ง
  • WeWork เปลี่ยนแปลงวงการอสังหา
  • Theranos เปลี่ยนแปลงวงการทดสอบเลือด

บริษัทเหล่านี้มีจุดจบไม่ดีนัก ทั้งในแง่การเงิน (Uber ขาดทุน, WeWork เกือบล้มละลาย, Theranos ฉ้อโกง) แต่แนวคิด Magical Thinking ยังคงอยู่

บริษัทสายบันเทิงที่สมาทานแนวคิดนี้คือ Netflix ที่พยายามปฏิวัติวงการบันเทิงแบบเดิมๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสตรีมมิ่ง (direct-to-consumer โดยตรง ลัดกระบวนการโรงหนัง) ใช้พลังเทคโนโลยีที่เหนือกว่าใคร และใช้พลังเงินจากนักลงทุน เอามาสร้างคอนเทนต์ของตัวเองมูลค่าแพงมหาศาล (เช่น House of Cards ในยุคแรก) ทำให้วงการบันเทิงฮอลลีวู้ดต้องปั่นป่วน

ความสำเร็จของ Netflix กลายเป็น “สูตร” ที่บริษัทอื่นๆ อยากดำเนินรอยตาม ทั้งบริษัทบันเทิงแบบ Disney, Warner (HBO), Paramount และบริษัทไอทีอย่าง Apple, Amazon ต่างอยากทำสตรีมมิ่งที่ประสบความสำเร็จแบบ Netflix บ้าง มันเลยเกิดอาการ gold rush เข้าสู่วงการสตรีมมิ่ง ผลิตคอนเทนต์ตามมา

แต่ Netflix เองก็สมาทาน “magical thinking” แบบ Silicon Valley มาด้วย นั่นคือ การรักษาข้อมูลเป็นความลับธุรกิจ อัลกอริทึมหรือสถิติคือความลับสุดยอด เมื่อโยงกับโมเดลธุรกิจที่เชื่อมต่อลูกค้าโดยตรง ไม่ต้องพึ่งพาพาร์ทเนอร์กลางทาง (แบบช่องทีวี โรงหนัง หรือร้านขายแผ่น) ทำให้ Netflix ไม่จำเป็นต้องแชร์ข้อมูลตรงนี้ให้ใครเลย นักแสดง คนเขียนบท ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าค่าตัว ค่าตอบแทนที่เหมาะสมของตัวเองคือเท่าไร

ในยุคที่อะไรๆ ก็ดีอยู่คงไม่เป็นปัญหา ทุกคนได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า แต่เมื่อธุรกิจประสบปัญหา Netflix มีปัญหายอดสมาชิกลดลง หุ้นตก ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ บีบให้เลิกแชร์รหัสผ่าน เพิ่มแพ็กเกจแบบมีโฆษณา ฯลฯ และที่สำคัญคือ ลดค่าใช้จ่าย (ซึ่งสตรีมมิ่งทุกรายทำกันหมด) จนกระทบกับค่าจ้างของเหล่าแรงงานในฮอลลีวู้ด กลายเกิดเป็นประท้วงแบบที่เราเห็นกัน

(ถ้าจะเอาไปไกลกว่านั้นอีกคือ แผนการร้ายที่ต้องการแทนที่นักแสดงและคนเขียนบทด้วย AI วิธีคิดแบบ Silicon Valley เต็มขั้น)

ทั้งหมดนี้คงไม่สามารถตัดสินได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและควรจะเป็น (ในโลกยุคนี้มันมีคำตอบที่สามารถฟันธงแบบนั้นได้ด้วยหรือ) แต่นำมาเขียนบันทึกไว้ เพราะเป็นวิธีการมองและวิเคราะห์ปัญหาที่น่าสนใจดีมาก

ภาพประกอบ: “disney magical kingdom in scifi futuristic The Matrix digital rain style”  สร้างด้วย Dall E