in Books

Origins: How the Earth Shaped Human History

ในฐานะผู้สนใจเรื่องภูมิศาสตร์ (geography) และภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ก็มีคำถามในใจตลอดมา ในประเด็นว่าภูมิศาสตร์ (เช่น ภูเขา ทะเลทราย แม่น้ำ ทะเล) มีผลต่อสภาพการเมือง สังคม วัฒนธรรม ของคนในแต่ละพื้นที่อย่างไร

คำถามข้อหนึ่งที่ผมสงสัยมานานมาก คือทำไมขอบเขตแผนที่ของยุโรปถึงหยุดอยู่แถวๆ โมร็อกโก ตั้งแต่ยุคกรีก-โรมันแล้วไม่ไปต่อ ทำไมคนยุโรปถึงไม่สามารถล่องเรือ เดินทางเลาะตามชายฝั่งแอฟริกาเพื่อมาหา “โลกใหม่” ตั้งแต่สองพันปีก่อน ทำไมต้องรอถึงยุคโคลัมบัสถึงกล้าเดินเรือออกมาได้

ผมไม่สามารถหาข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์มาตอบคำถามนี้ได้อย่างกระจ่างแจ้ง (หรือเราหาไม่เจอเองก็ไม่ทราบได้) จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง ในทวิตเตอร์สายภูมิศาสตร์-แผนที่ ที่ติดตามอยู่ มีคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้ Origins: How the Earth Shaped Human History ของ Lewis Dartnell เลยตามไปหาข้อมูลเพิ่มดู และพบว่านี่แหละคือสิ่งที่เราตามหามานาน

Lewis Dartnell เป็นอาจารย์ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ University of Westminster เขาจบการศึกษาด้านชีววิทยาดาราศาสตร์ (Astrobiology) และมีผลงานหนังสือเล่าเรื่องด้านวิทยาศาสตร์หลายเล่มหลายแขนง

ผลงานเล่มก่อนหน้าของเขาคือ The Knowledge: How to Rebuild Our World from Scratch (2014) พูดเรื่องการสร้างสิ่งต่างๆ วิทยาการในปัจจุบันขึ้นมาใหม่ หากโลกเจอกับหายนะขึ้นมา ซึ่งเพิ่งมาทราบเหมือนกันว่าหนังสือเล่มนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้มังงะเรื่อง Dr.Stone ด้วย ส่วนหนังสือเล่มใหม่ของเขาเพิ่งออกในปี 2023 คือ Being Human: How our Biology shaped World History ที่ตั้งชื่อล้อกับเล่ม Origins แต่เป็นเรื่องชีววิทยาแทนที่จะเป็นเรื่องภูมิศาสตร์

ถ้าใครขี้เกียจอ่านก็สามารถชมคลิปบรรยายของ Dartnell ได้ มีหลายอัน

ผมใช้เวลาอ่านๆ หยุดๆ อ่านๆ Origins อยู่นาน สุดท้ายอ่านจบก็พบว่าสมความมุ่งหมาย ได้คำตอบที่ต้องการ และได้เวลามาเขียนแนะนำให้คนอื่นบ้าง (เผื่อมีคนสนใจแปลเป็นภาษาไทย)

เนื้อหาใน Origins พูดถึงปัจจัยทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา (geology) ที่กลายเป็นตัวกำหนดทิศทางของสิ่งมีชีวิตและสังคมมนุษย์ (อย่างไม่ตั้งใจ) และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของเรา ว่าจริงๆ แล้วปัจจัยเกิดจากอะไร

หนังสือแบ่งออกเป็นทั้งหมด 9 บท ขอสรุปเนื้อหาคร่าวๆ ของแต่ละบทดังนี้

บทที่ 1: The Making of Us

บทแรกเปิดมาว้าวพอสมควร เพราะกล่าวถึงว่าลิงวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ได้อย่างไร โดยกล่าวถึงพื้นที่จุดกำเนิดมนุษย์คือ The East African Rift ช่องเขาแคบๆ ที่อยู่แถบประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน มีภูมิประเทศพิเศษเป็นรูปตัว Y มีภูเขาสูงกันความชื้นที่ลอยมาจากมหาสมุทรอินเดีย มีร่องรอยของภูเขาไฟ เมื่อเจอกับสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากร้อนเป็นเย็น จากเย็นเป็นร้อน จากฝนตกเป็นแห้งแล้ง ช่วยเร่งให้วิวัฒนาการของลิงเร็วขึ้นจนกลายเป็นเผ่า Homo Sapiens และภายหลังเดินทางออกนอกแอฟริกาไปทั่วโลก (อ่านแล้วอยากไปเห็นของจริงเลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร)

บทนี้ยังพูดถึงอารยธรรมโบราณต่างๆ ในยูเรเชีย ว่าสอดคล้องกับรอยต่อของเปลือกโลก เพราะมีขี้เถ้าจากภูเขาไฟทำให้เพาะปลูกได้ดี มีอาหารมากพอสำหรับชุมชนมนุษย์ที่อยู่กันเป็นหลักแหล่ง

บทที่ 2: Continental Drifters

ต่อจากบทแรก พูดเรื่องประวัติศาสตร์ภูมิอากาศของโลกที่มีช่วงยุคน้ำแข็ง (glacial) กับช่วงอากาศอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง (interglacial) ที่เกิดจากวัฏจักรการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ (Milankovitch cycle) และมีผลต่อระดับน้ำทะเล ช่วงอากาศอุ่น น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลขึ้นสูง ท่วมแผ่นดินบางจุด มีผลต่อสิ่งมีชีวิต และทำให้มนุษย์ในอดีตต้องเดินทางหนีน้ำ ไปหาแหล่งอาหารใหม่ๆ จนกระจายตัวไปทั่วโลก

บทที่ 3: Our Biological Bounty

บทนี้พูดถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคโบราณ ที่โชคดีมาเจอยุคอากาศอุ่น (interglacial) ที่เรียก Holocene ช่วงประมาณ 11,000 ปีก่อน จึงเริ่มก่อสร้างอารยธรรมตามจุดต่างๆ เช่น Fertile Crescent (เมโสโปเตเมียไล่มาจนถึงอียิปต์) และจีน เริ่มการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น wheat (ข้าวสาลีในเมโสโปเตเมีย), rice (ข้าวในจีน), maize (ข้าวโพดในอเมริกา) และจับสัตว์หลายชนิดมาเลี้ยงเพื่อบริโภค-ใช้งาน พอมีอาหารเลี้ยงประชากรจำนวนมากขึ้นได้ ก็ขยายชุมชนไปเรื่อยๆ กลับไปใช้ชีวิตเร่ร่อนไม่ได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ยังพูดถึงข้อได้เปรียบของยูเรเชียในเรื่องภูมิศาสตร์-ชีววิทยา ทำให้สังคมมนุษย์วิวัฒนาการเร็วกว่าฝั่งอเมริกามาก และปัจจัยเรื่องทรัพยากรแม่น้ำในอียิตป์-จีน ที่กลายเป็นแหล่งอารยธรรม

บทที่ 4: The Geography of the Seas

บทนี้กล่าวถึงการจัดการทรัพยากรน้ำ จนทำให้ฮอลแลนด์ที่ถูกบีบคั้นจากการเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล พัฒนาตัวเองเรื่องเทคโนโลยีกังหันน้ำ และเทคโนโลยีการเงิน การระดมทุน สร้างระบบทุนนิยมยุคแรกได้

จากนั้นพูดถึงบทบาทของทะเล โดยเฉพาะทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เป็นจุดศูนย์กลางของยุโรปยุคโบราณ คาแรกเตอร์ของดินแดนสองฝั่งทะเลที่ต่างกัน (ยุโรปเป็นภูเขา ชายฝั่งเว้ามีเกาะแก่ง แอฟริกาเป็นที่ราบ ชายฝั่งเรียบตรง) ทำให้อารยธรรมสองฝั่งทะเลต่างกันมาก

ข้ามมายังมหาสมุทรอินเดีย เส้นทางเดินทะเลโบราณ ความสำคัญของช่องแคบ Aden, Hormuz, Malacca ในเชิงยุทธศาสตร์การยึดครองเป็นเจ้าทะเลในอดีต

บทที่ 5: What We Build With

บทนี้เกี่ยวกับ “วัสดุ” ที่มนุษยชาติใช้งานสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ มาตั้งแต่โบราณ เช่น หิน limestone & หินอ่อน, ไม้ & โคลน ที่นำมาสร้างเป็นอิฐ, ดินสอพอง (chalk) & หินเหล็กไฟ (flint), หินแกรนิต โดยกล่าวถึงวัสดุแต่ละประเภทว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร (ในเชิงธรณีวิทยา) เกิดขึ้นในยุคสมัยไหน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างไร และมนุษย์ค่อยๆ ขุดดินและหินเหล่านี้มาใช้งานได้อย่างไร

บทที่ 6: Our Metallic World

แนวเดียวกับบทที่ 5 แต่เป็นเรื่องโลหะต่างๆ ที่มนุษยชาตินำมาใช้ทำเครื่องมือในแต่ละยุคสมัย เช่น บรอนซ์/สำริด (bronze) ดีบุก (tin) ทองแดง (copper) เหล็ก (iron) และวิธีเปลี่ยนเป็นเหล็กกล้า (steel) โดยพูดถึงจุดกำเนิดของโลหะเหล่านี้บนโลก วิธีการที่มนุษย์นำมาใช้งาน ความหายาก แยกสกัดโลหะต่างชนิดกันได้ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้น

บทนี้มีความเป็นวิชาเคมีสูง (ในหัวข้อย่อยหนึ่งยังตั้งชื่อว่า The Periodic Table in Your Pocket) ค่อนข้างน่าเบื่ออยู่บ้าง มาติดที่บทนี้อยู่นานกว่าจะมีกำลังใจอ่านต่อ

บทที่ 7: Silk Roads and Steppe People

บทนี้พูดเรื่องการบุกเบิกเส้นทางสายไหม ที่เชื่อมอาณาจักรจีนทางตะวันออก กับเอเชียกลาง-ยุโรปเข้าด้วยกัน โดยเป็นเส้นทางที่หลบเลี่ยงทิเบต ซึ่งเป็นทางตันในเชิงภูมิศาสตร์โลก (เทือกเขาสูง ที่ราบสูง) คนโบราณใช้วิธีลัดเลาะตามช่องเขาและทะเลทรายทางเหนือของทิเบตเพื่อให้เดินทางนำสินค้ามีค่าสูง (ผ้าไหมในยุคแรก และสินค้าอื่นในยุคต่อมา) ไปขายในต่างแดนได้ แต่จริงๆ แล้วเส้นทางเหล่านี้คืออยู่บนรอยของเปลือกโลกที่พุ่งชนกัน และเกิดเป็นจุดโอเอซิสหลายๆ จุดต่อกัน คนและสัตว์จึงมีน้ำและอาหารช่วยให้มีชีวิตอยู่รอดได้ในพื้นที่ทุรกันดารขนาดนั้น

ครึ่งหลังของบทพูดถึงชาวเผ่าเร่ร่อนในทุ่งหญ้าสเต็ปป์ ที่อยู่ตอนเหนือของเส้นทางสายไหมอีกที ว่าเป็นภัยคุกคามต่ออารยธรรมเมืองเกษตรกรรมใกล้เคียง ทั้งฝั่งจีนและยุโรปมาตลอดประวัติศาสตร์ เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในตอน Steppe: Eurasia Highway

บทที่ 8: The Global Wind Machine and the Age of Discovery

บทนี้คือสิ่งที่ตามหาจากหนังสือเล่มนี้ เล่าเรื่องการทำงานของ “ลม” ในโลกว่าเป็นอย่างไร เคยเขียนสรุปเรื่องลมไว้แล้วในโพสต์ ว่าด้วยการพัดของลมในโลก และ ทะเลไร้ลม Calm Belt มีอยู่จริงในโลก

หลังจากเข้าใจระบบการทำงานของลมบนโลกแล้ว เนื้อหาครึ่งหลังของบทนี้เป็นการสรุปว่า กะลาสีเรือชาวโปรตุเกสค่อยๆ เรียนรู้การทำงานของลมในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างไร และกะลาสีแต่ละรุ่นค่อยๆ เรียนรู้ แก้ปัญหาไปทีละส่วน จนสุดท้าย Bartolomeu Dias เดินทางไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปได้สำเร็จในปี 1487 และ Vasco da Gama เดินทางไปถึงอินเดียได้ในปี 1498 (เดี๋ยวจะเขียนถึงเรื่องนี้ต่อไป)

บทที่ 9: Energy

บทสุดท้ายพูดเรื่องพลังงานได้น่าสนใจมาก เล่าถึงวิวัฒนาการเรื่องการใช้พลังงานของมนุษยชาติ เริ่มจากการเปลี่ยนพลังงานแสง (solar) ในพืช กลายมาเป็นอาหารของสัตว์ เปลี่ยนมาเป็นกำลัง (muscle) ทั้งคนและสัตว์ในการลากจูงสิ่งต่างๆ มาสู่ยุคกังหันน้ำ-กังหันลม มาสู่ยุคเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้พลังจากการเผาไม้ จนไม้หมดประเทศอังกฤษ ก่อนมาขุดพบพลังงานชนิดใหม่คือ ถ่านหิน (coal) และน้ำมัน (oil) ที่เกิดจากการสะสมโดยบังเอิญของชั้นหินในโลกเพียงยุคเดียว ซึ่งมนุษย์เรากำลังสูบของสะสมเก่ามาใช้ ที่โลกไม่สามารถผลิตขึ้นมาใหม่โดยง่ายด้วย

สรุป

ผู้เขียนได้รวมประเด็นด้านวิทยาศาสตร์หลายสาขา ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ฯลฯ มาเรียงร้อยเข้ากันเป็นเรื่องเดียวได้อย่างยอดเยี่ยม ช่วยให้เราเข้าใจเหตุผลและข้อจำกัดของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติได้ชัดเจนมาก ดีถึงระดับเกิดความรู้สึกว่า ทำไมเราไม่สอนเรื่องเหล่านี้ในระดับโรงเรียน

ผมได้คำตอบของสิ่งที่อยากรู้มานาน และได้ความรู้พื้นฐานในศาสตร์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันว่าโลกเราเป็นอย่างนี้เพราะอะไร และเป็นพื้นฐานสำหรับการไปต่อยอดหาความรู้เพิ่มเติม เจาะลึกในด้านต่างๆ ได้อีกมาก