ตอนจบของรัฐบาล Donald Trump จะเป็นอย่างไร?
หลังจากปั่นป่วนโลกมาได้ 2-3 เดือน ทั้งเรื่องยูเครน-รัสเซีย DOGE และล่าสุด Tariff ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ผมคิดว่าคำถามนี้น่าจะอยู่ในใจหลายๆ คน ว่าป่วนโลกขนาดนี้แล้วตอนจบของ Trump จะเป็นอย่างไร ซึ่งมีมิตรสหายหลายคนส่งคำถามลักษณะนี้มาหลังไมค์บ้างเหมือนกัน
คำตอบแบบตรงไปตรงมาก็คือ ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ (ถ้ารู้ก็คงไปลงทุนรวยแบบในหนัง The Big Short แล้ว)
แต่ถึงแม้เราไม่รู้ภาพอนาคตที่ชัดเจน การศึกษาจากบทเรียนในอดีตน่าจะพอช่วยให้เราเห็นภาพอนาคตแบบเลาๆ ได้บ้าง
ในหนังสือ Age of Revolutions ของ Fareed Zakaria คอลัมนิสต์สายการเมืองที่ผมติดตามเป็นแฟนประจำ พยายามหาคำตอบของคำถามนี้ โดยใช้วิธีย้อนอดีตไปดู “การปฏิวัติสังคม” (revolutions ตามชื่อหนังสือ) ในยุคสมัยต่างๆ แล้ววิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุค เทียบกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน
ต้องโน้ตไว้นิดนึงว่า คำว่า revolutions ของ Fareed หมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง ซึ่งมีความหมายเฉพาะ และต่างกับคำว่า revolutions ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจคือ เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เหมือนปฏิวัติฝรั่งเศส-รัสเซีย) ชื่อหนังสือจึงชวนให้เข้าใจผิดอยู่บ้างว่าเป็นหนังสืออะไร
ผมเคยเขียนถึง Fareed และ Age of Revolutions ไว้บ้างในบางโอกาส
แต่ยังไม่เคยเขียนถึงตัวหนังสือตรงๆ ตอนนี้อ่านจบเรียบร้อยแล้ว ได้เวลามาเขียนสรุป
หนังสือ Age of Revolutions แบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคแรกคือการย้อนกลับไปดูการปฎิวัติเศรษฐกิจ-สังคมในอดีต 5 ครั้ง ส่วนภาคสองคือการวิเคราะห์สถานการณ์โลกยุคปัจจุบัน (หนังสือออกปี 2024 ก่อนเลือกตั้งสหรัฐไม่กี่เดือน) ว่ามันมีแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้น
ภาคแรก
ในภาคแรกของหนังสือ Fareed พาย้อนกลับไปดูการปฏิวัติเศรษฐกิจ-สังคมในอดีต โดยเริ่มจาก Dutch ในช่วงปี 1600 ที่ทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของยุโรปอยู่ช่วงหนึ่ง บริษัท VOC หรือ Dutch East India Company กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของยุคสมัย
Fareed ให้เหตุผลที่เนเธอร์แลนด์รุ่งเรืองขึ้นมาเป็นประเทศแรก ว่าเป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์เองที่เป็นที่ลุ่มต่ำ ทำเกษตรยาก สังคมเกษตรไม่ค่อยเติบโตเหมือนยุโรปประเทศอื่นๆ ชาวดัทช์จึงต้องมาเป็นพ่อค้ากันแทน เกิดสังคมเมืองเร็วกว่าประเทศอื่น และสังคมพ่อค้าไม่ยอมให้มีกษัตริย์เป็นใหญ่ แต่เป็นสมาคมพ่อค้าปกครองกันเอง แถมพ่อค้าแบบดัทช์ก็ต่างจากพ่อค้าแบบเวนิซที่เป็นนครรัฐเดี่ยว เพราะรวมกันหลายๆ นครรัฐเกิดเป็นสหพันธรัฐ (federation) ที่ไม่มีใครยิ่งใหญ่คนเดียว พัฒนาการทางการเมืองระบอบสภาตัวแทนจึงเกิดก่อนใคร
ความเป็นพ่อค้าของดัทช์ยังส่งผลให้ทุนนิยมพัฒนาเร็ว ชาวบ้านต้องรวมตัวกันสร้างกังหันวิดน้ำ เกิดการระดมทุนร่วมกัน ส่งผลให้เกิดทุนขนาดใหญ่กว่าปัจเจก พัฒนาต่อมายังเป็นการระดมทุนเพื่อส่งกองเรือสินค้าออกเดินทางในตะวันออกไกล เกิดตลาดหุ้นแห่งแรกของโลกที่อัมสเตอร์ดัม
นอกจากนี้ชาวดัทช์ยังมีวัฒนธรรมที่เป็นขบถ ไม่อยู่ใต้ศาสนจักรแคธอลิกที่โรม แต่ร่วมสมาทานนิกายโปรเตสแตนท์ที่เกิดขึ้นในยุโรปตอนเหนือด้วย ดังนั้นดัทช์จึงมีความเป็นเสรีนิยม (liberal) ก่อนใคร ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมศาสนา ส่งผลให้ดัทช์ยิ่งใหญ่มากในยุคนั้น
Fareed เรียกการปฏิวัติสังคมของดัทช์ในยุค 1600s ว่าเป็น The First Liberal Revolution
ภายหลังชาวดัทช์ประสบปัญหาสงครามกับสเปน จนต้องแยกเป็นเบลเยียม-เนเธอร์แลนด์ มีความขัดแย้งภายในกันเอง และมีสงครามกับฝรั่งเศสอีก ทำให้ยุคทองของดัทช์จบลง
แต่ความคิดที่ก้าวหน้าเหล่านี้ถูกส่งต่อข้ามทะเลมายังเกาะอังกฤษ ในการปฏิวัติอันเรืองรอง (Glorious Revolution) ปี 1688 ที่กษัตริย์ชาวดัทช์ William III of Orange ข้ามทะเลมาปกครองเกาะอังกฤษ (ร่วมกับพระราชินี Mary II ที่เป็นคนอังกฤษ) ทำให้ระบอบการปกครองเสรีนิยมแบบดัทช์ถูกส่งต่อมาอังกฤษด้วย นับเป็นการปฏิวัติเศรษฐกิจสังคมครั้งที่สอง
อังกฤษยุคนั้นจึงรับศาสนาโปรเตสแตนท์ รับระบอบการปกครองที่สภาเป็นใหญ่ จำกัดอำนาจกษัตริย์ (ซึ่งมีเชื้อมาก่อนแล้วจากการยึดอำนาจของ Oliver Cromwell ในยุคก่อนหน้านั้นไม่นาน) เกิดกฎหมาย Bill of Rights การันตีสิทธิพื้นฐานพลเมือง เกิดระบบพรรคการเมือง 2 ปีกในสภา (พรรค Tory และ Whig ฝ่ายซ้าย-ขวาของทางเดินสภาเกิดขึ้นในยุคนี้) และวิธีคิดแบบนายทุน สืบต่อมาจากดัทช์ อังกฤษยุคนี้จึงพัฒนาขึ้นมากโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ
แต่อังกฤษมีโชค 2 เด้งคือมีการปฏิวัติเศรษฐกิจ-สังคมอีกรอบ เพราะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามมาในช่วงประมาณปี 1760 ซึ่งการปฏิวัติรอบนี้เป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยี เป็นการปฏิวัติพลังงาน มนุษย์เรียนรู้ที่จะดึงพลังงานชนิดอื่นมาใช้แทนแรงกล (เช่น เปลี่ยนจากม้าลาก เป็นเครื่องจักรไอน้ำที่เผาถ่านหิน) จึงเกิดการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ เกิดอาชีพสายโรงงานอุตสาหกรรม ส่งต่อมายังการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่กันมากขึ้น แม้เกิดปัญหาความแออัดและคุณภาพชีวิตตามมา แต่รายได้เฉลี่ยของคนยุคนี้ก็เติบโตแบบก้าวกระโดด
การปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษส่งต่อข้ามแอตแลนติกมาสู่อเมริกาในช่วงปี 1840 เป็นต้นมา หลังอเมริกายุติสงครามกลางเมืองในช่วงปี 1860 ก็สร้างตัวในประเทศอุตสาหกรรม โดยอาศัยปัจจัยการผลิต ทรัพยากร แรงงานที่ถูกกว่าอังกฤษ โรงงานอังกฤษ สินค้าอังกฤษถูกอเมริกาตียับ คนอังกฤษหันมาใช้สินค้าอเมริกันเพราะถูกกว่า (เรื่องคุ้นๆ เหมือนสินค้าจีนยุคนี้) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้อเมริการ่ำรวย เกิดยุค Gilded Age และเป็นพื้นฐานให้อเมริกาแซงหน้าอังกฤษแบบยาวๆ ในช่วงเวลาต่อมา
Fareed บอกว่าคำเรียก American Revolutionary War ที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากกษัตริย์อังกฤษตอนสร้างประเทศนั้นเป็นคำที่ผิด เพราะมันแค่เปลี่ยนผู้ปกครอง thirteen colonies จากกษัตริย์มาเป็นประธานาธิบดี แต่เศรษฐกิจ-สังคมยังเหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอเมริกาต่างหาก
มุมมองของ Fareed เชื่อว่าพลังของ liberal democracy เสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นเอาชนะการปกครองแบบอื่นๆ ดังนั้นประเทศที่เปลี่ยนเป็น liberal democracy ได้ก่อนก็จะได้เปรียบประเทศอื่นในยุคเดียวกัน
Fareed ยังยกตัวอย่าง “การปฏิวัติ” ที่ล้มเหลวคือการปฏิวัติฝรั่งเศส (และการปฏิวัติรัสเซียที่เดินตามเส้นทางเดียวกัน) ที่เดินผิดไปจากเส้นทาง liberal democracy แบบที่เพื่อนบ้านอังกฤษทำได้สำเร็จใน Glorious Revolution แต่ฝรั่งเศสกลับหลงทางไปยังวิถีสุดขั้วอื่นๆ ทั้งฝ่ายซ้ายจัดหัวรุนแรง Jacobin แล้วสวิงไปยังระบอบเผด็จการทหารแบบนโปเลียน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่เวิร์คทั้งสองทาง แนวทางทั้งสองแบบของฝรั่งเศสยิ่งสร้างปฏิกิริยาให้ระบอบกษัตริย์ของประเทศเพื่อนบ้าน (เช่น ออสเตรีย-ฮังการี) หวาดกลัว และกดการปฏิรูปเสรีนิยมในประเทศตัวเองให้เกิดขึ้นช้าลงไปอีกหลายสิบปี
ภาคสอง
Fareed มองว่าโลกของเราในยุคสมัยนี้ กำลังจะเกิด “การปฏิวัติ” (ในความหมายเดียวกัน) ขึ้นอีกครั้ง เพราะในระดับฐานรากเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นมาสักพักแล้ว
ภาคสองของหนังสือ นำเสนอการเปลี่ยนแปลงใหญ่ 4 ด้าน
- เศรษฐกิจ
- เทคโนโลยี
- วัฒนธรรม-อัตลักษณ์ (identity)
- ภูมิรัฐศาสตร์
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ รับรู้กันอยู่แล้วจากทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ที่ดันโลกไปสุดทางในทศวรรษ 2000s เป็นต้นมา (Fareed ใช้คำว่า Globalization in Overdrive คือโลกาภิวัฒน์ที่ขับเคลื่อนเกินขนาด) การแต่งงานกันของการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตย และทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ทำให้ระบอบการปกครองแบบอื่นแพ้ราบ กำแพงเบอร์ลินพัง โซเวียตล่มสลาย แทตเชอร์บอกว่า There is no alternative
แต่การขับเคลื่อนที่สุดขั้วเกินไปก็เกิดฟองสบู่แบบต้มยำกุ้ง เกิดการย้ายฐานการผลิต คนในประเทศเริ่มไม่พอใจที่งานหายไป อำนาจในการบริโภคลดลง ความไม่พอใจนี้เริ่มก่อตัวขึ้นในยุค 2010s หลังฟองสบู่แฮมเบอร์เกอร์
ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นั้นเข้าใจได้ไม่ยาก อินเทอร์เน็ต ไอที และ AI ทำให้คนเป็นปัจเจกสูงขึ้น สังคมน้อยลง เปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยวมากขึ้น (เคยเขียนถึงในเรื่อง Bowling Alone) ยังไม่รวมเรื่องการสูญเสียงานจากระบบอัตโนมัติ AI แย่งงานมนุษย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ด้วย
หัวข้อที่ผมสนใจคือที่สุดคือเรื่อง identity (หรืออธิบายง่ายๆ คือเรื่อง woke) เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม-วัฒนธรรม ที่สืบเนื่องจากเศรษฐกิจ-เทคโนโลยี-การเมือง ในอเมริกามีทั้งเรื่องชนชั้นทางเศรษฐกิจ สีผิว เพศ ประกอบกัน (rich white men vs กลุ่มอื่นๆ) นอกจากนี้พอมีเรื่องเชื้อชาติ ผู้อพยพ (tribalism หรือความเป็นเผ่า) และศาสนาที่คนเชื่อในศาสนาน้อยลง คนไม่เชื่อในสถาบันทางสังคมแบบดั้งเดิม จนต้องไปถือชุดความเชื่ออื่นๆ มาแทน (ซึ่ง woke คือหนึ่งในความเชื่อนั้น) พอปัจจัยทั้งหมดค่อยๆ ขมวดเข้าหากันแล้วทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกรอบคิดทางการเมืองแบบซ้าย vs ขวา มันเริ่มอธิบายไม่ได้อีกต่อไป เปลี่ยนเป็นวิธีคิดแบบเปิด vs ปิดแทน
สุดท้ายคือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอำนาจนำของอเมริกา (Pax Americana) ที่เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็นมันเริ่มเสื่อมลง ประเทศอื่นๆ มีบทบาทมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ (Rise of the Rest) จนเกิดประเทศที่ท้าทายอเมริกาคือจีนกับรัสเซียที่มาคนละแนวทาง จีนมาด้วยโหมดผู้ท้าชิง (the challenger) ที่ไล่ตามแข่งกับอเมริกาในทุกด้าน ส่วนรัสเซียเป็นโหมดผู้มาทำเสีย (the spoiler) สร้างปัญหาให้ยุโรปและนาโต้ แต่ทั้งสองประเทศเหมือนกันคือไม่ต้องการ liberal international order
ปัจจัยทั้ง 4 ข้อทำให้โลกเสรีนิยมตะวันตกภายใต้การนำของอเมริกาเจอกับความท้าทายของฝ่ายไม่เสรี (illiberalism) ทั้งจากภายนอก (จีน & รัสเซีย) และภายในกันเอง ซึ่งเคสนี้คือการขึ้นมาของ Donald Trump นักการเมืองผู้ไม่เชื่อเรื่องเสรีนิยม แต่รับความไม่พอใจของผู้คนต่อระบอบเสรีนิยม และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกได้ ปรากฏการณ์แบบ Trump ไม่ได้เกิดขึ้นในอเมริกาประเทศเดียว แต่เกิดขึ้นทั่วโลกจากที่เราเห็นนักการเมืองประชานิยมฝ่ายขวาต่างผงาดขึ้นมาในหลายๆ ประเทศ
หนังสือของ Fareed ไม่ได้สรุปฟันธงว่า Trump จะจบลงอย่างไร แต่ตัวเขาในฐานะผู้เชื่อในเสรีนิยม เสนอว่าเสรีนิยมยังไปต่อได้ แต่เราต้องแก้จุดอ่อนของระบอบเสรีนิยมกันใหม่ เช่น แก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นำความเป็นชุมชนนิยมกลับมา สร้างความเป็นพหุวัฒนธรรมที่คนยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนอื่นๆ ในสังคมให้มากขึ้น
หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมพบว่ามีคำถามมากกว่าได้คำตอบ แต่อย่างน้อยก็ได้แนวทางและกรอบวิเคราะห์ที่ดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นโลกในยุคนี้มันคืออะไร เกิดจากอะไร และในอดีตเคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอย่างไร
ส่วนสภาพการณ์โลกปั่นป่วนทุกเรื่องแบบที่เห็นมันจะนำไปสู่อะไร แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็เป็น big question ที่ต้องช่วยกันขบคิดเห็นกันต่อไป