in Business

The End of News Business

ภาพประกอบสร้างด้วย Bing Image Creator

อ่านบล็อกของ John Battelle หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Wired และเป็นผู้ก่อตั้ง-นักลงทุนในธุรกิจสื่อหลายแห่ง เช่น The Industry Standard, บริษัทโฆษณา Federated Media, บริษัทอีเวนต์ NewCo, เว็บข่าวการเมือง The Recount (ส่วนใหญ่ขายออกไปทั้งหมดแล้ว) รวมถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้งงานสัมมนา Web 2.0 Summit ร่วมกับ Tim O’Reilly ด้วย

Battelle ยังเป็นอาจารย์ด้านสื่อมวลชนที่ UC Berkley อยู่ช่วงหนึ่ง ล่าสุดเขากลับไปสอนที่ Northeastern University

บล็อกของ Battelle พูดถึงขาลงของ “ธุรกิจสื่อ” โดยเฉพาะด้านข่าวที่เป็น hard news ว่าหลังจากทำสื่อมาหลายหัว ลงทุนในธุรกิจสื่ออีกหลายแห่ง อยู่ในธุรกิจนี้มายาวนาน เขาคิดว่าธุรกิจด้านข่าว (news business) ไม่ใช่สิ่งที่น่าทำอีกต่อไปแล้วในฐานะธุรกิจ และไอเดียใหม่ๆ ที่เคยคิดว่าจะช่วยให้วงการนี้อยู่รอดไปได้ ก็ไม่เวิร์คสักอัน

As that decline steepened, I launched or invested in over a dozen more news-related companies, none of which moved the needle. It remains next to impossible to find reliable support for innovative approaches to quality journalism.

เขาบอกว่าในอดีต ธุรกิจข่าวนั้น “ผูกขาด” ฐานคนดู มีอำนาจต่อรองกับทั้งค่าสมัครสมาชิกของคนอ่าน/ดู (subscription) และค่าโฆษณาของผู้ลงโฆษณา (advertising) ซึ่งโมเดลธุรกิจอันนี้เวิร์คมาก ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัทสื่อ

แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตทำลายโมเดลนี้ลงไป ผู้บริโภคเลิกจ่ายเงินซื้อข้อมูล (เพราะหาได้ฟรีบนเว็บ) ส่วนผู้ลงโฆษณาก็ย้ายไปยังแพลตฟอร์มที่มีฐานผู้ใช้งานแทน (เช่น Google, Facebook)

ทางออกของธุรกิจสื่อ [ทั่วไป] คือหันไปทำอีเวนต์บ้าง ขายสินค้าบ้าง ทำฟาร์มคอนเทนต์สำหรับแปะโฆษณาบ้าง แต่สำหรับธุรกิจสื่อ [ข่าว] มันก็ไม่ง่ายนักในการขยับขยายไปทำสิ่งเหล่านี้ เพราะความเชี่ยวชาญคือการทำข่าว (your core expertise is news) ซึ่งทำเงินไม่ได้แล้ว

Battelle มองว่าโมเดลธุรกิจที่พอเป็นไปได้ของ “ข่าว” ที่จะอยู่รอดได้ มีด้วยกัน 6 อย่าง

  • ทำเป็นธุรกิจหวังผลกำไร โดยใช้ท่า subscription โมเดลนี้ใช้ได้เฉพาะแบรนด์สื่อยักษ์ใหญ่ระดับชาติจริงๆ เพียงไม่กี่ราย เช่น New York Times, Washington Post, Wall Street Journal และสื่อท้องถิ่นที่เน้นโฆษณาเกรดต่ำ (เช่น ขายยา) เท่านั้น
  • ทำเป็นธุรกิจหวังผลกำไร เจาะตลาดนิช เช่น Skift ทำข่าวอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, The Information ข่าวเจาะแวดวงไอที ฯลฯ โดยสื่อที่ Battelle ก่อตั้งล้วนแต่ใช้โมเดลนี้มาตลอด ปัญหาของข่าวเจาะรายอุตสาหกรรม มีเรื่อง bias ที่นักข่าวอาจใกล้ชิดกับแหล่งข่าวเกินไป และไม่แก้ปัญหาเรื่อง hard news ซึ่งไม่ใช่ข่าวตลาดนิช (เช่น ตามเกาะติดนักการเมืองหรือนโยบายเมือง)
  • Substack เป็นทางออกของสื่อรายเล็กมากๆ เช่น มีนักข่าวเพียง 1-2 คน (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้) ข้อเสียคือนักข่าวต้องเล่นบทเป็นศาสดา เพื่อให้ผู้อ่านยอมจ่ายเงิน, มีความ bias เฉพาะตัวผู้เขียนสูง และสเกลให้ใหญ่ได้ยาก เมื่อต้องการขยายทีมแล้วก็จะไปเข้าโมเดลอื่นๆ อยู่ดี
  • ใช้งบประมาณภาครัฐ โมเดลแบบเดียวกับ BBC ซึ่งก็พอไปได้ แต่ไม่ใช่ทุกประเทศหรือทุกพื้นที่จะมีงบประมาณ และอยากนำงบมาอุดหนุนสื่อในแบบเดียวกัน
  • อาศัยความใจบุญของเศรษฐี เช่น The Atlantic ที่ขายให้ภรรยา Steve Jobs, Washington Post ขายให้ Jeff Bezos, TIME ขายให้ Marc Benioff ปัญหาของโมเดลนี้คือไม่สเกล (เศรษฐีไม่ให้เงินเพิ่ม) ไม่ยั่งยืนในระยะยาว (เศรษฐีตายหรือประสบปัญหาธุรกิจหลัก) และอาจมีประโยชน์ทับซ้อนกัน ไม่กล้าวิจารณ์กัน
  • หวังพึ่งพาธุรกิจใหญ่ใจบุญ Battelle บอกว่าโมเดลนี้เป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะในยุคนี้ที่การเมืองแรง บริษัทใหญ่ๆ ใน Fortune 500 ไม่อยากเป็นเจ้าของสื่อ ไม่อยากเลือกข้าง เพราะกลัวผลกระทบเหล่านี้

เขายังสรุปว่า การที่ธุรกิจข่าวอยู่ยาก เป็นเพราะจริงๆ แล้วคนไม่ได้ต้องการข่าวที่เป็น fact แต่ต้องการ “ความจริง” ในแบบที่ตัวเองอยากฟังต่างหาก

When people say they want the truth, they tend to want to hear their preferred version of it.

ประเด็นนี้ทำให้สื่อที่พยายามเป็นกลาง อ้างอิงหลักฐานข้อเท็จจริง อยู่ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ