in Books

โลกไร้โฟกัส Stolen Focus

โลกไร้โฟกัส (Stolen Focus) หนังสือใหม่ของ Bookscape ประจำงานหนังสือรอบเดือนมีนาคม 2567 และเป็นเล่มที่ผมตั้งใจอย่างยิ่งยวดที่จะซื้อมาอ่าน เพราะเป็นเรื่องที่สนใจพอดีในช่วงนี้ (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในบล็อกแรกของเว็บนี้ Offloading Facebook)

Stolen Focus เขียนโดย Johann Hari นักเขียนชาวอังกฤษ-สวิส ที่เคยเขียนหนังสือเรื่อง โลกซึมเศร้า Lost Connections เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาก่อน

หนังสือเล่มนี้ของ Hari ตั้งคำถามในประเด็นว่า “ทำไมคนยุคนี้ถึงมีสมาธิน้อยลง” คำตอบของคนส่วนใหญ่มักเป็นคำตอบง่ายๆ ว่า “ก็ติดมือถือ/โซเชียลยังไงล่ะ”

Hari ก็พบปัญหานี้กับตัวเอง จึงลองหักดิบด้วยการย้ายไปอยู่กระท่อมริมหาดที่เมือง Provincetown ตรงข้ามชายฝั่งเมืองบอสตันเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่มีมือถือติดไปด้วย และมีโน้ตบุ๊กเก่าต่อเน็ตไม่ได้เครื่องหนึ่ง เพื่อตั้งเป้าว่าจะเขียนหนังสือตามที่ตั้งใจไว้ แต่ไม่มีสมาธิมากพอที่จะจดจ่อเขียนได้สำเร็จ

ผลการหักดิบของ Hari ได้ผลในระดับหนึ่ง เขามีสมาธิดีขึ้น แต่เมื่อกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม เขาก็เสียสมาธิอีกครั้ง และเมื่อต้องมาเจอสถานการณ์ล็อคดาวน์ตอนโควิด อาการเสียสมาธิ ติดมือถือของเขาก็ยิ่งหนักกว่าเดิมซะอีก

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นความพยายามของ Hari เพื่อหาคำตอบว่ามันมีอะไรลึกซึ้งกว่านั้น ที่ทำให้สมาธิของคนยุคปัจจุบันแตกกระจาย

Hari เดินทางสัมภาษณ์คนมากมาย โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี การแพทย์ จิตวิทยา ว่าตกลงแล้วปัจจัยที่มีผลต่ออาการสมาธิสั้นของคนเกิดจากอะไรกันแน่ เขาสรุปออกมาได้ 12 ปัจจัย ได้แก่ (ขออิงตามชื่อบทภาษาอังกฤษ)

  1. The Increase in Speed, Switching, and Filtering
  2. The Crippling of Our Flow States
  3. The Rise of Physical and Mental Exhaustion
  4. The Collapse of Sustained Reading
  5. The Disruption of Mind-Wandering
  6. The Rise of Technology That Can Track and Manipulate You
  7. The Rise of Cruel Optimism
  8. The Surge in Stress
  9. Deteriorating Diet
  10. Rising Pollution
  11. The Rise of ADHD
  12. The Confinement of Our Children, Both Physically and Psychologically

ผมขอเรียกปัจจัยที่ 1-5 รวมๆ ว่าเป็นกลุ่มการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับสมาธิ เนื้อหาส่วนนี้ดีมาก เรียกได้ว่าเป็น literature review วิชาการด้านสมาธิและสมองได้เลยก็ว่าได้ อ่านแล้วเปิดโลกมาก

ผู้เขียนได้แนะนำงานวิจัยด้านสมองและสอนให้เรารู้ว่า สมาธิมีหลายแบบ มีทั้งแบบที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือ focus หรือการเพ่งสมาธิ แต่ก็มีสมาธิแบบอื่นอย่าง flow (ภาษาไทยแปลว่า ธารไหล) และ mind-wandering (ใจจร) ด้วย ซึ่งสมองของเราต้องใช้การทำงานของสมาธิหลายๆ แบบร่วมกันตามธรรมชาติ การสนใจเฉพาะเรื่อง focus เพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

ส่วนปัจจัย 6-7 เป็นเรื่องเทคโนโลยี หากใครติดตามเรื่อง surveillance capitalism หรือการออกแบบบริการให้มี engagement สูงๆ น่าจะพอเข้าใจดีอยู่แล้ว เนื้อหาตรงนี้ Hari ไปสัมภาษณ์กลุ่มนักเทคโนโลยีที่ต่อต้าน engagement จนทำให้คนติดพัน ได้แก่ Aza Raskin และ Tristan Harris แล้วนำมาปะทะกับแนวคิดของ Nir Eyal ที่เป็นผู้นำเรื่อง growth hacking

ตัวของ Hari นั้นเอนเอียงมาทางฝั่งของ Raskin & Harris อย่างชัดเจน และสนับสนุนให้เกิดนโยบายของภาครัฐเพื่อกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้

ปัจจัยที่ 8-12 เรียกว่าเป็นปัจจัยทางสังคมศาสตร์ในภาพใหญ่ ตั้งแต่ [8] ความเครียดจากสภาพแวดล้อมในครอบครัว, [9] รูปแบบการบริโภคของอาหารยุคใหม่ ฟาสต์ฟู้ด ที่มีผลต่อสมอง, [10] มลพิษในสิ่งแวดล้อม ในอากาศ ที่มีผลต่อสมอง, [11] อาการโรคสมาธิสั้น ADHD ที่นักจิตวิทยายังไม่มีข้อสรุปว่าเกิดจากอะไร ซึ่ง Hari คิดว่าเกิดจาก [12] คือการกักเด็กไว้ในสภาพแวดล้อมปิด ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ไม่ปล่อยให้เล่นอิสระอย่างในอดีต ทำให้ขัดกับธรรมชาติของเด็ก และส่งผลให้เกิด ADHD

มุมมองของ Hari ยังคงเหมือนเดิมคือ เขามองว่าสังคมปัจจุบันมันบีบคั้นทุกทาง ทำให้คนมีสุขภาพจิตไม่ดีพอ และสมาธิถดถอยในภาพรวม และข้อเสนอของเขาคือให้คนปัจจุบันลุกขึ้นต่อสู้ เรียกร้อง แบบเดียวกับที่เคยเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง, สิทธิเกย์ หรือต่อสู้กับสารตะกั่วในน้ำมันสำเร็จมาแล้ว

ผมได้ประโยชน์มากจากการอ่านหนังสือส่วนต้น (ปัจจัย 1-5 ช่วงประมาณ 1/3 ส่วนแรกของหนังสือ) ถือเป็นการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่เคยรู้จักหรือใกล้ชิดมาก่อน ในขณะที่ปัจจัย 2 กลุ่มหลังก็อยู่ในระดับกลางๆ อ่านแล้วไม่ถึงกับว้าวเหมือนช่วงต้น

ผู้แปลหนังสือ คุณฐณฐ จินดานนท์ แปลเป็นภาษาไทยได้ดี อ่านแล้วลื่นไหล (มิตรสหายที่อ่านเล่มเดียวกันก็ชมเหมือนกัน)

จุดติคงมีข้อเดียวคือ สารบัญของหนังสือแปลเป็นภาษาไทยล้วนๆ เลยนึกตามไม่ออกว่าชื่อบทตามต้นฉบับภาษาอังกฤษคืออะไร เลยไม่สามารถคาดเดาหรือนึกภาพกว้างตามได้ว่าบทนี้จะพูดเกี่ยวกับอะไรกันแน่ ถ้ามีวงเล็บภาษาอังกฤษในสารบัญ หรือใต้ชื่อบทที่เป็นภาษาไทยจะดีขึ้นกว่าเดิมอีกมาก