in Business, Technology

Freemium ที่คุณยอมจ่าย

โมเดลธุรกิจในโลกออนไลน์มีอยู่ไม่กี่แบบ ตั้งแต่การขายของตรงๆ, โฆษณา, subscription และแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของโลกออนไลน์หน่อยคือ Freemium (เปิดให้ใช้ฟรี แต่จ่ายเงินเพื่อเพิ่มคุณค่าบางอย่าง)

ความยากของ Freemium คือเราจะทำอย่างไรให้คนยอมจ่ายเงิน ซึ่งบริการแต่ละตัวก็แตกต่างกันไป แต่คิดว่าสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มกว้างๆ คือ เล่นกับความอยากได้อยากมี (พบบ่อยในเกมฟรี ที่ซื้อไอเทม cosmetic ทั้งหลาย) กับเล่นกับความรำคาญหรืออุปสรรคบางอย่าง (สร้างอุปสรรคปลอมๆ ขึ้นมา เพื่อบีบให้จ่ายเงินเพื่อความสะดวกในชีวิต จ่ายตัดรำคาญ เช่น เกมที่มีจำกัดเทิร์นหรือขีดพลัง-ขีดเวลา)

พอนึกถึงเรื่องนี้เลยมานั่งย้อนดู Freemium ในชีวิตจริงว่ามีอะไรบ้าง ใช้กลวิธีอะไร และเรายอมจ่าย-ไม่ยอมจ่ายอะไรบ้าง

  • Spotify
    • วิธีการ: มีโฆษณาแทรก และเลือกเพลงเองไม่ได้
    • ผล: ไม่จ่ายเพราะไม่ค่อยได้ฟังเพลงเท่าไร และฟังแบบไม่ระบุเพลงอยู่แล้ว
    • ความเห็น: อันนี้เป็น personal lifestyle ด้วย เผอิญไม่ได้เป็นคนฟังเพลงมากนัก แต่ก็เข้าใจคนที่จ่าย ซึ่งก็มีเยอะด้วย
  • YouTube
    • วิธีการ: มีโฆษณาแทรก
    • ผล: เจอโฆษณาต้นคลิปแบบ 2 ตัวติดกัน เริ่มจะทนไม่ไหว และคงจะจ่าย YouTube Premium ในเร็วๆ นี้
    • ความเห็น: คิดว่า YouTube เป็นบริการที่ไม่มีคู่แข่งโดยตรงด้วย ทำให้ผู้ใช้มีทางเลือกไม่มาก
  • Gmail
    • วิธีการ: จำกัดพื้นที่
    • ผล: ยอมจ่ายไปนานแล้ว 70 บาทต่อเดือน
    • ความเห็น: Gmail คล้าย YouTube คือบริการคู่แข่งเทียบได้ยาก ยังไงก็ต้องยอมจ่าย
  • Dropbox
    • วิธีการ: จำกัดพื้นที่ จำกัดจำนวนอุปกรณ์ซิงก์
    • ผล: เลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้ Google Drive/OneDrive แบบจ่ายเงินแทน
    • ความเห็น: Dropbox ต่างจาก Gmail เพราะมีบริการคู่แข่งที่ใช้แทนได้ 100% และคู่แข่งมี value proposition ที่ดีกว่า (จ่าย OneDrive ได้ Office ด้วย, จ่าย Google Drive ได้ Gmail ด้วย)
  • Evernote
    • วิธีการ: จำกัดพื้นที่ จำกัดจำนวนอุปกรณ์ซิงก์
    • ผล: เลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้ OneNote แทน ซึ่งฟรี
    • ความเห็น: เป็นบริการที่น่าสงสาร คือเจอคู่แข่งที่ใช้แทนกันได้ 100% หลายตัว
  • Flickr (สมัยก่อน)
    • วิธีการ: จำกัดจำนวนรูปที่มองเห็น (รูปยังอยู่แต่รูปเก่าเกินลิมิตจะมองไม่เห็น)
    • ผล: ยอมจ่าย (ในตอนนั้น) แต่พอมี Google Photos แล้วก็ลาก่อน
    • ความเห็น: เป็นเรื่องสภาพการแข่งขันและบริบทของแต่ละช่วงเวลาจริงๆ

พอมานั่งลิสต์ๆ ดูแล้วพบว่ามันขึ้นกับ value proposition เชิงสัมพัทธ์ อิงกับสภาพการแข่งขันในท้องตลาดอยู่เยอะเหมือนกัน หากบริการนั้นมีสภาวะแบบ “กึ่งผูกขาด” หรือมี network effect บางอย่างได้ เหตุผลที่จะต้องใช้มัน และจ่ายเงินให้มันก็มีเยอะมากขึ้นมาก