in Business, Thoughts

Hybrid Work Paradox

ช่วงนี้กำลังสนใจเรื่องอนาคตของการทำงาน (Future of Work) โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนงานครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ซึ่งโยงไปถึงเรื่องวัฒนธรรมที่ทำงาน (Organizational Culture) และการทำงานแบบไฮบริดด้วย

บล็อกตอนเก่าที่เคยเขียน

เนื่องจากเป็นประเด็นใหญ่ที่มีความซับซ้อนเยอะ อ่านมาเยอะก็พอเห็นภาพ แต่ยังไม่สามารถเขียนออกมาเป็นงานชิ้นเดียวได้ ดองไว้นานก็ไม่ดี ทางแก้ที่ดีเพื่อให้งานออกจึงเป็นการแตกงานออกเป็นชิ้นๆ ก่อน ส่วนจะเอามาสังเคราะห์ในอนาคตไหมเป็นอีกเรื่องนึง

งานชิ้นแรกที่เขียนเป็น ผลสำรวจ Work Trend Index ของไมโครซอฟท์ ที่เพิ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ผลสำรวจของไมโครซอฟท์ชิ้นนี้มีความสำคัญที่เรื่องขนาดของการสำรวจ เพราะไมโครซอฟท์เลือกส่งแบบสอบถามให้พนักงานของตัวเองทั้งหมด 180,000 คนทั่วโลก ผลคือมีคนตอบแบบสอบถามกลับมา 104,000 คน ซึ่งถือเป็นสเกลที่ใหญ่มาก และไม่น่าจะมีการสำรวจข้อมูลในสเกลแบบนี้มาเทียบเคียงได้ง่าย (แม้เป็นผลสำรวจคนในบริษัทเดียว ความหลากหลายในแง่มุมมองก็ย่อมน้อยลงไป)

ไมโครซอฟท์ทำแบบสำรวจนี้เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องการกลับมาเปิดออฟฟิศเป็นหลัก แต่ก็มีเรื่องอื่นๆ ด้วย และโชคดีที่ไมโครซอฟท์นำมาแชร์ต่อสาธารณะ

รายละเอียดของผลสำรวจมีค่อนข้างเยอะ ขอตัดมาเฉพาะประเด็นที่ผมสนใจ ชาร์ทที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นอันนี้ เป็นแผนภาพที่บอกว่าคนต้องการอะไรจากการทำงานที่บ้าน vs ที่ทำงาน

ที่มา – Microsoft

ถ้าดูจากชาร์ทนี้ เหตุผลที่คนอยากทำงานจากที่บ้าน หลักๆ คือ

  • Work-life balance ได้อยู่ใกล้ครอบครัวมากกว่า
  • Focused work โฟกัสกับงานได้ดีกว่า
  • Commute ไม่ต้องเดินทาง เสียเวลาเสียเงิน

ส่วนเหตุผลที่คนอยากทำงานจากออฟฟิศคือ

  • Collaboration with co-workers ประสานงานกับเพื่อนร่วมงานได้ดีกว่า
  • Social interaction มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ทำงาน

เหตุผลที่ได้คะแนนพอๆ กันคือ เรื่องอาหาร (Food & drink availability) ส่วนเรื่องเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศได้คะแนนมากกว่า แต่ไม่ได้มากเกินไปนัก

แต่ถ้าดูรายละเอียดของผลสำรวจ บางอันก็ขัดแย้งกัน เช่น มีพนักงานถึง 12% ที่เลือกไปออฟฟิศด้วยเหตุผลว่า “work-life balance ดีกว่า” ซึ่งเราก็ยังไม่เข้าใจนัก อาจมีหลายปัจจัย เช่น แบ่งเวลาได้ดีกว่า หรือ สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เหมาะกับการทำงาน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ พนักงานกลุ่มที่บอกว่าอยากทำงานที่ออฟฟิศมากที่สุด (คะแนนเกิน 90%) และพนักงานกลุ่มที่บอกว่าอยากทำงานจากที่บ้านมากที่สุด (เกิน 90%) ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะต้องการ “โฟกัสกับงาน” (focused work) เท่ากันที่ 58% ซะอย่างนั้น ตรงนี้เราคงตีความได้ว่า สไตล์การทำงานของแต่ละคนต่างกัน เรามีมนุษย์ที่ชอบอยู่บ้านแล้วทำงานได้ดี และมนุษย์ที่อยู่ออฟฟิศแล้วทำงานได้ดี

ไมโครซอฟท์เรียกสถานการณ์นี้ว่า Hybrid Work Paradox คือมีความขัดแย้งกันอยู่ ทำให้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เพราะแต่ละคนอยากได้คนละแบบ ซึ่งขัดแย้งกัน

คำถามคือเราจะออกแบบ “รูปแบบการทำงาน” (the way of work) ที่ตอบโจทย์คนทั้งสองกลุ่มจากสองสุดปลายนี้ได้อย่างไร

ข้อมูลอีกชุดที่น่าสนใจคือ ถามว่าเราควรจะเข้าออฟฟิศกันสักกี่วัน บ่อยแค่ไหน โดยเทียบมุมมองระหว่างกลุ่มผู้จัดการ (manager) และกลุ่มพนักงานที่ไม่ใช่ผู้จัดการ (nonmanagerial)

คนส่วนใหญ่ตอบว่า ควรเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3-4 วัน และตามด้วย 1-2 วัน ในขณะกลุ่มสองสุดปลายคือทุกวัน กับแทบไม่เข้าเลย ก็อยู่ในระดับที่น้อยกว่ามาก ตรงนี้สะท้อนมุมมองได้ว่าคนส่วนใหญ่อยากเข้าออฟฟิศ “บ้าง”

คำถามกลับมาเหมือนเดิมว่า เราจะออกแบบวิธีการทำงานอย่างไรให้คนอยากเข้าออฟฟิศทุกวัน, 3-4 วัน, 1-2 วัน, และไม่อยากเข้าเลย สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเสมอภาค ไม่มีการลำเอียงไปยังพนักงานกลุ่มไหนเป็นพิเศษ (เช่น เข้าออฟฟิศทุกวัน ได้คะแนนประเมินดีกว่าเพราะใกล้ชิดหัวหน้างานมากกว่า)

ที่น่าสนใจคือ มุมมองของพนักงานว่าควรเข้ากี่วัน กับ ความคาดหวังของผู้จัดการนั้นต่างกัน นั่นคือ พนักงานอยากเข้าออฟฟิศเยอะกว่าที่หัวหน้างานคาดหวังพอสมควร อันนี้น่าไปตีความต่อว่าเกิดจากอะไร (เช่น ผู้จัดการมองว่าพนักงานน่าจะไม่อยากเข้าออฟฟิศกัน) และมีนัยอะไรต่อ

ข้อเสนออันหนึ่งที่ดีคือ ไมโครซอฟท์บอกว่าหน้าที่ในการเลือกว่าจะเข้างานอย่างไร ควรเป็นระดับของทีมเป็นคนตัดสินใจกันเอง คุยกันเองในทีมว่าจะเข้างานอย่างไร กี่วัน มาเจอกันวันไหน ถ้าคนในทีมตกลงกันได้ มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนให้ทุกคนทำตาม ก็จะช่วยให้การทำงานของทุกคนง่ายขึ้น