อ่านบทความเรื่อง โลกาภิวัตน์เก่า+ชาตินิยมใหม่ คือทางแก้ไขโลกปั่นป่วน? ของ อ.วีระยุทธ กาญจนูชูฉัตร ใน 101 World แล้วมีประเด็นที่น่าสนใจมาบันทึกไว้
เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือประเด็นเรื่อง “ชาตินิยม” ที่กำลังกลับมาได้รับความนิยมสูงในหลายประเทศ และส่งผลให้ “ขวาใหม่” (New Right หรือ Alt Right) กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
บทความนี้อธิบายสาเหตุว่าทำไมชาตินิยมกำลังกลับมา โดยบอกว่าเป็นด้านกลับของ “การเมืองเชิงประเด็น” หรือ “การเมืองเชิงอัตลักษณ์” ซึ่งถูกผลักดันโดย “ซ้ายใหม่” ยุคหลังคอมมิวนิสต์ล่มสลายเป็นต้นมา นับรวมกันก็หลายสิบปี
เดิมทีนิยามของ “ฝ่ายซ้าย” สนใจเรื่อง “ชนชั้น” (class) ตามนิยามของมาร์กซิสต์ แต่พอมาร์กซิสต์อ่อนแรงลง ฝ่ายซ้ายก็ปรับตัวมาเป็น socialist ที่สนใจเชิงประเด็น (เช่น สิ่งแวดล้อม) หรืออัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อย (เช่น ผู้หญิง คนดำ LGBT) แทน ซึ่งก็ทำงานได้ดี และผลักดันประเด็นเหล่านี้จนกลายเป็นนโยบายได้มากมาย
แต่ปัญหาคือเมื่อเราพูดถึง “ประเด็นกลุ่มเล็ก” มากเกินไป มันทำให้ “คนกลุ่มใหญ่” แต่เดิม รู้สึกว่าถูกละเลย ซึ่งในบริบทของอเมริกันก็คือ “กลุ่มผู้ชายแก่คนขาว” (white old men) ที่เคยเป็นกำลังผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั่นเอง
ในฝั่งการเมือง ประเด็น ‘การเมืองเชิงอัตลักษณ์’ หรือ identity politics เป็นศูนย์กลางของข้อถกเถียง
แม้หลังสงครามโลกครั้งที่สองประชาธิปไตยจะหยั่งรากในโลกตะวันตกแล้ว แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่ายังไม่ได้รับสิทธิและพื้นที่อย่างเป็นธรรมในระบอบหนึ่งคนหนึ่งเสียง โดยเฉพาะคนผิวสี สตรี ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
การรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิของแต่ละกลุ่มกลายเป็นพลังทางสังคมที่ทวีความสำคัญขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ต่อยอดจากสิทธิของกลุ่มบุคคลมาเป็นการต่อสู้เชิงประเด็น อาทิ สิ่งแวดล้อม สิทธิสัตว์
ผนวกกับการถดถอยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้หัวใจการเคลื่อนไหวของ ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ หรือ ‘ฝ่ายซ้าย’ เคลื่อนย้ายจากการต่อสู้ทางชนชั้นมาเป็นการสนับสนุนการเมืองเชิงอัตลักษณ์แทน
การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการตอบสนองที่สมเหตุสมผลและเข้าใจได้ เพราะช่วยเปิดเผยด้านมืดหลายอย่างที่สังคมประชาธิปไตยเคยกดทับกีดกันไว้
อย่างไรก็ดี เริ่มมีการประเมินถึง ‘ผลข้างเคียง’ จากกระแสการเมืองอัตลักษณ์มากขึ้น
เพราะเมื่อฝั่งการเมืองปรับตัวไปโอบรับและออกนโยบายเพื่อตอบสนองกลุ่มอัตลักษณ์เป็นหลัก ชนชั้นแรงงานและสหภาพ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า old working class รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสแต่ไม่มีแรงดึงดูดกระแสสังคมอย่างคนชนบทหรือครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว กลับกลายเป็นผู้ถูกละเลยไป โดยเฉพาะในประเทศที่มีระบบการเมืองสองพรรคใหญ่อย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ
นักการเมืองฝ่ายขวานำประเด็นนี้ไปจุดต่อเพื่อปลุกระดมให้แรงงานและคนที่ถูกละเลยไปในการเมืองอัตลักษณ์รู้สึกว่าเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ถูกสื่อกระแสหลักและนักการเมืองหัวก้าวหน้าทอดทิ้ง
พร้อมกันนั้นก็ปลุกกระแส ‘ชาตินิยม’ ให้กลับมาอีกครั้ง ดังเช่นที่โดนัลด์ ทรัมป์ หาเสียงในปี 2016 ด้วยสโลแกน “Make America Great Again.”
เคสของอเมริกาเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะรัฐบาลโอบามาสนใจประเด็นเรื่องคนกลุ่มเล็กเยอะจริงๆ (เช่น กระแสสิ่งแวดล้อม ผู้อพยพ หรือ diversity) เมื่อบวกกับปัจจัยอื่นๆ (เช่น ปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008) ทำให้เป็นโอกาสของ Trump ที่จะเรียกคะแนนจาก “คนกลุ่มใหญ่ที่ถูกละเลย” ผ่านแคมเปญโดนใจคนอยู่ลึกๆ อย่าง Make America Great Again
เคสของ Brexit ก็คล้ายๆ กัน แม้ว่าอาจไม่มีเรื่องผู้นำมาเกี่ยวข้องมากนัก (เป็นการโหวตเชิงประเด็น ไม่ใช่เลือกผู้นำ แต่ก็สะท้อนถึงความอัดอั้นของคน)
ในการกำหนดนโยบายทางการเมืองยุคนี้ หากไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ ก็คงไม่สามารถเอาชนะกระแสของ “ขวาใหม่” ได้เลย
ภาพประกอบจากทวิตเตอร์ @RealDonaldTrump