in Technology

Work vs Job

ฟัง podcast ของ Recode เกี่ยวกับอนาคตของ “งาน” โดยสัมภาษณ์ Ellen Shell ผู้เขียนหนังสือ “The Job: Work and Its Future in a Time of Radical Change”

ถ้าใครขี้เกียจฟังก็มีเวอร์ชัน transcript ถอดเป็นข้อความมาเรียบร้อยแล้วให้อ่านอีกเหมือนกัน กดอ่านกันเองได้ตามลิงก์

ประเด็นเรื่องการงานแห่งอนาคต (The Future of Work) เป็นเรื่องที่ผมสนใจมานานแล้ว และก็ยังไม่มีใครมองเห็นชัดๆ ว่าภาพอนาคตจะเป็นอย่างไร (อันนี้ปกติ) การพยากรณ์ก็มีหลากหลาย ทั้งในแง่ว่าเราจะตกงานกันหมดเพราะโดนหุ่นยนต์แย่งงาน (ลบสุดๆ) ไปจนถึงงานการจะมีเพิ่มมากกว่าเดิม เพราะเกิดงานแขนงใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน จากเทคโนโลยีที่ล้ำขึ้น (บวกสุดๆ)

ประเด็นที่น่าสนใจจากใน podcast (เท่าที่จำได้)

  • Job กับ Work เป็นคนละอย่างกัน โดย Job (ตำแหน่งงาน) เป็นซับเซ็ตของ Work (การทำงาน) อีกที
  • Job เป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน (ประมาณ 100-200 ปี) พร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม
  • ก่อนหน้านั้น ในยุคที่แทบทุกคนเป็นเกษตรกร เราไม่มี Job คือไม่ได้เป็นลูกจ้าง เพราะทุกคนเป็นนายของตัวเอง ถ้าพูดภาษาสมัยนี้คือเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur)
  • ในยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มี Job คือทำงานเป็น “ลูกจ้าง” ของคนอื่นอีกที คนส่วนน้อยคือทำงานแขนงอื่น (เช่น เป็นผู้ประกอบการ) แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทน สัดส่วนของ Job แบบเดิมจะเริ่มลดลง กลายเป็นงานแขนงอื่น (เช่น ผู้ประกอบการ งานครีเอทีฟ หรือ gig economy) มีสัดส่วนมากขึ้น
  • “everything that can be digitized will be digitized”
  • ผู้เขียนบอกว่าการเป็นผู้ประกอบการ จะกลับกลายมาเป็นเรื่องสำคัญ (being an entrepreneur in the broadest sense is pretty critical) แต่ไม่ได้ขยายความว่าสำคัญอย่างไร (ฟังแล้วยังเกิดข้อกังขาว่า จะมาทำธุรกิจอะไร ขายใครกันได้เยอะขนาดนั้น)
  • เมื่อคอนเซปต์ของการทำงาน (Job) มันลื่นไหล มีไดนามิกมากขึ้น โมเดลการสร้างคนแบบมหาวิทยาลัย (college) มันจึงแข็งตัวเกินไป (ในบริบทของสหรัฐยังมีเรื่องค่าใช้จ่าย ที่คนส่วนใหญ่ต้องกู้เพื่อมาเรียนมหาวิทยาลัย กลายเป็นหนี้ที่ต้องแบกรับเมื่อเข้าสู่อาชีพการงาน ที่อาจล้าสมัยได้โดยเร็ว)
  • ผู้เขียนเสนอว่า เราควรปรับโมเดลการศึกษาใหม่ ให้การศึกษาในระบบจบแค่ไฮสกูล โดยสอนให้เด็กมีทักษะพื้นฐาน อ่านออก เขียนได้ สื่อสารได้ บวกเลขเป็น ฯลฯ จากนั้นก็ส่งเข้าระบบแรงงานได้เลย มาเรียนรู้เนื้องานเอาหน้างานดีกว่า เพื่อให้ยืดหยุ่นกับความต้องการแรงงานมากขึ้น
  • คนเรามีเหตุผลในการทำงานที่แตกต่างกันไป บางคนทำงานเพราะต้องการความท้าทาย (challenge) บางคนต้องการความมั่นคง (stability) ซึ่งไม่ควรไปตัดสินใจแทนกัน
  • ในอดีต งานในโรงงาน มีความมั่นคงสูงกว่าเกษตรกรรม เพราะไม่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ แต่ยุคนี้มันไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ทุกงานมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • Gig economy มีความเสี่ยงสูง ก็ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการความมั่นคงเช่นกัน คนที่มาทำอาชีพนี้บางส่วนก็ไม่ได้ทำเพราะชอบงาน แต่เป็นเพราะไม่มีทางเลือกอื่นแล้วต่างหาก

ภาพประกอบ: Pexels