in Politics, Technology

Problems of Making Chips in USA

ภาพโรงงาน TSMC ใน Arizona – TSMC LinkedIn

Noah Smith บล็อกเกอร์สายเศรษฐกิจที่ติดตามอยู่ เขียนเรื่องแผนการสร้างโรงงานชิปในสหรัฐอเมริกา ตามนโยบายและกฎหมาย Chips Act ว่ามีปัญหาและข้อจำกัดอย่างไร

ตัวเลขของ Morris Chang ผู้ก่อตั้ง TSMC ระบุเองว่าการสร้างชิปในอเมริกาจะมีต้นทุนแพงกว่าในไต้หวัน 50%

ต้นทุนที่แพงมีสาเหตุจาก

  • ตลาดแรงงานในอเมริกาเอง สูญเสียความเชี่ยวชาญในการผลิตสิ่งของบางประเภท (เช่น ไมโครชิป) ไปเรียบร้อยแล้ว  ดังนั้นต่อให้ TSMC ย้ายวิศวกรที่ “เป็นงาน” จากไต้หวันเข้ามา ก็ต้องจ่ายเงินเดือนในเรตอเมริกาที่แพงกว่าสองเท่า
  • จากมุมมองของ TSMC วัฒนธรรมการทำงานของคนอเมริกัน ก็ไม่สู้งานหนักเท่ากับคนไต้หวัน (ถกเถียงกันได้ว่าจริงแค่ไหน) แต่ที่แน่ๆ คือเงินเดือนแพงกว่า
  • การอิมพอร์ตคนเก่งๆ เข้ามาทำงานในอเมริกา ยังเจอปัญหาเรื่องวีซ่า และนโยบายต่อต้าน “คนต่างด้าว” ที่เริ่มมาตั้งแต่ยุค Trump แถมในอีกด้าน กลุ่มหัวก้าวหน้า progressive ถึงแม้ความคิดตรงข้ามกับ Trump แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับแรงงานท้องถิ่นอเมริกันมากกว่า (แพงกว่า ทักษะน้อยกว่า)
  • ต้นทุนค่า regulatory ในการสร้างโรงงาน ที่ให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นในการกำหนดเกณฑ์เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้กระบวนการตั้งโรงงานล่าช้า มีต้นทุนมากขึ้น
  • ตัวนโยบายของรัฐบาลกลางเองคือ Chips Act ถึงแม้ให้เงินจูงใจมาตั้งโรงงานผลิตชิป แต่ก็มีเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นๆ มากมาย เช่น กำหนดให้โรงงานที่มาตั้งต้องมีสัมพันธ์กับหน่วยงานไม่หวังผลกำไรอื่นๆ ด้วย

Smith บอกว่าถึงมีแพ็กเกจเงินสนับสนุนก้อนใหญ่จาก CHIPS Act แต่มันก็ไม่ง่ายเลย เป็น massive uphill battle ที่อเมริกาต้องดันต่อกันอีกนาน

Smith เสนอโซลูชันว่า ทำไมเราไม่ตั้งเป้าไปตั้งโรงงานผลิตชิปในแคนาดาแทนล่ะ? เพราะแก้ปัญหาได้หลายข้อเลย

  • ภาคกลางของแคนาดา ไม่ได้อยู่บนรอยต่อเปลือกโลก ไม่มีปัญหาแผ่นดินไหว (เพิ่งรู้จักคำนี้ Canadian Shield ชั้นหินที่ปกป้องแคนาดาตอนกลาง รอบอ่าวฮัดสัน)
  • แคนาดาอยู่ติดกับอเมริกาเลย มีสัมพันธ์อันดีต่อกันอยู่แล้ว ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคง โรงงานผลิตชิปยังอยู่บนแผ่นดินอเมริกาเหนือ ไม่ใกล้จีน
  • ต้นทุนค่าที่ดินถูกกว่าในอเมริกา ต้นทุนค่าขอใบอนุญาตก็ถูกกว่า ง่ายกว่า เพราะปฏิรูปกระบวนการยุ่งยากไปแล้ว
  • การกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำจากระดับประเทศได้เลย ไม่ต้องพึ่งพาท้องถิ่น
  • ค่าแรงคนสายเทคโนโลยีของแคนาดาถูกกว่าในสหรัฐอเมริกา ถ้า TSMC อิมพอร์ตคนไต้หวันเข้ามาก็จ่ายในเรตแคนาดาที่ถูกกว่า
  • นโยบายเรื่องผู้อพยพเปิดกว้างกว่า ถือเป็นประเทศที่มีนโยบายนี้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสังคมแคนาดาก็เปิดรับคนต่างชาติมากกว่าในสหรัฐ
  • ปัญหาของแคนาดาคือ ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่อเมริกาก็มีปัญหานี้เหมือนกัน

แน่นอนว่า การตั้งโรงงานชิปในแคนาดา ไม่ตอบโจทย์ทางการเมืองของนักการเมืองสหรัฐ เรื่องชาตินิยม เรื่องการสร้างงานให้คนอเมริกัน ดังนั้น นักการเมืองอเมริกาไม่มีทางเอาด้วยอยู่แล้ว แต่ถ้านักการเมืองอเมริกาอยากจูงใจ TSMC ให้มากกว่านี้ ก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องใบอนุญาต เรื่องกระบวนการออกวีซ่า รับคนต่างชาติเก่งๆ เข้ามาให้ได้โดยเร็ว