in Uncategorized

Why Donald Trump Won (Again)

หลังจากเขียนเรื่อง The Second Coming of Donald Trump ไป ก็พบว่ามีคนอ่านเยอะกว่าที่คิด (ขอบคุณนะครับ) ช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีโอกาสฟังความเห็น บทวิเคราะห์ต่างๆ มีข้อมูลที่ตกผลึกมากขึ้นพอสมควร เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว จึงมาบันทึกไว้เช่นกัน

นักวิเคราะห์ที่สรุปได้ตรง (สำหรับผมเอง) ที่สุดยังเป็นหน้าเดิมๆ อย่าง Fareed Zakaria คอลัมนิสต์คนดังของ CNN (สื่อที่ Trump เกลียด 555) และ Ian Bremmer นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งมุมมองออกมาคล้ายๆ กัน

หากอิงจากบทวิเคราะห์ของ Fareed อธิบายว่า Trump ชนะ (หรือจริงๆ จะพูดให้ถูกต้องบอกว่า Kamala แพ้) ด้วยปัจจัยหลัก 3 ข้อคือ Economy, Immigration และ Identity Politics คิดว่าใช้เค้าโครงตามนี้

Economy

หากไปดู “เสียงประชาชน” ที่สะท้อนผ่านสื่อสหรัฐว่า ปัจจัยใดสำคัญที่สุดในการเลือกตั้ง คำตอบอันดับหนึ่งคือ “เรื่องเศรษฐกิจ”  (the economy) ของรัฐบาลไบเดน

หากซูมดูเข้าไปละเอียดๆ ว่าปัญหาเศรษฐกิจคืออะไร คำตอบที่ลึกไปกว่านั้นคือเรื่อง “ของแพง” หรือที่ประชาชนสหรัฐใช้คำว่า “เงินเฟ้อ” (inflation)

คลิปที่เป็นไวรัลในประเด็นเรื่องของแพง เป็นคลิปของสาวสวยเชื้อสายเอเชียคนหนึ่ง ที่ออกมาบ่นว่า ราคาแอปเปิลเดี๋ยวนี้ลูกละตั้ง 7 ดอลลาร์

ความรู้สึกข้าวของแพง เงินในกระเป๋าลดลง ชีวิตลำบากขึ้น จนลามมาสู่ความไม่พอใจรัฐบาล นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะภาวะเงินเฟ้อหลัง COVID คลี่คลายนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก และส่งผลให้คนในหลายประเทศไม่พอใจ “รัฐบาลปัจจุบัน” จนส่งผลต่อการเลือกตั้งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก รัฐบาลเดิมแพ้เลือกตั้งในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ที่รอคิวเลือกตั้งในไม่ช้านี้ เช่น แคนาดา ด้วย (Fareed ใช้คำว่า incumbent penalty คือเป็นความเสียเปรียบของรัฐบาลที่ครองอำนาจ)

อย่างไรก็ตาม เราเห็นข่าวกันมาตลอดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาดีที่สุดในโลก หากเทียบกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในยุคหลัง COVID ตลาดหุ้นร้อนแรงทำ new high ตลอดเวลา, ดอลลาร์แข็งค่า, อัตราคนว่างงานต่ำ ฯลฯ ดัชนีเศรษฐกิจออกมาดีทุกตัว

คำถามที่สำคัญจึงเป็นว่า ทำไมคนอเมริกันถึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจมีปัญหา (ของแพง)

ผมคิดว่าคำตอบเป็นไปได้หลายทาง และอาจมีหลายทางประกอบกัน

  • คนอเมริกันไม่ได้สนใจโลกภายนอกมากนักเป็นปกติ จึงมองเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี เป็นเชิงสัมพัทธ์ กับเศรษฐกิจในอดีตที่ตัวเองเคยประสบมา และตัวสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่จับต้องได้ที่สุด (ในเชิงความรู้สึก) คือราคาสิ่งของ ไม่ใช่เงินเดือนหรือรายได้
  • เศรษฐกิจอเมริกัน ดีมากจริงๆ แต่แค่บางเซ็กเตอร์ เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งมีฐานที่มั่นสำคัญในแคลิฟอร์เนียหรือนิวยอร์ก ถิ่นฐานเสียงเดโมแครต ในขณะที่คนอเมริกันรากหญ้าทั่วไป ค่าแรง (real wage) ไม่ได้ดีขึ้นตาม (แม้ถัวเฉลี่ยทั้งประเทศแล้วออกมาดี) จึงรู้สึกไม่พอใจกับรัฐบาลเดโมแครต

ในหนังสือพิมพ์ The New York Times (อีกสื่อที่ Trump เกลียด 555) มีบทวิเคราะห์เรื่องเงินเฟ้อกับการเลือกตั้งเอาไว้ดีทีเดียว How Inflation Shaped Voting ขอคัดมาบางส่วนที่สำคัญ

Some economic problems, like high unemployment, affect only a minority of the population. But higher prices affect everyone.

Inflation also taps into what psychologists call “loss aversion”: People feel negatively about losses much more than they feel positively about gains. So although wages have kept up with inflation or surpassed it, people still feel more pained by sticker shock at the grocery store than elated by their gains.

To make matters worse, consumers can’t do much about inflation. They simply have to cut back their spending on certain things or work more hours to afford them. The sense of loss combined with a feeling of powerlessness leaves people furious. They expect their leaders to fix the problem.

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ price กับ inflation เป็นคนละเรื่องกัน แม้รัฐบาลไบเดนแก้ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อได้ในปีหลังๆ คือ อัตราเงินเฟ้อลดลง แต่ราคาสินค้าขึ้นไปแล้วไม่ลดลง แม้ถูกต้องในเชิงวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่มันเจ็บปวดมากในแง่ความรู้สึก

Inflation fell to normal levels over the past year, but high prices remain. Eggs still cost nearly triple what they did four years ago. When people imagine an ideal end to inflation, they think of prices returning to normal.

“They weren’t saying, ‘Inflation is tough, but at least I have a job thanks to Biden.’ They were saying, ‘Of course I have a job, but now I have to deal with all this inflation thanks to Biden.’”

และแน่นอนว่าความเจ็บปวดนี้ส่งไปยังรัฐบาลไบเดน ที่ต้องเผชิญ “คำสาปของรัฐบาลปัจจุบัน”

จำนวนผู้อพยพข้ามแดนสหรัฐ-เม็กซิโก – source: Elcano Royal Institute

Immigration

ประเด็นใหญ่เรื่องที่สองเป็นเรื่องผู้อพยพเข้าเมือง โดยเฉพาะพรมแดนเม็กซิกัน-อเมริกัน ที่เพิ่มสูงขึ้นมากในปี 2021 เป็นต้นมา

ปัญหาเรื่องผู้อพยพเป็นเรื่องซับซ้อน ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของ COVID ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้คนจำนวนมากเดินทางมา “ตามหาความฝันใหม่” บนแผ่นดินอเมริกา จนกลายเป็นปัญหาวิกฤตผู้อพยพข้ามพรมแดน

คนไทยแบบเราๆ ไม่น่าจะได้ติดตามปัญหานี้กันมากนัก (ผมด้วย) เท่าที่ค้นหาเจอ บทความใน BBC เขียนสรุปเรื่องนโยบายคนเข้าเมืองของทรัมป์ vs ไบเดน ได้เห็นภาพและสั้นกระชับดี

สรุปแบบสั้นๆ คือ ปัญหาคนเข้าเมืองเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทรัมป์แล้ว เมื่อเกิด COVID พอดีทำให้รัฐบาลทรัมป์ใช้กฎหมายด้านโรคติดต่อที่เรียกว่า Title 42 กีดกันไม่ให้คนเข้าเมือง พอข้ามมายังยุครัฐบาลไบเดน กฎหมาย Title 42 ยังมีผลต่อมาอีกสักพักใหญ่ๆ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป COVID ผ่านพ้น ปัญหาผู้อพยพมีจำนวนเยอะขึ้นมาก ตรวจจับกันไม่ไหว รัฐบาลไบเดนจึงปรับนโยบายใหม่ที่ “ผ่อนปรนในเชิงมนุษยธรรม” มากขึ้น

แนวทางของรัฐบาลไบเดนมี 2 ทาง อย่างแรกคือ เปิดช่องทางให้อพยพเข้าเมืองได้ถูกกฎหมาย หากผ่านเงื่อนไขว่าต้องเดินทางโดยเครื่องบิน (ไม่ใช่เดินผ่านพรมแดน) จากประเทศต้นทาง 4 ประเทศในละตินอเมริกา คือ คิวบา เฮติ นิคารากัว เวเนซุเอลา และต้องมีคนในสหรัฐสปอนเซอร์การเงินให้

ความตั้งใจของช่องทางนี้คือ เพิ่มช่องทางเข้าประเทศแบบถูกกฎหมาย เพื่อลดการลักลอบข้ามแดนทางบกแบบผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือมันกลายเป็น loophole ทางกฎหมายให้คนหลายแสนคนเข้าเมืองมาได้แบบสบายๆ (PBS)

อีกช่องทางหนึ่งคือ เปิดให้ผู้อพยพที่ “ลี้ภัย” (asylum) จากประเทศต้นทาง หากถูกส่งกลับสหรัฐไปยังเม็กซิโก อาจเจอการทารุณกรรม ข่มขืน กดขี่ ฯลฯ ได้ ช่องทางนี้ตั้งใจเปิดให้ผู้ลี้ภัยจำนวนไม่มากนัก แต่มันก็กลายเป็น loophole อีกอันเช่นกัน

คนอเมริกันไม่พอใจกับนโยบายนี้ของไบเดนอย่างมาก และประเด็นที่ทั้ง Fareed กับ Ian วิจารณ์ Kamala Harris ตรงกันคือ Harris เคยตอบคำถามว่า จะทำอะไรที่แตกต่างจากรัฐบาลไบเดนหรือไม่ ซึ่งคำตอบของเธอคือ “ไม่มี”

Ian บอกว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด (the most important question) ในการถามผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เป็นรองประธานาธิบดีมาก่อน แต่ Harris กลับตอบได้แย่ที่สุด (worst possible answer) คือไม่คิดจะเปลี่ยนอะไรเลย ในขณะที่อารมณ์ของคนนั้นต้องการความเปลี่ยนแปลง (change)

ภายหลัง Harris กลับลำ และพยายามนำเสนอแผนปฏิรูปของการอพยพเข้าเมืองในช่วงใกล้วันลงคะแนน แต่มันก็สายเกินไปแล้ว

ในทางตรงข้าม ฝั่งของทรัมป์นั้นมีนโยบายด้านคนเข้าเมืองที่โดดเด่นมาตั้งแต่สมัยแรก เช่น แนวคิดการสร้างกำแพงกั้นพรมแดน (build that wall!) แม้ทำไม่ได้จริง แต่ก็มีผลในเชิงภาพจดจำ, การหาเสียงแบบโจมตีจริงๆ จังๆ อย่างที่บอกว่าผู้อพยพกินหมากินแมว และนโยบาย Mass Deportation ที่ใช้หาเสียงหนักมากที่สุดในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันลงคะแนน

หลังชนะเลือกตั้งแล้ว ทรัมป์ยังยืนยันว่า Mass Deportation เป็นนโยบายเร่งด่วนที่สุดที่เขาจะทำในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง

หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป สื่อใหญ่หลายแห่งได้ทำสกู๊ปสัมภาษณ์คนในเมืองใกล้ชายแดนสหรัฐ ว่ามีความเห็นอย่างไรต่อประเด็นคนเข้าเมือง

(ตรงนี้ต้องพึงระลึกว่าอาจเป็น selection bias หลังชัยชนะของทรัมป์ด้วยส่วนหนึ่ง)

Identity Politics

หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในยุคนี้ว่า “woke” แนวคิดเรื่องความหลากหลายเท่าเทียม DEI (diversity, equity, and inclusion) ที่ Fareed วิจารณ์ว่ามันแพร่หลายในกลุ่มผู้มีการศึกษา (ฐานเสียงเดโมแครต) แต่กลับสร้างความแปลกแยกให้กับคนธรรมดาทั่วไป

ตัวอย่างแนวคิด DEI ที่สุดขั้ว คือ ศัพท์ใหม่ที่ผมเพิ่งรู้จักจากการเลือกตั้งคราวนี้เหมือนกัน คำว่า Latinx ซึ่งหมายถึงคนเชื้อละตินอเมริกันแบบไม่แบ่งแยกเพศเป็น Latino และ Latina ฟังแล้วอาจรู้สึกว่ามัน politically correctness ในหลักการ แต่พอไปคุยกับคนละตินเองก็ได้ผลตรงข้ามคือ “อิหยังวะ” และกลายเป็นได้ผลทางตรงข้าม

คลิปเต็มของ Julie Roginsky ที่พูดเรื่องนี้

ในการเลือกตั้งปี 2024 ครั้งนี้ ชัดเจนว่าคนเชื้อสายละติน (hispanic) ที่เป็นฐานเสียงของเดโมแครตมายาวนาน กลับย้ายมาเลือกทรัมป์เยอะมาก แสดงให้เห็นชัดเจนว่าฝ่ายเดโมแครตต้องทำอะไรผิดไปสักอย่าง

เรื่อง identity politics ยังถกเถียงกันได้อีกยาว แต่ประเด็นที่ผมค่อนข้างสนใจในการเลือกตั้งรอบนี้คือ การแบ่งแยกความคิดของเพศชายและเพศหญิง ที่ถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่า โหวตเตอร์เพศหญิงจำนวนมากมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ Kamala Harris ที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน มองประเด็นเรื่องนโยบายทำแท้งเป็นเรื่องใหญ่ (และตัว Harris เองก็ชูประเด็นนี้เป็นหลักในการหาเสียงด้วย)

แต่ผลกระทบของนโยบายนี้ต่อการลงคะแนน มันอาจไม่มากอย่างที่คิดกันไว้ เพราะ Harris ได้คะแนนโหวตจากผู้หญิงน้อยกว่าไบเดนซะอีก ในขณะที่ทรัมป์กลับได้คะแนนเสียงจากผู้หญิงเพิ่มขึ้นจากปี 2020

ในอีกทาง ยุทธศาสตร์ของทรัมป์มุ่งจับคะแนนเสียงของ young men โดยข้ามสื่อกระแสหลัก (ที่เขาเกลียด) มุ่งไปหาสื่อใหม่สายอินฟลูเอนเซอร์ที่กลุ่ม young men ติดตามแทน และนโยบายนี้เหมือนจะได้ผลอย่างงดงาม

ตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์ผู้ทรงอิทธิพล ได้แก่ Joe Rogan นักสัมภาษณ์-พ็อดแคสต์ที่ดังที่สุดแห่งยุคสมัย

หรือTony Hinchcliffe นักแสดงตลกแบบ standup comedy ที่มีดราม่าไปวิจารณ์เปอร์โตริโกว่าเป็น “เกาะขยะ” (island of garbage) จนโดนฝั่งเดโมแครตเอาไปโจมตีหนัก ก็ทรงอิทธิพลต่อวัยรุ่นชายเช่นกัน (ตอนนี้ชนะเลือกตั้งแล้ว พูดอะไรก็ถูกหมด)

เรื่อง gender นี้เป็นสิ่งที่ผมยังไม่เข้าใจแตกฉานนัก คงได้แต่จดเป็นประเด็นเอาไว้เพื่อศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

แต่ภาพรวมนั้นชัดเจนว่าค่ายของ Harris ต้องมีปัญหาบางอย่างในการสื่อสารกับสิ่งที่อยู่ในใจของโหวตเตอร์แน่ๆ

คลิปสรุปที่ดีมากอันนึงคือ คลิปของ 60 Minutes ที่ลงพื้นที่ใน Pennsylvania หนึ่งในรัฐ battleground state ที่สำคัญ ซึ่ง Trump ชนะในรอบนี้ (เช่นเดียวกับ swing states อื่นๆ) เพื่ออธิบายว่า Trump ชนะได้อย่างไร ผ่านการสัมภาษณ์โหวตเตอร์หลายคนที่เปลี่ยนใจมาเลือก Trump

คำตอบมีหลากหลายทั้งเรื่องเศรษฐกิจ, ฐานเสียงกลุ่ม MAGA ที่ผูกพันกับตัว Trump และออกมาลงคะแนนอย่างล้นหลาม, โหวตเตอร์กลุ่มเชื้อสายละติน ที่มีสัดส่วน 20% ของประชากรสหรัฐแล้ว, ประเด็นเรื่อง transgender หรือการทำแท้ง ที่คนหาเช้ากินค่ำไม่ได้สนใจมากนัก, การนำเสนอตัวของ Trump ที่เข้าอกเข้าใจคนอเมริกันมากกว่า

ผมคิดว่าปัญหาสำคัญอีกอย่างคือตัวของ Harris เองที่มีวิธีการนำเสนอตัว ปราศรัย ที่ไม่โดนใจผมนัก ถึงแม้ไม่ได้ตามฟังทุกคลิป แต่ถ้าดูจากสปีชตอนรับการเสนอชื่อในที่ประชุมพรรคเดโมแครต (DNC) นั้น สปีชของ Tim Walz ผู้สมัครรองประธานาธิบดีนั้นสนุกกว่ามาก ส่วนสปีชของ Harris ยังเน้นไปที่ความเป็นผู้หญิง ความเท่าเทียมเพียงอย่างเดียว แทบไม่มีพูดเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการพาอเมริกาไปข้างหน้าแม้แต่น้อย ตอนฟังยังตกใจเลยว่า อ้าวจบแล้วเหรอ ยังไม่มีพูดถึงภาพอนาคตของอเมริกา สร้างความหวังให้กับผู้คนเลย

จากที่ฟังการวิเคราะห์มาทั้งหมด จะเห็นว่าโหวตเตอร์ไม่สนใจแง่มุมเรื่องนโยบายต่างประเทศเลย ไม่ว่าจะเป็นสงครามยูเครน-รัสเซีย, สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์-ฮามาส หรือ ประเด็นเรื่องนโยบายการค้ากับจีน ซึ่งเข้าใจได้เพราะคนอเมริกันทั่วไป ไม่ได้สนใจเรื่องต่างประเทศมากนักอยู่แล้ว (มองเรื่องตัวเองเป็นหลัก ก็เป็นประเทศที่ทุกคนต้องสนใจนี่นา) แม้ว่านโยบายของรัฐบาลทรัมป์สมัยที่สองจะมีบทบาทอย่างสูงต่อโลกก็ตามที