in Thoughts

Informal Safety Net

ปัญหา COVID-19 แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐไทย โดยเฉพาะภาครัฐส่วนกลาง อ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพ ในการรับมือปัญหาได้อย่างที่ควรจะเป็น

แต่เมื่อรัฐส่วนกลางไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เราจึงเห็นภาคประชาชนออกมาพึ่งพาตัวเองอย่างเด่นชัด เท่าที่สังเกตจากข่าวและปรากฏการณ์ต่างๆ ภาคประชาชนไทยก็ยังมีความเข้มแข็งอยู่มากทีเดียว (ถือเป็นข่าวดีในข่าวร้าย)

ลองแยกประเด็นดังนี้

ป้องกัน

มาถึงวันนี้ (26 เมษายน) จำนวนผู้ติด COVID-19 ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยลงมาก (ผู้ติดเชื้อใหม่ในหลักสิบต่อวัน) หากมามองย้อนหลังกลับไปดู ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญไม่ได้มาจากมาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดของภาครัฐ แต่มาจาก social sanction ในระดับท้องถิ่น

มาตรการปิดเมืองของภาครัฐอาจมีบทบาทเป็นจุดตั้งต้นให้คนตื่นตัว แต่สิ่งที่มีผลในทางปฏิบัติ (effective) จริงๆ คือ “ความกลัวตาย” ของคนในสังคมกันเอง ที่กดดันให้คนอื่นๆ รอบตัวต้องระมัดระวังตัว ใส่หน้ากาก ล้างมือกันอย่างจริงจัง

ตัวอย่างคือ ช่วงระบาดแรกๆ ตลาดสดหลายแห่งมีมาตรการกันเองว่า “ถ้าไม่ใส่หน้ากาก ห้ามเข้า” หรือน้องที่กลับบ้านต่างจังหวัดในช่วงที่เริ่มปิดเมือง เล่าให้ฟังว่ากลับมาบ้านปั๊บ บ้านข้างๆ ก็แจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้านให้เข้ามาตรวจสอบทันที ผู้ใหญ่บ้านก็มาเยี่ยมถึงบ้านเลย

ข่าวที่น่าสนใจและสะท้อน “ความตื่นกลัว” ของคนในท้องถิ่นไทยได้ดี คือ การปิดเมืองด้วยตัวเองในหลายๆ จังหวัด ซึ่งมีวิธีการแตกต่างกันไป เช่น ทำรั้วกั้นถนน ถมดินกั้น

 

ดูรูปแล้วต้องถามตัวเองว่า นี่มันรั้วกั้นซอมบี้ใน Kingdom รึเปล่า!

มาตการกดดันทางสังคมลักษณะนี้ ถ้ามองด้วยกรอบ individualism หรือสิทธิสมัยใหม่ ก็อาจมองว่ากดขี่ เหยียด หรือละเมิดสิทธิได้ (แถมมีปัญหาอื่นตามมาด้วย เช่น รถขนของเข้าไม่ได้) แต่พอมองด้วยกรอบเรื่อง effectiveness ในแง่ของการป้องกันการระบาด มันก็ได้ผลจริงๆ

ตรวจสอบ

อีกข่าวที่น่าสนใจ มาจากมิตรสหายผู้เชี่ยวชาญด้านท้องถิ่นไทย ระบุว่าเครือข่ายที่เข้มแข็ง และมีบทบาทอย่างมาก แต่ภาพไม่ออกสื่อมากนัก คือ อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่มีจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ทุกท้องถิ่น และเข้าไปช่วยตรวจสอบ ให้ความรู้กับคนในชุมชนอย่างได้ผล

เราคงไม่เห็นการ romanticize อสม. เหมือนกับแพทย์พยาบาลด่านหน้า (ยังไม่เห็นใครแต่งเพลง “นักรบเสื้อกาวน์” แบบเดียวกันให้ อสม.) แต่ในแง่ effectiveness ก็ถือเป็นการทำงานที่ได้ผลอย่างมากเช่นกัน

คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในเมืองอาจจะไม่รู้จักคำว่า อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ว่าคืออะไร แต่คนเหล่านี้คือตัวเชื่อมโยงให้การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บสามารถครอบคลุมผู้ทั้งประเทศได้

อย่าแปลกใจว่าคนเหล่านี้คือชาวบ้านธรรมดา ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร

คำว่า อสม. ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “อาสาสมัคร” คือไม่ได้เป็นหน่วยงานตามระบบภาครัฐ 100% (แม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากงบประมาณรัฐบ้าง) จะเรียกว่าเป็นกลไกกึ่งภาครัฐก็พอได้ ถือเป็นกลไกระดับรอง (ภาษาทางการเรียก “สาธารณสุขมูลฐาน”) ที่ช่วยจัดการกับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างสเกล และเป็นตัวอย่างที่ดีกว่า กลไกการกระจายอำนาจระดับท้องถิ่นแบบนี้ มันได้ผล

เยียวยา

หากย้อนดูว่า ภาครัฐไทยรับมือปัญหาการระบาดในเชิงสาธาณสุขได้ไม่ดีนักในช่วงต้น แต่ภายหลังก็ปรับตัวได้ดีขึ้น เพราะกลไกภาครัฐในฝั่งสาธารณสุขยังแข็งแกร่งอยู่

ปัญหาเรื่องการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าภาครัฐไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ปริมาณ วิธีการ และความรวดเร็วในการตอบสนองปัญหา

คนตกงานเป็นจำนวนมากจากมาตรการปิดเมือง จึงก่อให้เกิดปัญหาเรื่องปากท้อง การยังชีพ และปัญหาทางสังคมตามมา

ประชาไทมีบทความถ่ายทอดเรื่องบทบาทของ “วัด” ในฐานะ “โรงทาน” ยุคปี 2020 ที่คอยช่วยโอบอุ้มสังคมให้อยู่รอดไปได้พลางๆ ก่อน

บทความมีเรื่องน่าสนใจหลายประเด็น ทั้งเรื่องการจัดการที่ดีของวัด และบทบาทของวัดในฐานะพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน

“มารับข้าวกับวัดก็ยังสบายใจกว่า คิดอย่างนั้นนะ เพราะวัดเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นของคนทุกคน ตอนมีเราก็ทำบุญกับวัด ตอนไม่มีเราก็พึ่งวัด ไปรับที่อื่นมันเหมือนเป็นบุญเป็นคุณกัน” พรพิศแสดงความเห็น

บทบาทของศาสนายุคใหม่ ทั้งทางธรรมและทางโลก

“ยามสุขชาวบ้านเขาพึ่งพาวัดได้ในแง่ธรรมะ ยามทุกข์เราก็ให้กำลังใจ ให้สติ และหากทำได้มากกว่านั้นก็ควรทำ มีลักษณะของการ engage ไม่ใช่บวชแล้วหนีจากโลก มุ่งเป็นพระอรหันต์ แต่ควรเป็นส่วนหนึ่งของโลก ของสังคม” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสกล่าว

ในภาพรวมแล้ว ต้องบอกว่า น่าดีใจที่ กลไกระดับท้องถิ่น ระดับที่ไม่เป็นทางการแบบนี้ยังฟังก์ชันได้ ช่วยให้สังคมไทยเอาตัวรอดไปได้

แต่ก็ต้องบอกว่า การปล่อยให้กลไกแบบนี้ (ไม่ว่าจะเป็นวัด ชุมชน อาสาสมัคร) เดินหน้าไปลำพังมันก็ไม่พอ สุดท้าย “รัฐ” เองนี่แหละที่ต้องเข้าไปสนับสนุนในระยะยาว เพราะรัฐมีทรัพยากรที่เหนือกว่าใครๆ

คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะช่วยเติมทรัพยากรให้กลไกเหล่านี้อย่างไร ถึงจะได้ผล ทำน้อยได้มาก ได้ประสิทธิผลคุ้มค่า แถมยังจะช่วยผลักดันให้การกระจายอำนาจในท้องถิ่นไทยเติบโตได้มากขึ้นด้วย