ภาพ: spiness
เราท่องกันว่า แม่น้ำแยงซีเกียง เป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับ 3 ของโลก และยาวเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย
แยงซีเกียงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่มีบทบาทอย่างสูงในประวัติศาสตร์จีน อย่างน้อยมันทำหน้าที่เป็น “พรมแดนธรรมชาติ” คั่นระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน (ตัวอย่างแยงซีเกียงในสมรภูมิที่โด่งดังคือ “ศึกผาแดง” ในยุคสามก๊ก)
ถึงแม้การข้ามฝั่งแม่น้ำทางเรือทำได้ไม่ยากนัก แต่การจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่ใหญ่ระดับแยงซี (ในช่วงที่กว้างมากๆ) ก็ต้องรอจนวิทยาการของมนุษยชาติเข้าสู่ยุคสมัยใหม่กันเลยทีเดียว
หนังสือที่อ่านอยู่ตอนนี้คือ ขบวนการ 4 พฤษภาคม ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์จีนในยุคสาธารณรัฐ (1912-1949 หลังโค่นราชวงศ์ชิง จนถึงตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน) เลยได้เรียนรู้ว่า การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์จีนยุคสร้างชาติใหม่ ที่ต้องใช้พลัง “ชาตินิยม” ในการรวมจิตใจคนในชาติให้เป็นหนึ่งเช่นกัน
ลองค้นเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงดู ก็พบว่าสะพาน 3 แห่งแรกถูกสร้างขึ้นตามลำดับดังนี้
- Wuhan Yangtze River Bridge (เริ่มสร้าง 1955 สร้างเสร็จ 1957) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงแห่งแรก (First Bridge of the Yangtze) อยู่ที่เมืองอู่ฮั่น ช่วงกลางของแม่น้ำทั้งสาย ความยาว 1.6 กม. สะพานแห่งนี้ถูกเสนอในที่ประชุมครั้งแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1949
- Baishatuo Yangtze River Railway Bridge (สร้างเสร็จ 1959) อยู่ที่เมืองฉงชิ่ง ช่วงต้นๆ ของแม่น้ำ ความยาว 0.8 กม. เป็นสะพานทางรถไฟ เพิ่งเลิกใช้ไปในปี 2019 เพราะสะพานไม่สูงมากนักจากระดับน้ำ และมีสะพานใหม่มาใช้แทนแล้ว
- Nanjing Yangtze River Bridge (เริ่มสร้าง 1960 สร้างเสร็จ 1968) อยู่ที่นานกิง ซึ่งค่อนข้างอยู่ปลายสายแม่น้ำแล้ว สะพานนี้ถูกเอ่ยถึงในหนังสือ 4 พฤษภาคม โดยเป็นสะพานที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ใช้เป็นประเด็นขับไล่วิศวกรของโซเวียตที่มาช่วยสร้างสะพานออกไป (ซึ่งจีนกับโซเวียตแตกหักกันในช่วงนั้น) และถือเป็นสะพาน “ชาตินิยม” ที่จีนระบุว่าสร้างขึ้นมาด้วยความสามารถของคนจีนเอง
ในยุคปัจจุบันที่จีนกลายเป็นมหาอำนาจด้านการก่อสร้างเมกะโปรเจคต์ มีสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงจำนวนมากมายมหาศาล (รวมๆ กันน่าจะเกือบร้อยแห่ง) สะพานรุ่นใหม่ๆ อาจมีความยาวระดับเกิน 10 กม. ด้วยซ้ำ (รายชื่อทั้งหมดดูได้จาก Wikipedia)