in Politics, Technology

ทวงคืนอินเทอร์เน็ตไทย

Elizabeth Warren ส.ว.พรรคเดโมแครต เพิ่งเปิดตัวว่าจะลงชิง ปธน. ปี 2020 ได้ไม่นาน ก็ออกนโยบายที่น่าตื่นเต้นมาทันที นั่นคือการเข้ามาควบคุมบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ที่ระบุชื่อมี 3 รายคือ Google, Facebook, Amazon

ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่พูดกันเยอะพอสมควรในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา และน่าจะเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายอย่าง Warren หรือฝ่ายขวาอย่าง Trump ก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ด้วยกันทั้งคู่

สอดคล้องกับในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา มิตรสหายจากหลายแวดวงในไทย ก็มาหารือเรื่องการจำกัดอิทธิพลของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ทั้งแพลตฟอร์มโซเชียล, อีคอมเมิร์ซ และ OTA จองห้องพักจองโรงแรม ที่ส่งผลกระทบต่อ SME ไทยอย่างรุนแรง

คนที่พูดเรื่องนี้ได้ค่อนข้างโดดเด่นคือ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่

แนวทางที่ผมมักตอบมิตรสหายฯ คือต้องแยกเป็น 2 กรณี

  • การจำกัดแพลตฟอร์มต่างชาติ จะมีปัญหาคือแพลตฟอร์มไทยแข่งขันไม่ได้ คุณภาพต่ำกว่ากันมาก ก็เป็นการทำลายนวัตกรรม ไม่สร้างการแข่งขันเช่นกัน อันนี้แก้ยากหน่อย
  • แต่แพลตฟอร์มต่างชาติ ก็ควรอยู่ภายใต้กฎหมายไทยและเสียภาษีของไทย ซึ่งก็มีแนวคิดนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ควรให้ประเทศใหญ่ๆ เขาลุยกันไปก่อนแล้วเราค่อยตาม เคสที่ชัดเจนที่สุดคือเคสของฝรั่งเศส

สรุปคือ เรื่องนี้สำคัญ ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ยังอยู่ในระดับที่พอรอได้ และต้องรอหลายประเทศเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน