ในฐานะผู้สนใจเรื่องความเป็นไปของธุรกิจสื่อ การที่เว็บไซต์ The Verge (ในเครือ Vox Media) ที่ประกาศจุดยืนมาตลอดว่าจะไม่ทำ paywall แล้วจู่ๆ หันมาทำ paywall/subscription จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก
โพสต์ประกาศข่าว paywall ของ The Verge ก็อธิบายไว้ชัดเจน ว่าเหตุผลมาจากสภาพตลาดสื่อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แหล่งที่มาของทราฟฟิกคือ search/social เปลี่ยนยุคสมัย อย่างฝั่ง social เองตอนนี้ไม่ชอบให้แปะลิงก์ออกไปข้างนอก ขังทราฟฟิกให้อยู่ภายใน ทำให้ทราฟฟิกลดลง
The Verge บอกว่าทางรอดเดียวของสื่อคือต้องสร้างเว็บไซต์ของตัวเองให้แข็งแกร่ง ดึงทราฟฟิกเข้าด้วยตัวเอง เพื่อไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ ไม่ต้องไปไล่ทำ SEO สร้างทราฟฟิก หรือพาดหัวหวือหวาคลิกเบทเพื่อเรียกความสนใจจาก social
The Verge แก้ปัญหาขั้นแรกด้วยการปรับหน้าเว็บให้มีความเป็น social feed มากขึ้น อัพเดตบ่อยๆ ให้คนอยากเข้ามาอ่านข่าว มีคนเข้าหน้าเว็บทุกวันตลอดปี วันละ 55,000 คน, มีคน 5 แสนคนเข้าหน้าเว็บอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่จำนวน
ในอีกทาง ฐานแฟนๆ จำนวนมากของ The Verge ก็มีกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ที่อยากสนับสนุนเว็บไซต์ และขอให้ทำ subscription เพื่อให้จ่ายเงินเว็บไซต์ตรงๆ แต่ด้วยแนวคิดและหลักการของ The Verge เองที่ไม่อยากจะทำ paywall ปิดกั้นเนื้อหาทั้งหมด จึงจะใช้โมเดล paywall เฉพาะบางส่วน เป็น freemium (แบบเดียวกับ Ars Technica)
โมเดล subscription ของ The Verge จะคัดเฉพาะเนื้อหาพรีเมียมบางส่วน เช่น สกู๊ปพิเศษ รีวิว อยู่หลัง paywall เท่านั้น โดยจะเป็น dynamic metered paywall คือวัดตามปริมาณการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคนด้วย โดยผู้อ่านจำนวนมากอาจจะไม่เคยเจอ paywall เลยถ้าปริมาณการอ่านไม่มากพอ
การจ่าย paywall นอกจากจะเข้าถึงเนื้อหาพรีเมียมได้แล้ว ยังเห็นโฆษณาอยู่ แต่จะเป็นโฆษณาคุณภาพที่ขายโดย Vox โดยตรงเท่านั้น พวกโฆษณา programmatic ที่ผ่านเครือข่ายโฆษณามาจะถูกตัดออกให้สมราคา
นอกจากนี้ ผู้จ่ายเงินยังจะได้ full RSS feed จากเดิมที่มีเฉพาะ headline ด้วย ก็ถือเป็นการตอบแทนสมาชิกที่ดูสมน้ำสมเนื้อดี แลกกับราคาที่ไม่แพงมากคือ 7 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือ 50 ดอลลาร์ต่อปี (โมเดลของ Ars Technica คิดที่ 25 ดอลลาร์ต่อปี) ภาพรวมคือมีความ compromise ระหว่างการหารายได้กับหลักการสื่อมวลชน
บทสรุปของเรื่องนี้คือ ไม่ใช่ทุกเว็บที่ทำแบบนี้ได้ เพราะต้องมีฐานแฟนๆ ที่ใหญ่พอ และมีเนื้อหาที่โดดเด่นของตัวเองเป็นจำนวนมากพอ ไม่ใช่เนื้อหาทั่วๆ ไปที่ทุกเว็บรายงานกันหมด ซึ่งทั้ง The Verge และ Ars Technica ถือว่าผ่านเกณฑ์นี้ในสายเนื้อหาข่าวไอที
ปัจจัยอีกข้อที่อาจจำเป็นต้องมี (debatable) คืออาจต้องมีกลุ่มทุนสื่อขนาดใหญ่พอสมควรคอยสนับสนุนด้วย เช่น The Verge มี Vox Media, Ars มี Conde Nast
บทความเกี่ยวกับ Paywall ตอนอื่นๆ ที่เขียนไว้