จากประเด็นเรื่อง “สินค้าจีนถล่มไทย” ที่เป็นประเด็นพูดคุยกันกว้างขวางในสังคมไทย ว่าไทยจะเอายังไงต่อกับเรื่องนี้ ตกลงแล้วเราควรโอบรับหรือปิดกั้นสินค้าจากจีน ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ภาษี มาตรฐานอุตสาหกรรม ฯลฯ
พอได้อ่านบทความของ Noah Smith (อีกแล้ว) คิดว่าให้มุมมองภาพกว้างของปัญหา “สินค้าจีนถล่มโลก” ได้เป็นอย่างดี
ภาพรวมก็ตรงตามชื่อบทความ นั่นคือ โลกของเรากำลังเกิดสภาวะ “สงครามการผลิต” ระหว่างจีน vs ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และจีนกำลังจะชนะ
การชนะของจีนเป็นการชนะในทุกอุตสาหกรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์, รถยนต์, โดรน, แบตเตอรี่ ฯลฯ ทุกประเทศทั่วโลกรวมกำลังการผลิตกันแล้วแพ้จีนทั้งหมด คาดกันว่าในปี 2030 จีนจะมีกำลังการผลิตคิดเป็น 45% ของทั้งโลก จากที่เคยมีส่วนแบ่งเพียง 6% ในปี 2000
ปรากฏการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งในประวัติศาสตร์ นั่นคือ อังกฤษช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม และสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
This is a level of manufacturing dominance by a single country seen only twice before in world history — by the UK at the start of the Industrial Revolution, and by the U.S. just after World War 2. It means that in an extended war of production, there is no guarantee that the entire world united could defeat China alone.
กองทัพสินค้าจีนราคาถูกระดับที่ทำลายอุตสาหกรรมของประเทศอื่นๆ ได้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ภาคเอกชนจีนไม่สามารถทำได้เองเพียงลำพัง แต่เกิดจากการ subsidize ผ่านกลไกภาครัฐของจีนหลายทาง เช่น การให้เงินกู้ราคาถูก งดเว้นภาษี ค่าเช่าที่ดิน ไปจนถึงการให้เงินสนับสนุนตรงๆ ฯลฯ
ภาคเอกชนจีนอาจล้มละลายเพราะสินค้าราคาถูกตัดราคากันเอง แต่รัฐบาลจีนไม่ได้สนใจกำไรของภาคเอกชน แต่เป็นการเอาชนะอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศอื่นๆ ทำให้แข่งขันไม่ได้และล้มละลายจากไปต่างหาก
By creating overcapacity, China is forcibly deindustrializing every single one of its geopolitical rivals. Yes, this reduces profit for Chinese companies, but profit is not the goal of war.
ตัวอย่างประเทศที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีแค่ไทยเท่านั้น ประเทศที่น่าสนใจมากคือ เยอรมนี เจ้าพ่อแห่งโรงงานการผลิตของโลก ที่หลังปี 2020 เป็นต้นมาก็ประสบปัญหาภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง
คำถามคือแล้วประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีนจะอยู่กันอย่างไร? คำตอบของ Noah Smith บอกว่า ต้องมีองค์ประกอบด้วยกัน 3 อย่าง
- ต้องมีนโยบายกีดกันทางการค้าผ่านภาษีและมาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าจีนไหลเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมในประเทศ
- ต้องมีนโยบายอุตสาหกรรม (industrial policy) เพื่อรักษาและขยายอุตสาหกรรมในประเทศ
- ต้องมีตลาดร่วม (common market) ภายนอกจีนที่ใหญ่มากพอ เพื่อให้ผู้ผลิตเหล่านี้มีที่ขายสินค้าได้
รัฐบาลรีพับลิกันของ Trump เลือกทำข้อ 1 คือตั้งกำแพงภาษี แต่ดันตั้งกำแพงภาษีกับทุกๆ ประเทศเลยทำให้เสียตลาดประเทศพันธมิตร (เช่น แคนาดา เม็กซิโก) ในข้อ 3 ไปด้วย ส่วนรัฐบาลเดโมแครตยุค Biden ทำข้อ 2 คือส่งเสริมอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ แต่ก็ดันไปตั้งกฎระเบียบยุบยับล็อคคอตัวเองไปซะอย่างงั้น
Smith วิจารณ์แนวทางของฝ่ายซ้ายเดโมแครต ว่ามองนโยบายอุตสาหกรรมว่ามีประโยชน์เรื่องการจ้างงาน ไม่ให้คนตกงาน (วิถีฝ่ายซ้ายสุดๆ) แต่กลับไม่มองประโยชน์ในแง่การพึ่งพาตัวเองในด้านการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สำคัญและจำเป็นในยามสงคราม วิธีคิดแบบ “รักคน ไม่สนของ” ทำให้ต้นทุนบวมตรงค่าคน ปฏิเสธการใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์ และส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตแข่งขันไม่ได้อยู่ดีในระยะยาว
ส่วนตลาดร่วมในข้อ 3 นั้น ตัวอย่างที่น่าสนใจคือข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ (ที่ไม่มีจีน) อย่าง TPP นั้นล่มไปแล้วเพราะ Trump ถอนตัว (รีพับลิกันไม่สนใจข้อ 3) กลายเป็น CPTPP ไปแทนซึ่งมีพลังน้อยลง ขนาดประเทศและประชากรลดลง
น่าสนใจว่าหากมองที่ประเทศไทย มีขนาดที่เล็กกว่าสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรชาติตะวันตกมาก จะแก้ปัญหาเรื่อง “สินค้าจีนถล่มโลก” ได้อย่างไรกัน?
ภาพประกอบบทความสร้างด้วย Bing Image Creator