in Politics

New Liberal Nationalism

หลังจากอ่านเรื่อง สาเหตุความพ่ายแพ้ของ พรรคเดโมแครต และ ความเสื่อมถอยของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย-กลาง มาได้สักพักหนึ่ง

คำถามที่ตามมาของผมคือ พรรคฝ่ายซ้าย/เสรีนิยม ควรปรับตัวอย่างไรในโลกยุคใหม่? แนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ Nationalism แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ก็ยังเกิดคำถามว่ามีแนวทางอื่นที่เป็นไปได้หรือไม่

ช่วงหลังๆ ผมได้มาเจอกับงานของ Ruy Teixeira นักรัฐศาสตร์หัวเสรีนิยม ที่มีข้อเสนอให้พรรคเดโมแครตปฏิรูปตัวเองมาตั้งแต่ปี 2020 (ก่อน Biden ชนะเลือกตั้ง) ถึงแม้ยังไม่ตกผลึกและเข้าใจมันอย่างถ่องแท้นัก แต่เมื่ออ่านบทความจบแล้ว ก็ควรมาบันทึกเป็นไอเดียไว้ก่อน

บทความนี้ชื่อว่า Toward the Next Frontier: The Case for a New Liberal Nationalism นำเสนอสิ่งที่กำลังตามหาอยู่คือ “แนวทาง Nationalism ในโลกสมัยใหม่” ซึ่งบทความนี้ใช้คำว่า New Liberal Nationalism ผสานไปกับคำว่า Next Frontier ซึ่งเป็นการบิดคำว่า New Frontier ที่เสนอในยุค JFK

บริบทของบทความเขียนขึ้นในปี 2020 คือช่วงปลายยุค Trump 1.0 ก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุครัฐบาล Biden โดยตอนนั้น โอกาสที่ Biden ชนะมีสูงมากเพราะ Trump คะแนนนิยมตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม Teixeira และผู้เขียนร่วมคือ Peter Juul ซึ่งเป็นนักคิดสายเสรีนิยมเหมือนกัน วิจารณ์แนวทางของ Biden อย่างชัดเจนว่าเป็นการนำเสนอรัฐบาลที่ “กลับสู่ภาวะปกติ” (return to normalcy) เหมือนกับตอนรัฐบาล Obama

Despite Biden’s increased efforts to portray himself as a transformative figure, his electoral appeal rests, above all, on a promised return to the relative normalcy of the Obama years. In the eyes of many, that alone would amount to a vast improvement over the current state of affairs and right the national ship after a single disastrous Trump term.

แน่นอนว่าข้อเสนอของ Biden ย่อมดีกว่ารัฐบาล Trump 1.0 ที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย (และส่งผลให้ Biden ชนะ)

แต่ผู้เขียนมองว่ามันยัง “ดีไม่พอ” สำหรับแก้ปัญหาความแตกแยกของอเมริกา ซึ่งพอมาอ่านความเห็นนี้ในปี 2025 (หลังความพ่ายแพ้ของ Democrats) ก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ (แม่นจนน่าขนลุก)

Focused on the short-term demands of win­ning a presidential campaign against an unscrupulous rival candidate amid bitter national divisions, Democrats will find themselves unpre­pared for the scope and difficulty of the task that will confront them in January 2021 if they hold fast to their current course.

นอกจากวิจารณ์ Biden ที่ไม่ได้มีข้อเสนอเชิงอุดมการณ์ชัดเจนมากไปกว่าการกลับสู่ยุค Obama ผู้เขียนยังวิจารณ์ปีกอื่นของ Democrats ที่มีแนวทางอุดมการณ์ที่ต่างออกไป และต้องการสู้กับ Populist Right ของ Trump

  • Democratic Socialism ฝ่ายซ้ายแนวสังคมนิยม นำโดย Bernie Sanders และ Alexandria Ocasio-Cortez (AOC)
  • Left-wing Multiculturalism ฝ่ายการเมืองเชิงอัตลักษณ์ พหุวัฒนธรรม เพศ สีผิว เชื้อชาติ

ผู้เขียนวิจารณ์ว่า 2 แนวทางนี้โดดเด่นภายในพรรค Democrats แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันไม่สามารถ “รวมใจ” คนอเมริกันหมู่มากได้ (พอมาอ่านหลังเลือกตั้ง 2024 แม่นยังกับตาเห็นอีกแล้ว)

ข้อวิจารณ์ต่อแนวทาง Democratic Socialism 

  • นโยบายหลักของปีกนี้คือ Medicare for All ประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ Sanders และ Green New Deal การลงทุนในพลังงานสะอาด-สิ่งแวดล้อม ของ AOC
  • ความนิยมของ Sanders ในการเลือกตั้งปี 2016 มาจากความไม่พอใจต่อ Hillary Clinton มากกว่าความนิยมในตัว Sanders เอง, กระแสนิยม Sanders ก็ถดถอยลงในการเลือกตั้งปี 2020
  • นักการเมืองใน Democrats เองก็ไม่ได้ตอบรับ Medicare for All และมองว่าการแยกประกันตามกลุ่มบุคคลนั้นเหมาะสมกว่า
  • ถึงแม้ Green New Deal พยายามชูอุดมการณ์ New Deal ของ FDR ว่าต่อเนื่องกัน แต่ไส้ในนั้นต่างกัน เพราะ FDR พูดเรื่องความเป็นไปได้ (national possibility) แต่ข้อเสนอของปีก Sanders/AOC เป็นเรื่องความเท่าเทียม (equality) ซึ่งต่างกันมาก

ข้อวิจารณ์ต่อแนวทาง Multicultural Left

  • เป็นวิธีคิดว่า อเมริกามีรากเหง้าเรื่องทาส (the original sins of slavery) ปัญหาเหยียดสีผิวในปัจจุบันเกิดจากการกดทับในเชิงระบบ (multiple systems of identity-based oppression)
  • ทางแก้คือต้อง “รื้อ” (dismantle) ระบบ ผ่านสโลแกนที่คุ้นๆ กันคือ reparations for the descendants of slaves, de­criminalizing the border, and defunding the police
  • แนวทาง Multicultural Left พยายาม “จัดหมวด” คนตามอัตลักษณ์ (identity categories) เช่น คนดำ ผู้หญิง ทรานส์ คนพิการ แล้วบอกว่าคนแต่ละกลุ่มต้องใช้นโยบายต่างกัน มีการประดิษฐ์คำศัพท์เฉพาะทาง (jargon) ที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง
  • แนวทางนี้เป็นการแบ่งแยกผู้คน (identity-based segregation) และปฏิเสธความซับซ้อนของสังคมมนุษย์ที่คนมีได้หลายบทบาท ไม่สามารถสร้างพันธมิตรในเชิงการเมืองเพื่อไปสู่การชนะเลือกตั้งไว้

New Liberal Nationalism

ข้อเสนอของผู้เขียนคือ New Liberal Nationalism ที่เป็นการมองไปข้างหน้า ทั้งเรื่องในประเทศและบทบาทของอเมริกาในระดับนานาชาติ

แนวทาง Liberal Nationalism ถูกริเริ่มไว้แล้วในยุค New Deal ของ Franklin D. Roosevelt (FDR) และสานต่อมารอบหนึ่งแล้วในยุค New Frontier ของ John F. Kennedy (JFK) ผู้เขียนเลยเรียกมันว่า Next Frontier 

New Deal / New Frontier / Next Frontier วางอยู่บนหลักการ 4 ข้อ (เข้าใจว่าสังเคราะห์โดยผู้เขียน)

  1. Freedom เสรีภาพ แยกเป็น
    • Political Freedom หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย freedom of expression, freedom of belief, civil rights, and voting rights
    • Economic Freedom ในมุมมองของเสรีนิยม-ชาตินิยม อิงตามนิยามของ FDR ว่ามันคือ “โอกาสในการสร้างชีวิตที่ดี” (opportunity to make a living) ซึ่งมองว่าโครงการอย่างประกันสังคม (Social Security) ประกันสุขภาพ (Medicare) เป็นการการันตีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานโดยรัฐ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ (these public protections against the uncontrollable and unpredictable hazards) เพื่อให้ปัจเจกชนมีความกล้าเสี่ยงไปทำกิจการของตัวเอง
  2. Peace of Mind or Security ความมั่นคง แบ่งเป็น
    • ความมั่นคงต่อความเสี่ยงชีวิตของปัจเจก เช่น ความชรา สุขภาพ การตกงาน รวมไปถึงความมั่นคงต่อความเสี่ยงของสังคม เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ผ่านโครงการหลักประกันทางสังคมต่างๆ แบบถ้วนหน้า
    • ความมั่นคงของชาติ (national security) มีทั้งเรื่องกองทัพที่เข้มแข็ง หน่วยข่าวกรอง หน่วยการทูต ภายใต้แนวคิด Liberal Nationalism จะไม่ตัดงบกลาโหมง่ายๆ แต่จะหาวิธีทำให้หน่วยความมั่นคงเหล่านี้เข้มแข็ง มีทรัพยากรมากเพียงพอต่อการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
  3. Prosperity ความเจริญรุ่งเรือง
    • ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โอกาสทางการศึกษา การวิจัยวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี การประกันทางสังคม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องจักรเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างที่เคยทำมาในอดีตคือ การลงทุนสร้าง highway ระดับชาติ, NASA, โครงการประกันสังคม
    • การวางนโยบายอุตสาหกรรม (industrial policy) สร้างเศรษฐกิจจากการผลิตขั้นสูง ผ่านงบประมาณจากภาษีที่เป็นธรรม รีดภาษีจากคนรวยมากๆ มาอุดหนุนเศรษฐกิจของชาติ
  4. A Nation Second to None ชาติที่ไม่แพ้ใคร
    • ความยิ่งใหญ่ในระดับโลก ทั้งในแง่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความร่ำรวยทางเศรษฐกิจ เสรีภาพ อเมริกาต้องเดินนำหน้าพาโลกไปสู่อนาคต
    • อเมริกาต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เทคโนโลยีที่ดีที่สุด มีกองทัพเข้มแข็ง การทูตเก่งฉกาจ เงินช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่ใจกว้าง สร้างความเป็นพันธมิตรกับชาติต่างๆ ทั่วโลก

ผู้เขียนบอกว่า แนวทาง Next Frontier จะต้องพูดกับชาวอเมริกันในฐานะ “ชาวอเมริกัน” ในภาพใหญ่ (This approach speaks to all Americans as Americans) ไม่ใช่กลุ่มคนที่ถูกจัดกลุ่มย่อยๆ ตามหลักประชากรศาสตร์ และต้องเสนอมุมมองที่เชิงบวก มองโลกในแง่ดี (optimistic) และรวมทุกคนไว้ (inclusive)

ทั้งหมดนี้คือการสรุปจากบทความต้นฉบับ ส่วนข้อคิดเห็นและข้อวิจารณ์ยังคิดไม่ออก ต้องขอไปตกผลึกก่อน