in Politics

Fareed Zakaria – The Next Revolution

ในฐานะผู้สนใจการเมืองอเมริกา สิ่งที่ผมสนใจในช่วงที่ผ่านมาคือ ชัยชนะของ Donald Trump ในการเลือกตั้งปี 2024 ซึ่งมีคนพยายามอธิบายเหตุผลต่างๆ ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ปัญหาผู้อพยพข้ามพรมแดน และปัญหาทางวัฒนธรรม หรือที่เรียกว่า Identity Politics

คำอธิบายสำคัญของผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นเรื่อง The Diploma Divide ช่องว่างทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างคนมีการศึกษาระดับปริญญา กับคนที่ไม่มี ซึ่งถ่างออกจากกันเรื่องๆ เพียงแต่คนกลุ่มหลัง (ที่เอนเอียงมาทาง Trump) มีจำนวนเยอะกว่า เลยเป็นผลให้ Trump ชนะการเลือกตั้ง

ผมยังไม่ค่อยพอใจกับคำอธิบายนี้เท่าไรนัก เพราะยังไม่ตอบคำถามเรื่อง Identity Politics หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า woke vs anti-woke ได้หมดจดสักเท่าไร

ช่วงหลังปีใหม่เป็นต้นมา ผมนั่งไล่ดูคลิปของ Fareed Zakaria นักวิเคราะห์การเมืองชื่อดังแห่ง CNN แล้วไปเจอคลิปแกโปรโมทหนังสือเล่มใหม่ Age of Revolutions ซึ่งวางขายมาตั้งแต่ต้นปี 2024 (เคยเขียนถึงหนังสือเล่มนี้นิดหน่อย)

ตอนแรกอ่านแต่ชื่อหนังสือก็ไม่ค่อยเข้าใจนักว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร ย้อนประวัติศาสตร์การปฏิวัติงั้นรึ? เลยไม่ได้สนใจมากนัก จนกระทั่งมาเจอคลิปแกให้สัมภาษณ์แบบยาวๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 (ก่อน Biden ถอนตัวจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยซ้ำ) พอมาฟังตอนนี้ (หลังการเลือกตั้ง) แล้วพบว่าการวิเคราะห์แม่นยำมาก แถมยังมีคำตอบของคำถามหลายอย่างที่ผมตามหาอยู่ด้วย

สรุปเนื้อหาจากคลิปสัมภาษณ์ (ผู้สัมภาษณ์คือ Mustafa Suleyman ผู้ร่วมก่อตั้ง DeepMind และตอนนี้เป็นซีอีโอ Microsoft AI)

  • Fareed เขียนหนังสือเล่มนี้ จากข้อสังเกตของเขาว่า รัฐบาล Obama บริหารเศรษฐกิจได้ดี พาสหรัฐอเมริกาให้รอดจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ แต่ทำไมคะแนนนิยมของ Obama กลับไม่กระเตื้องขึ้นเลย ภาวะนี้เกิดซ้ำกับรัฐบาล Biden ที่พาสหรัฐอเมริกาผ่านวิกฤต Covid ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ เช่นกัน และคะแนนนิยมของ Biden คือเรี่ยดิน
  • แสดงว่าความสัมพันธ์ “บริหารเศรษฐกิจดี = คะแนนนิยมทางการเมืองดี” ที่เป็นความจริงในอดีต มันใช้ไม่ได้อีกแล้ว โลกเราเปลี่ยนไปสู่บางอย่างที่มากกว่านั้น

  • Fareed ยกตัวอย่างสปีชของ Tony Blair อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่เคยพูดไว้นานแล้วว่า โลกการเมืองเปลี่ยนจาก “Left vs Right” มาสู่ “Open vs Closed
  • Fareed บอกว่าโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระดับ “ปฏิวัติ” (something big is happening, something revolutionary.) เราอยู่ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากเยอะมากๆ ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคม การเมือง
  • เมื่อตอบไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร ทำให้ Fareed ย้อนกลับไปค้นหาว่า ในอดีตโลกเคยมีช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงสำหรับ “ปฏิวัติ” มาก่อนหรือไม่ มีอะไรบ้าง จึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้คือ Age of Revolutions รวมการปฏิวัติสำคัญในอดีต เพื่อเป็นเข็มทิศสู่อนาคต
  • คำว่า “การปฏิวัติ” ในความหมายของ Fareed ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับทั้งสังคม เขายกตัวอย่างว่า American Revolution เอาเข้าจริงไม่ใช่การปฏิวัติสังคม เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับการปกครอง จากกษัตริย์อังกฤษ พระเจ้าจอร์จที่ 3 มาสู่การปกครองตัวเองโดยผู้นำอาณานิคมเท่านั้น เป็นสงครามประกาศอิสรภาพของอาณานิคม แต่ชีวิตของชาวบ้านในแผ่นดินอเมริกายังเหมือนเดิม กลับไปมีสิทธิมีเสียงเท่ากับชาวอาณานิคมก่อนยุคของจอร์จที่ 3 ที่ริดรอนสิทธิเหล่านี้ไป
  • การปฏิวัติที่ Fareed มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นจริงๆ คือ Dutch Revolution ของเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของระบบการเมือง-เศรษฐกิจยุคใหม่ เกิดรัฐสมัยใหม่ที่นำโดยพ่อค้า (modern merchant republic) เกิดสังคมเมืองขนาดใหญ่ เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างการจัดการน้ำ การเปลี่ยนทะเลเป็นพื้นดิน เกิดการเดินเรือซึ่งนำไปสู่โลกาภิวัฒน์ เกิดตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (Dutch East India Company) มนุษย์มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน  ซึ่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถูกโอนถ่ายต่อไปยังอังกฤษ และส่งผลให้อังกฤษกลายเป็นเจ้าโลกแทน
  • การปฏิวัติอื่นๆ ที่เข้าข่ายนิยามของ Fareed คือ การปฏิวัติฝรั่งเศส (แม้เขามองว่าเป็นการปฏิวัติที่ล้มเหลว เพราะเป้าหมายคือโค่นระบอบกษัตริย์ จบด้วยนโปเลียนตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิ) และการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น the mother of all revolutions และเป็นจุดเริ่มต้นของโลกสมัยใหม่อย่างแท้จริง แท้จริงแล้วมันคือการปฏิวัติพลังงาน (energy revolution) เปลี่ยนจากการใช้ม้ามาสู่ถ่านหิน เป็นครั้งแรกที่มนุษยชาติสามารถเคลื่อนย้ายอะไรก็ได้ (move anything) เกิดเครื่องจักรไอน้ำ เกิดชนชั้นทางเศรษฐกิจแบบใหม่ (worker, craftsman, tradesman) และนำมาสู่โครงสร้างการเมืองแบบใหม่ ภายหลังเมื่อค้นพบไฟฟ้า ก็ถือเป็น The Second Industrial Revolution อีกต่อหนึ่ง
  • แต่การเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไปก็ย่อมเกิดแรงต้านทางสังคม คนจำนวนหนึ่งในสังคมจะเรียกร้องให้กลับสู่วันเก่าๆ (Let’s go back to the good old days.) และเนเธอร์แลนด์เองก็เคยเจอปรากฏการณ์นักการเมืองเรียกร้องให้ Make Netherlands Great Again (ฮา)
  • ความรู้สึกอยากหวนกลับไปสู่คืนวันเก่าๆ เป็นสิ่งที่เจอได้ทั่วไป การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 เกิดจากความไม่พอใจต่อการปฏิรูปของพระเจ้าชาห์ และย้อนอดีตกลับไปสู่รัฐศาสนา (ตรงนี้ผมเสริมว่า รัฐประหารในไทยปี 2006 และ 2014 ก็เป็นแบบเดียวกัน)
  • Fareed บอกว่า โดยทั่วไปแล้ว การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่รวดเร็ว จะช่วยส่งผลทางเศรษฐกิจในด้านบวก ถ้ามองในกรอบเวลา 30-40 ปี คนจะมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก คนที่ไม่พอใจกับการปฏิวัติเองก็ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ไม่พอใจจริงๆ เป็นเชิงวัฒนธรรม (deep cultural unease) ต่างหาก
  • เราเห็นผู้นำโลกหลายๆ ประเทศ ใช้แนวทางกลับสู่วัฒนธรรมชาตินิยม ตอบโต้การเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมสากล เช่น Modi ของอินเดีย, Erdogan ของตุรกี, Xi Jinping ของจีน
  • การต่อสู้ทางวัฒนธรรมนั้นสุดขั้วทั้งสองปีก ถ้าเป็นฝ่ายขวาจะเป็นการต่อต้านการปฏิวัติ (counterrevolution) ซึ่งเป็นแรงปฏิกิริยา ส่วนฝ่ายซ้ายจะเป็นการคลั่งซ้ายสุดขั้ว ดันสู่การปฏิวัติแบบสุดตัว เหมือนกลุ่ม Jacobin ในช่วงหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสังคมย่อยการเปลี่ยนแปลงเยอะขนาดนี้ไม่ทัน (societies cannot digest that much change) ซึ่งฝ่ายซ้ายอเมริกันกำลังเดินหน้าตามแนวทางที่ผิดพลาดนี้
  • Fareed ยกตัวอย่างเรื่องการเปิดรับผู้อพยพ ว่าเป็นจุดแข็งของสหรัฐอเมริกาเหนือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ช่วยให้ไม่มีปัญหาประชากรล่มสลาย (ตัวเขาเองก็เป็นผู้อพยพจากอินเดียมาอยู่อเมริกา) แต่ถ้าเยอะเกินไป สังคมจะรับไม่ทัน ตอนนี้ประชากรอเมริกา 15% เกิดที่ประเทศอื่น เทียบกับ 4% ในปี 1975 ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก หรืออย่างในสวีเดนที่โอบรับผู้อพยพจำนวนมาก ขยับจาก 2% มาเป็น 22% จึงเกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย เมื่อเรามีเพื่อนบ้านที่หน้าตาแตกต่างไป พูดภาษาไม่เหมือนกัน นับถือเทพเจ้าคนละองค์ จึงเกิดความกลัว
  • การเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสายตาของ Fareed คือ บทบาทของผู้หญิง
  • ทุกสังคม ทุกวัฒนธรรมในโลก มีระบบชนชั้น (class) หรือวรรณะ (caste) ที่แตกต่างกันไป บางเผ่าเป็นชนชั้นปกครอง บางเผ่าเป็นผู้ถูกปกครอง แต่ที่เหมือนกันทุกสังคมตลอดมาคือ เพศหญิงถือเป็นชนชั้นสองของสังคม อยู่ต่ำกว่าผู้ชายมาตลอด จนกระทั่งเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ถึงมีแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศขึ้นมา
  • บทบาทของผู้หญิงที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อยูนิตขนาดเล็กที่สุดของสังคมคือครอบครัว ไดนามิกในครอบครัวเปลี่ยนไปมาก จึงเกิดแรงต้านตามมา เราจะเห็นว่า กลุ่มเคร่งศาสนา (religious fundamentalism) ทั่วโลก ไม่ว่าอิสลาม คริสเตียน ยิว มีจุดร่วมตรงกันคือต้องการให้ผู้หญิงกลับไปอยู่ในครัว แม้แต่ Xi Jinping ก็เคยพูดว่าผู้หญิงควรต้องกลับไปเลี้ยงลูก
  • มีประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่ไม่มีปัญหาเชิงวัฒนธรรม ไม่มีพรรคการเมืองขวาจัด คือ ญี่ปุ่น เพราะไม่เคยเปิดรับผู้อพยพ และยังจำกัดบทบาทของเพศหญิงตามค่านิยมแบบดั้งเดิมอยู่มาก
  • บทบาทของศาสนาในอดีตคือบอกเราว่า อะไรคือความหมายของชีวิต อะไรคือชีวิตที่ดี (what a good life is) แต่ในสังคมยุคใหม่ที่ไม่มีศาสนา แนวคิดแบบเสรีนิยม บอกว่าแต่ละคนมีความสุขในชีวิตแตกต่างกันไป เป็นเรื่องปัจเจก (the private pursuit of happiness) ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ไม่ดีพอสำหรับคนจำนวนมาก เพราะคนอยากมีความเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่ใหญ่กว่าตัวเอง พอมาอยู่ในสังคมเสรีนิยมเลยรู้สึกว่างเปล่าอยู่ภายใน
  • สหรัฐอเมริกามีความเคร่งศาสนาสูงมากในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน แต่เกิดกระบวนการไม่นับถือศาสนาใดๆ (secularization) อย่างรวดเร็ว คนที่ไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 30% ภายในเวลา 30 ปี จึงมีผลต่อสังคมและวัฒนธรรมและอเมริกันมาก พอมีประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มาแย่งงานเดิม คนเลยยิ่งเปราะบางเข้าไปอีก
  • ข้อเสนอของ Fareed คือในยุคที่สังคมแตกแยก เราต้องสร้างการต่อรองและรอมชอม (compromise) การรอมชอมกันในเชิงเศรษฐกิจเป็นเรื่องง่าย เพราะมีตัวเลขให้ต่อรองหาจุดสมดุลตรงกลาง เจรจาตัวเลขกันได้ แต่การต่อรองในประเด็นเชิงสังคม (ในบริบทของอเมริกาคือ 3G = god, guns, gays) เป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะเราจะรู้สึกว่าโดนอีกฝ่ายดูถูกหรือหยามเหยียด ไม่มีใครยอมใคร
  • Trump เป็นเซลส์แมน เป็นนักเจรจาต่อรอง และมีความ moderate มากกว่าที่คิดกัน ตัวอย่างคือวิวาทะเรื่องทำแท้งเสรีของสหรัฐ ทางออกของ Trump ไม่ใช่ยกเลิกการทำแท้งเสรีไปทันที แต่เป็นการกระจายอำนาจให้แต่ละรัฐ

เนื้อหาหลักๆ ในบทสัมภาษณ์ประมาณนี้ ฟังจบแล้วได้ “กรอบ” ในการมองการเปลี่ยนแปลงสังคมเพิ่มขึ้นอีกมาก และกดสั่งหนังสือ Age of Revolutions ของพี่แกมาอ่านทันทีแบบไม่ต้องคิดมาก อ่านจบแล้วจะมาเขียนถึงอีกครั้ง