เคยเขียนไปทีหนึ่งแล้วว่า กำลังอ่านหนังสือเรื่อง Hillbilly Elegy อยู่ (จริงๆ คือฟังผ่าน audiobook ตอนขับรถไปทำงาน ซึ่งกว่าจะจบก็นานมากเพราะไม่ได้ขับทุกวัน)
ตอนนี้อ่าน/ฟังจบแล้ว ได้เวลาเขียนถึงสักหน่อย
Hillbilly Elegy เป็นหนังสือที่วางขายในปี 2016 ก่อน Donald Trump ชนะการเลือกตั้งเล็กน้อย (หนังสือออก มิ.ย. เลือกตั้งเดือน พ.ย.) มันเป็นหนังสือแนวบันทึกความทรงจำ (memoir) ของผู้เขียน ที่เติบโตมาในสังคม Hillbilly คนขาวยากจนในรัฐโอไฮโอ ที่เต็มไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมมากมาย
ตอนแรกหนังสือเล่มนี้ดูเหมือนเป็นหนังสือบันทึกความทรงจำทั่วๆ ไปที่ไม่มีอะไรพิเศษ ผู้เขียน J. D. Vance ไม่ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียงใดๆ มาก่อน (เกิดปี 1984 ตอนเขียนก็คืออายุแค่ 32 ด้วยซ้ำ) แต่พอ Trump ชนะเลือกตั้งขึ้นมาแบบพลิกทุกโผ ทำให้สังคมอเมริกันเริ่มสนใจหาคำตอบ (ในเชิงลึก) ว่าทำไมคนถึงเลือก Trump กัน
หนังสือเล่มนี้เริ่มมาดังในช่วงต้นปี 2017 หลัง The New York Times รีวิวว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ทำให้เราเข้าใจคนที่เลือก Trump ว่าคิดอะไรยังไง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดเรื่อง Trump ตรงๆ แต่สะท้อนมุมมองของ “ชนชั้น” (ทั้งในทางเศรษฐกิจ-สังคม) ที่เรียกแบบง่ายๆ ว่าเป็น “คนขาวจน” (poor white) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 แบบเต็มๆ แต่ถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลโอบามา ที่เน้นเรื่องชนกลุ่มน้อยในเชิงเชื้อชาติมากกว่า (เช่น คนดำ ฮิสปานิก ผู้อพยพ)
จึงไม่น่าแปลกใจที่คนขาวกลุ่มนี้จะเทคะแนนให้ Trump ที่สื่อข้อความโดนใจพวกเขาในการหาเสียง (จะทำได้จริงไหมอีกเรื่องนึง)
แกนหลักของ Hillbilly Elegy คือเล่าเรื่องชีวิตตัวเองของ J.D. Vance ที่เกิดมาในสังคมคนขาวยากจน (hillbilly หรือ redneck) ในพื้นที่ตอนกลางของสหรัฐ แถบเทือกเขา Appalachian ตัวเขาเองเติบโตมาในเมือง Middletown ของรัฐ Ohio แต่เครือญาติมีถิ่นฐานมาจากรัฐ Kentucky ที่อยู่ติดกัน (เรารู้จัก Kentucky จากไก่ทอด KFC ที่ดูทันสมัย แต่จริงๆ เป็นรัฐที่ค่อนข้างจนเลยทีเดียว GDP per capita อยู่อันดับ 42 จาก 50 รัฐ)
ชีวิตของ J.D. Vance แบบสั้นๆ
- แม่ของเขาเรียนไม่จบมัธยมเพราะท้อง มีลูกเป็นพี่สาวของ J.D. จากนั้นก็เลิกกับสามี แต่งงานใหม่ มีลูกเป็น J.D. แล้วเลิกกันอีก ตลอดเรื่องแม่เปลี่ยนผู้ชายไป 5-6 คน
- พอไม่มีพ่อเป็นตัวเป็นตน แม่เปลี่ยนผู้ชายไปเรื่อยๆ บวกกับแม่อารมณ์ไม่เสถียร เพราะปัญหาเรื่องผู้ชาย จึงเกิดความรุนแรงในบ้าน ทะเลาะ ลงไม้ลงมืออยู่ตลอดเวลา และตอนหลังแม่หันไปติดยา ชีวิตยิ่งแย่เข้าไปอีก
- โชคดีว่า J.D. Vance มีตาและยาย (ที่บ้านอยู่ไม่ไกลกันนัก) คอยอุ้มชูอยู่ ตาและยายเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมแบบ hillbilly ขนานแท้จาก Kentucky คือ รักพวกพ้อง เน้นกฎหมู่ ไม่สนใจกฎหมาย กับคนนอกลุยเต็มที่ แต่กับคนในก็ช่วยกันเต็มที่
- หลังจาก J.D. เจอปัญหาชีวิต แม่อารมณ์ไม่เสถียรจนขู่ว่าจะขับรถชนให้ตายพร้อมกันหมด (จนเขาต้องวิ่งลงจากรถ หนีไปบ้านคนแถวนั้นให้โทรเรียกตา-ยายมาช่วย) เขาก็ย้ายมาอยู่กับตา-ยาย ที่ถึงแม้อารมณ์เสีย ปากร้าย แต่ก็รักเขามาก จนกลับมาเข้าที่เข้าทางได้ เข้าชั้นเรียนแล้วเต็มที่กับการเรียนได้ดีขึ้นมาก (พี่สาวแต่งงาน และโชคดีมีครอบครัวที่สงบสุข)
- ครอบครัวของ J.D. ไม่เคยมีใครได้เรียนระดับ college เลย แต่ยายมองเห็นว่า J.D. มีหัวไปได้ จึงผลักดันให้เข้ามหาวิทยาลัยได้
- แต่ J.D. คิดว่าตัวเองไม่พร้อมสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัย เพราะชีวิตไม่เคยมีใครบอกว่ามันจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร (ตอนนั้นตาก็ตายแล้ว เหลือแต่ยาย) บวกกับไม่มีเงินมากนัก เลยตัดสินใจสมัครเป็นนาวิกโยธิน และได้ไปร่วมรบที่อิรักด้วย (แม้จะไม่ได้อยู่แนวหน้ามากนักก็ตาม)
- จุดเปลี่ยนของชีวิตคือการเป็นนาวิกโยธิน ที่ J.D. บอกว่าเขาโตมาในสังคมที่กรอบคิดคือ “ทำไม่ได้หรอก” (can’t do) [ตรงนี้ J.D. วิจารณ์ว่าเป็นปัญหาเชิงวิธีคิดของพวก hillbilly เลยด้วย] มาสู่สังคมทหารที่สอนว่า “ทุกอย่างเป็นไปได้” (can do) เลยช่วยให้เขาโตจากวัยรุ่นขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ได้เต็มรูปแบบ (แม้จะไม่มีญาติผู้ใหญ่คอยช่วยนำทาง แต่ก็ได้สังคมครูฝึกมาแทน)
- หลังหมดช่วงนาวิกโยธิน เขาไปสมัครเรียนที่ Ohio State University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลประจำรัฐโอไฮโอที่ตัวเองอาศัยอยู่
- พอเห็นความเหลื่อมล้ำ เห็นความยากจนมา เขาเลยสนใจเรียนกฎหมาย
- การไปเป็นทหารอยู่พักใหญ่ๆ ในสมรภูมิจริงๆ ที่อิรัก ทำให้ความคิดอ่านเหนือกว่าเพื่อนในชั้นที่เพิ่งจบไฮสกูลกันมา
- แถมเป็นทหารมีเงินเดือนเยอะพอสมควร และไม่ค่อยได้ใช้เงิน ทำให้มีเงินค่าเทอมด้วย
- เมื่อจบมหาวิทยาลัยแล้ว เขาก็คิดใหญ่จะเลื่อนชั้นทางสังคม โดยการเรียนปริญญาโทด้านกฎหมาย และสามารถเข้า Yale Law School ได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยระดับอีลิทลักษณะนี้ มีโควต้าสำหรับนักศึกษาที่ยากจน
- เขาเลยได้เลื่อนชั้นทางสังคม จากเด็กบ้านแตก มาสู่นักศึกษากฎหมาย Yale ที่บริษัท Law firm ดังๆ แย่งตัวกันตั้งแต่ยังเรียนปี 1
- หนังสือจบที่ตอน J.D. จบจาก Yale, แต่งงานกับเพื่อนร่วมชั้นที่ Yale และได้ทำงานที่ดี มีรายได้สูง แต่ก็ยังมีปัญหาครอบครัวอยู่เบื้องหลัง
สิ่งที่สะท้อนอยู่ใน Hillbilly Elegy คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม เพราะชีวิตของ J.D. เปลี่ยนแปลงเร็วมาก นับตั้งแต่ตอนจบไฮสกูลสู่การเรียน Yale ภายในเวลาไม่กี่ปี เขาจึงสามารถเปรียบเทียบได้ว่า คนที่มาจากชนชั้นทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ต่ำแบบเขา พอต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างไป เขาไม่เคยมีใครมาบอกว่าต้องทำตัวอย่างไรในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ โดยเฉพาะใน Yale ที่เต็มไปด้วย “โอกาส” มากมาย
ตอนที่ชอบคือ J.D. ไปกินข้าวกับพวก law firm ที่มาดูตัวนักศึกษาก่อนจบ พาไปเลี้ยงดินเนอร์หรู ซึ่งเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “sparkling water” คืออะไรตอนที่บ๋อยมาถามว่าจะดื่มน้ำอะไร (ซึ่งเขาก็ค้นพบว่ามันคือน้ำอัดแก๊สนี่หว่า!) หรือพอขึ้นโต๊ะอาหารแล้วต้องใช้มีดส้อมอันไหนตอนไหน (แก้ปัญหาโดยขอออกมาเข้าห้องน้ำ แล้วโทรไปถามแฟน)
สิ่งที่น่าสนใจคือ Yale อาจมีทุนการศึกษาให้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่นักศึกษาอย่าง J.D. ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มองเห็นไม่ชัดในตอนแรกๆ ด้วย เช่น เพื่อนร่วมชั้นที่มาจากสังคมไฮโซ ที่มีวิธีคิดแตกต่างออกไป
ส่วนสังคม Hillbilly ที่ J.D. ทิ้งไว้เบื้องหลังแล้วนั้น เขาวิจารณ์ว่าปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากวิธีคิดของชาว Hillbilly เองที่ขี้เกียจ ขาดวินัย ขาดคุณธรรมด้วย เมื่อบวกกับปัญหาเชิงเศรษฐกิจในภาพรวม เลยยิ่งทำให้สังคมในพื้นที่เหล่านี้แย่เข้าไปอีก และไม่น่าแปลกที่คนซึ่งสามารถย้ายตัวเองได้ จะย้ายออกมา
เรื่องเล่าในหนังสือ Hillbilly Elegy ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลย ปัญหาสังคมลักษณะนี้ ครอบครัวแบบ J.D. มีให้เห็นมาแล้วนับไม่ถ้วน สิ่งที่เป็นของใหม่คือ J.D. เป็น “สิ่งแปลกปลอม” ในหมู่ Hillbilly (เขาใช้คำนี้เอง เพราะภายหลังเขาก็รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากสังคมที่เกิด) เพราะสามารถถีบตัวเองขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถ “เล่าเรื่อง” ของเขาออกมาเป็นภาษาแบบปัญญาชน ให้กับกลุ่มผู้อ่านที่มีสถานะทางสังคมเหนือกว่า Hillbilly รับทราบได้อย่างถ่องแท้ (Hillbilly คนอื่นอาจมีปัญหาหนักกว่า J.D. แต่ไม่มีปัญญาเล่าออกมาได้)
สิ่งที่เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ เทียบกับบริบทของเมืองไทยก็คือ มันยังมีกลุ่มคนที่ under-represented อีกมากในบ้านเรา แม้ว่าบริบททางวัฒนธรรมนั้นแตกต่างกันไป แต่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น เราต้องหาคนเหล่านี้ให้เจอ (ในเชิง socio-demographic ที่ซ้อนลงไปยิ่งกว่าเชื้อชาติ ถิ่นฐาน หรืออายุ เพราะเคสนี้คือเป็นคนขาว หน้าตาเหมือนคนอเมริกันผิวขาว แต่ดันจน) และขุดลึกลงไปให้ได้ว่า พื้นฐานชีวิตและจิตใจของพวกเขา อยากได้อะไร
หนังสือเสียงที่ฟังเป็นเวอร์ชัน J.D. มาอ่านด้วยตัวเอง น้ำเสียงเลยยิ่งอินเป็นพิเศษ ฟังแล้วก็ค่อนข้าง emotional เหมือนกันในหลายๆ จุด (โดยเฉพาะตอนที่ชีวิตมีปัญหา หรือตอนที่ยายตาย)
บทความคนไทยอื่นๆ ที่เขียนถึง
- นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ : ประชาธิปไตยในด้านมืด – มติชน
- Hillbilly Elegy บันทึกชีวิตชาว hillbilly ภาพจำที่ต่างออกไปของคนอเมริกันผิวขาว – The Matter
หมายเหตุ: หนังสือกำลังจะกลายเป็นหนัง ฉายบน Netflix ในปี 2020 นี้ มีหน้าเว็บบน Netflix แล้ว