in Politics, Thoughts

The End of Globalization As We Know It

ความหมายของ “โลกาภิวัฒน์” (globalization) คือ “โลกไร้พรมแดน” (borderless) การเคลื่อนย้ายคน สิ่งของ ทุน ฯลฯ ข้ามประเทศทำได้ง่ายขึ้นมากในรอบ 30 ปีมานี้ (หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย)

เมื่อปัญหาไวรัส/ COVID-19 ทำให้เกิดการปิดพรมแดน หยุดการเคลื่อนย้ายคน การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก จึงมีคำถามตามมาว่า นี่คือจุดสิ้นสุดของโลกาภิวัฒน์หรือไม่?

หลายวันมานี้ก็อ่านบทความของต่างประเทศที่พูดเรื่องนี้หลายอัน แต่เพิ่งมาเจอบทความของคนไทยคือ อ.จันจิรา สมบัติพูนศิริ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จากเว็บ 101 คิดว่าเขียนไว้ครบถ้วนดี

ประเด็นที่มองก็คล้ายๆ กัน ตั้งแต่ ไวรัสโคโรนา มันเข้ามาเปลี่ยน fundamental ของ globalization เพราะบีบให้คนต้องห่างกัน

ขณะที่โลกาภิวัตน์บอกให้โลกเชื่อมต่อกันและใกล้ชิดกันทั้งทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรม ฉะนั้นพรมแดนจึงเป็นของไม่ดี แต่โรคระบาดนี้กำลังสวนทางความเชื่อนี้ โดยชี้ว่าอยู่ห่างๆ กันจะดีกว่า (หลัก social distancing) เชื่อมโยงกันให้น้อยลง และที่สำคัญพรมแดนเป็นเรื่องดี พูดอีกอย่างให้เหมาะกับกระแสตอนนี้คือ รวมกันเราตาย แยกกันเราอยู่

ในแง่นี้โคโรนาไวรัสอาจกำลังเปลี่ยนระบบและชุดคุณค่าที่กำหนดชีวิตทางเศรษฐกิจและธรรมเนียมทางสังคมในโลกที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 1980

ผลกระทบต่อ supply chain ของโลก แบบที่เคยเขียนไป

ความเปราะบางของระบบการพึ่งพาซึ่งกันและกันในกระบวนการผลิต กล่าวคือลักษณะเด่นของกระบวนการโลกาภิวัตน์ประการหนึ่ง ได้แก่ การแบ่งกันผลิตตามความเชี่ยวชาญ แทนที่สินค้าหนึ่งชิ้นจะผลิตในหนึ่งประเทศ แต่กลับแยกผลิตส่วนประกอบในหลายประเทศซึ่งเชี่ยวชาญการผลิตชิ้นส่วนที่ต่างกัน ความเชื่อลึกๆ คือกระบวนการเช่นนี้มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและราคาถูกอีกด้วย

แต่พิษโคโรนากำลังเปลี่ยนความเชื่อนี้ โรคระบาดเริ่มในจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น เทคโนโลยีติดต่อสื่อสาร การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น เมื่อจีนต้องปิดโรงงานอุตสาหกรรมเนื่องด้วยโรคระบาด ก็ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์ iPhone หรือยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการควบคุมและรักษาโรคระบาดได้ ผลต่อเนื่องคือในสหรัฐฯ และยุโรปที่โรคระบาดเข้าขั้นวิกฤตในขณะนี้ เริ่มขาดแคลนยา หน้ากาก และอุปกรณ์ช่วยหายใจ ซึ่งพึ่งพาการผลิตจากจีนเป็นหลัก ขณะนี้การปิดประเทศอิตาลีกำลังส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์เพราะอิตาลีเป็นประเทศผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ คาดการณ์กันว่าวิกฤตโรคระบาดจะทำให้ห่วงโซ่การผลิตที่โยงใยโลกเข้าด้วยกันต้องปรับเปลี่ยนแบบถาวร

ประเด็นเรื่อง ความร่วมมือระหว่างประเทศ บทบาทขององค์กรนานาชาติ (โดยเฉพาะ EU) ที่ล่มสลายไปในทันที

พิษโคโรนาเป็นบททดสอบน้ำยาขององค์การระหว่างประเทศขณะนี้ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือสหภาพยุโรป ซึ่งเกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และหวังว่าจะเป็นบันไดสู่การสร้างชุมชนยุโรป อย่างไรก็ดีความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายนี้จะบรรลุกลับเลือนลางตั้งแต่วิกฤตค่าเงินยูโรเป็นต้นมา เมื่อเผชิญกับโรคระบาดอย่างสาหัส รัฐบาลอิตาลีขอความช่วยเหลือสหภาพยุโรป ทว่าไม่มีคำตอบรับใดๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลในสหภาพยุโรปเข้าสู่โหมดตัวใครตัวมัน โดยประกาศนโยบายห้ามส่งออกหน้ากากและเครื่องมือทางการแพทย์ อีกทั้งยังปิดพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกันไม่ให้คนในประเทศนั้นๆ ข้ามพรมแดนมาซื้อของกักตุนในอีกประเทศ

ผลของไวรัสทำให้คนหันมาสนใจ “ชาติ” แทน “โลก” ซึ่งเป็นหน่วยทางสังคมที่มีขนาดเล็กลง อันนี้เหมือนกับที่เขียนไปในบล็อก The World After Covid

ท่ามกลางวิกฤตโคโรนาไวรัส วิธีคิดแบบ ‘ชุมชนนิยม’ (communitarianism) กำลังมีน้ำหนักมากกว่าวิธีคิดแบบ ‘โลกนิยม’ (cosmopolitanism) ซึ่งเป็นฐานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชากรที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าเขาและเธอจะมาจากประเทศใด

ประเด็นสุดท้ายที่เชื่อมโยงกัน คือการเรียกร้องให้รัฐ-ชาติกลับมามีบทบาทสำคัญในยามคับขัน ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างย้อนแย้ง คือแม้ทางหนึ่งจะจำกัดความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ในกรณีผู้ลี้ภัย ดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ก็สร้างแรงกดดันให้รัฐหันมาใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ มิใช่ปล่อยให้กลไกตลาดในระบบโลกเป็นผู้จัดการอย่างที่เป็นมา

ความเห็น

เมื่อไวรัสทำให้ “โลกนิยม” ใช้การไม่ได้ (เพราะเกิดภัยคุกคามครั้งใหญ่) การที่คนจะวิ่งกลับไปสู่ยูนิตที่เล็กลง (ชาติ) และมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อกัน (ชาติมีหน้าที่ต้องคุ้มครองพลเมือง, โลกไม่ต้อง) จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่ในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะเห็น nationalism เฟื่องฟู ผู้นำแบบ strongman ได้รับความนิยมสูง (แต่ในอีกด้าน strongman หลายคนที่ไม่ฉลาดนัก ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่เวิร์ค เช่น กรณีของไทย ฟิลิปปินส์ บราซิล)

แต่สุดท้ายโลกก็น่าจะกลับมาเชื่อมต่อกันอยู่ดี ระยะยาว globalization จะกลับมาในรูปแบบใหม่ๆ (ที่ตอนนี้ก็ยังคิดไม่ออกว่าเป็นอะไร แต่รู้แน่ๆ ว่าไม่เหมือนเดิม)

ในหัวบล็อกนี้จึงใช้คำว่า The End of Globalization “As We Know It” ไม่ใช่ The End of Globalization เฉยๆ

ภาพประกอบ: Fra Mauro map