in Economics, Politics

Department of Government Efficiency

หลังจากนั่งอ่าน (แบบไม่ค่อยอยากอ่านแต่พี่แกโพสต์ทั้งวัน) เรื่อง Department of Government Efficiency (DOGE) ของ Elon Musk ว่าจะตัดงบอย่างงู้นอย่างงี้ ยกระดับภาครัฐอย่างงั้น ฯลฯ ในที่สุดก็ได้คำอธิบายที่ฟังดูเข้าท่าจาก Fareed Zakaria แห่ง CNN (อีกแล้ว)

Fareed บอกว่าเขา “เห็นด้วย” กับแนวทางของ DOGE ที่ต้องการทำให้รัฐบาลสหรัฐมีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะรัฐบาลมีขนาดใหญ่ อุ้ยอ้ายเกินไป มีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากเกินไปกว่า 180,000 รายการ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว DOGE ไม่ง่ายเลย ด้วยเหตุผลดังนี้

  • งบประมาณส่วนใหญ่ของรัฐบาลกลาง (60%) ใช้กับการแจกเงินไปยังประชาชนโดยตรง เช่น โครงการประกันสุขภาพต่างๆ (Medicaid/Medicare) เงินประกันว่างงาน ซึ่งค่อนข้างตรงเป้าและมีประสิทธิภาพ แถม Trump ประกาศชัดว่าจะไม่แตะตรงนี้
  • เงินก้อนใหญ่อันดับสอง (13%) คืองบกลาโหม ปรับแก้ได้ยากด้วยเหตุผลด้านการเมือง
  • เงินก้อนใหญ๋อันดับสาม (11%) คือต้องจ่ายหนี้ของรัฐบาลกลาง ทำอะไรมากไม่ได้ ต้องจ่ายหนี้คืนตามกำหนดชำระ
  • เหลือเงินส่วนที่เหลือประมาณ 15% ของงบประมาณ ก็ต้องใช้กับสิ่งที่จำเป็น เช่น เงินทหารผ่านศึก เงินอุดหนุนการเกษตร เงินซ่อมถนน-สะพาน ฯลฯ

ดังนั้นการที่ Elon ประกาศว่าจะปรับลดรายจ่ายรัฐบาลกลางลง 2 ล้านล้านดอลลาร์ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ

แต่ Fareed บอกว่าสนับสนุนแนวทางการปรับลดค่าใช้จ่ายของ DOGE เพราะจะกระตุ้นให้คนอเมริกันทั้งผอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรครีพับลิกัน ต้องมาเผชิญหน้ากับ “ปม” ใหญ่ที่พรรครีพับลิกันทำไม่เคยสำเร็จมาเกือบร้อยปี

ต้องย้อนไปถึงที่มาของพรรครีพับลิกัน “ยุคปัจจุบัน” (Modern Republican) ที่เกิดจากการต่อต้านนโยบาย New Deal ของประธานาธิบดี Franklin D Roosevelt (FDR) ในช่วงทศวรรษ 1930s หลังวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ Great Depression

แนวทางนโยบายของ FDR (ซึ่งเป็นเดโมแครต) คือใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐในยามที่ภาคเอกชนอ่อนแอ ผลคือรัฐบาลกลางขนาดใหญ่ มีเงินมาก มีคนมาก มีโครงการมาก หนี้มาก ซึ่งขัดกับความเชื่อของพรรครีพับลิกัน ว่ารัฐบาลกลางต้องเล็ก คล่องตัว มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้ภาคเอกชนทำงาน ไม่ต้องไปกำกับดูแลมาก

แต่นั่นเป็นเพียง “วาทกรรม” ของรีพับลิกัน เพราะประธานาธิบดีจากรีพับลิกันคนถัดๆ มาหลัง FDR เช่น Eisenhower, Nixon, Reagan ล้วนแต่หาเสียงว่าจะมาทำลายโครงสร้างรัฐที่ FDR ทำไว้ แต่พอชนะเลือกตั้ง เข้ารับตำแหน่ง ก็ไม่ได้ทำอะไรแบบนั้น แต่กลับขยายโครงสร้างรัฐให้ใหญ่ขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ

เรื่องที่ย้อนแย้งคือ Raegan กลับเป็นประธานาธิบดีที่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม และประธานาธิบดีคนเดียวที่ลดหนี้ได้หลัง 1969 คือ Bill Clinton ซึ่งเป็นเดโมแครตไปซะอย่างนั้น

Fareed บอกว่า Elon และ Vivek ชอบอ้างนักเศรษฐศาสตร์ Milton Friedman ที่ชูเรื่องภาครัฐต้องเล็ก มีอำนาจจำกัด แต่ต้องไม่ลืมว่า Elon รวยมาจากการสนับสนุนของงบประมาณรัฐ ทั้งจรวด SpaceX (เงินจ้าง NASA โดยตรง) และรถไฟฟ้า Tesla (ได้คูปองส่วนลดจากภาครัฐ)

Fareed ยังบอกว่าเอาเข้าจริงแล้ว แนวคิดของ Milton ได้รับการสนับสนุนจากในสหรัฐเองน้อยมาก อเมริกาเป็นอย่างทุกวันนี้ เพราะประชาชนอเมริกันเลือกโหวตให้ “เก็บภาษี (น้อย) แบบรีพับลิกัน จ่ายงบประมาณ (เยอะ) แบบเดโมแครต” ต่างหาก ซึ่งแนวทางนี้ไม่ยั่งยืนเพราะต้องกู้หนี้มาถมส่วนต่างระหว่างรายได้ภาษีกับรายจ่ายงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ

ชอบมือพี่แกมากเลยต้องทำ text ประกอบเพิ่มให้ด้วย

การตัดงบประมาณฉับพลันแบบที่ DOGE เสนอยังจะสร้างปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แบบเดียวกับที่ยุโรปต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด (austerity) ในช่วงปี 2010s บทเรียนที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นร่วมกันคือ งบประมาณภาครัฐทุกวันนี้มีสัดส่วนเยอะมากในระบบเศรษฐกิจ ถ้าตัดออกมากไปจะเจอปัญหาแน่นอน เพราะมีคนจำนวนมากที่อยู่ได้จากเงินที่ภาครัฐใส่เข้ามา (your expenditure is my income) และหากไปเปรียบเทียบขนาดของรายจ่ายรัฐบาลต่อ GPD ของสหรัฐถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ค่อนไปทางต่ำของประเทศพัฒนาแล้ว

Fareed สรุปจบด้วยการท้าทายว่า รีพับลิกันพูดแบบนี้มา 70 ปีแล้วไม่เคยทำสำเร็จเลย เขาจึงหวังว่า DOGE จะเป็นโอกาสที่ทำได้ตามที่พูดสักที