in Books

2475 นักเขียนผีแห่งสยาม

เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว มีโครงการหนังสือการ์ตูนที่น่าตื่นเต้นมากคือ “2475 นักเขียนผีแห่งสยาม” หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ 2475 Graphic Novel ที่ริเริ่มโดย “นายสะอาด” นักวาดการ์ตูนชื่อดังแห่งยุคนี้ ปกติเขียนแต่การ์ตูนแก๊กสั้นๆ แต่คราวนี้อยากวาดการ์ตูนฉบับยาวๆ ที่เป็นการนำประวัติศาสตร์ช่วงปฏิวัติสยาม 2475 มาเล่าในรูปแบบนิยายภาพ

โครงการเปิดให้ระดมทุนแบบ crowdfunding คือจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อการันตียอดพิมพ์ ทีมงานจะได้ประเมินรายได้-ต้นทุน-กำไรได้อย่างเหมาะสม แน่นอนว่าในฐานะคอประวัติศาสตร์ เจอโครงการแบบนี้ย่อมต้องสนใจอยู่แล้ว

แต่เมื่อจ่ายเงินสนับสนุนไปแล้ว ด้วยกระบวนการผลิตที่ยาวนานทำให้ลืมโครงการนี้ไปเลย จนกระทั่งวันที่ 15 มกราคม 2567 ก็เริ่มเห็นเพื่อนฝูงโพสต์อวดโชว์ว่าได้หนังสือกันแล้ว และหลังจากนั้นหนึ่งวัน หนังสือก็มาส่งที่บ้าน ซึ่งเราก็อ่านจบภายในคืนนั้นเช่นกัน

2475 นักเขียนผีแห่งสยาม เป็นนิยายภาพอิงประวัติศาสตร์ ที่ให้ตัวละครสมมติ มาปะปนกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เจอกับตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริง เช่น ปรีดี พนมยงค์, ป. พิบูลสงคราม

โครงเรื่องหลักวนอยู่รอบนางเอก “นิภา” นักหนังสือพิมพ์สาวหัวก้าวหน้า ผู้ที่โตมาในยุคสมัยที่สยามยังไม่ยินยอมให้ผู้หญิงออกมาทำงานเท่าไรนัก เธอจึงต้องเขียนงานในสภาพ “นักเขียนผี” ผ่านนามปากกา หรือเขียนภายใต้ชื่อคนอื่นแทน แม้ฝีมือในการเขียนของเธอเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงานรายรอบก็ตาม

นิภา พยายามทำข่าวสืบสวนสอบสวน รายงานความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสังคมของสยามในยุคนั้น ที่มีประเด็นเรื่องเสรีภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติ และกฎหมายคุ้มครองชนชั้นปกครอง ที่ใช้เป็นเกาะป้องกันผู้กระทำผิดในคดีอาญาได้

เส้นทางชีวิตของนิภา และ “อรุณ” น้องชายนักกฎหมาย ทำให้เธอเข้ามาพัวพันกับกลุ่ม “คณะราษฎร” อดีตนักเรียนเก่าฝรั่งเศสที่ไม่พอใจความเป็นไปของสยามเช่นกัน และกำลังเตรียม “ก่อการ” กันอย่างเข้มข้นในปี 2474

แน่นอนว่ากลุ่มตัวละครฝั่งคณะราษฎรล้วนมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เราจึงเห็นบุคคลสำคัญในอดีตถูก reimagine กันใหม่ในรูปแบบการ์ตูน ไม่ว่าจะเป็นแกนหลักอย่าง ปรีดี, แปลก, ประยูร ภมรมนตรี ไปจนถึงตัวละครฝ่ายทหารบกที่เข้ามาร่วมก่อการในภายหลัง เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์, พระประศาสน์พิทยายุทธ (4 เสือคณะราษฏร)

ส่วนตัวละครฝ่ายเจ้าที่สำคัญคือ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับบทเป็นฝ่ายตรงข้ามที่ไล่ตามจับฝ่ายคณะราษฎร

ตรงนี้เป็นความสนุกของคนที่รู้ประวัติศาสตร์อยู่ก่อนแล้ว ว่าผู้เขียนจะถ่ายทอดคาแรกเตอร์ของบุคคลจริงๆ เหล่านี้ออกมาในรูปแบบการ์ตูนได้อย่างไร ความเห็นของผมคือ ปรีดีออกมาได้ดูเคร่งขรึมดุดันมาก ในขณะที่แปลกกลับดูเป็นหนุ่มบอยแบนด์หล่อเหลาแทน 555

แต่สิ่งที่เจ๋งที่สุดของนิยายภาพเรื่องนี้คือบทที่คมคาย เล่าชีวิตธรรมดาของนิภาที่เริ่มไม่ธรรมดาอีกต่อไป เพราะซ้อนทับอยู่บนเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย และตั้งคำถามสำคัญต่อยุคสมัย (ทั้งสมัยนั้นและสมัยนี้ เพราะเป็นคำถามเดิม) ว่าอนาคตที่ดีขึ้นของประชาชนในประเทศมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ส่วนวิธีการเล่าเรื่องบอกได้ว่าชวนติดตาม เหมือนกำลังชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งอยู่ด้วยซ้ำ การเล่าเรื่องใช้กลวิธีแบบหนัง thriller มีการหักหลัง ตัดสลับ ย้อนอดีต ผูกปม คลายปม ฯลฯ ทำออกมาได้โดดเด่นมาก (คงไม่เล่าในที่นี้เพราะสปอยล์) เมื่ออ่านจบแล้วก็ได้แต่หวังว่าคงมีสักวันหนึ่งที่เราจะได้เห็นนิยายภาพเรื่องนี้ ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นคนแสดงหรือแอนิเมชันก็ตาม

ส่วนงานภาพของนายสะอาด นั้นคงไม่ต้องพูดถึงกันมากนัก เพราะมีสไตล์ชัดเจนเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ในนิยายฉบับนี้ยิ่งเด่นชัดในแง่การเก็บรายละเอียดฉากหลัง ความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคสมัย สถานที่ต่างๆ ตามประวัติศาสตร์จริง (เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม) รวมถึงการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่ทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยมด้วย

ตอนสนับสนุนโครงการนั้นรู้สึกแค่ดีใจที่มีคนทำอะไรแบบนี้ออกมา แต่เมื่อได้หนังสือฉบับจริงแล้วพบว่ามันเกินความคาดหวังไปมาก สามารถเรียกได้ว่าเป็น masterpiece ชิ้นหนึ่งของวงการหนังสือการ์ตูนไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ

หมายเหตุ:

ป.ล. ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ แต่ตัวละครชื่อ “พลอย” ที่เป็นข้าราชบริพารในวัง และถูกมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยประจำตัวของนิภา อ่านแล้วคิดถึง “แม่พลอย” ในสี่แผ่นดินเป็นอย่างมาก