โลกไร้โฟกัส (Stolen Focus) หนังสือใหม่ของ Bookscape ประจำงานหนังสือรอบเดือนมีนาคม 2567 และเป็นเล่มที่ผมตั้งใจอย่างยิ่งยวดที่จะซื้อมาอ่าน เพราะเป็นเรื่องที่สนใจพอดีในช่วงนี้ (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในบล็อกแรกของเว็บนี้ Offloading Facebook)
Stolen Focus เขียนโดย Johann Hari นักเขียนชาวอังกฤษ-สวิส ที่เคยเขียนหนังสือเรื่อง โลกซึมเศร้า Lost Connections เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาก่อน
หนังสือเล่มนี้ของ Hari ตั้งคำถามในประเด็นว่า “ทำไมคนยุคนี้ถึงมีสมาธิน้อยลง” คำตอบของคนส่วนใหญ่มักเป็นคำตอบง่ายๆ ว่า “ก็ติดมือถือ/โซเชียลยังไงล่ะ”
Hari ก็พบปัญหานี้กับตัวเอง จึงลองหักดิบด้วยการย้ายไปอยู่กระท่อมริมหาดที่เมือง Provincetown ตรงข้ามชายฝั่งเมืองบอสตันเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่มีมือถือติดไปด้วย และมีโน้ตบุ๊กเก่าต่อเน็ตไม่ได้เครื่องหนึ่ง เพื่อตั้งเป้าว่าจะเขียนหนังสือตามที่ตั้งใจไว้ แต่ไม่มีสมาธิมากพอที่จะจดจ่อเขียนได้สำเร็จ
ผลการหักดิบของ Hari ได้ผลในระดับหนึ่ง เขามีสมาธิดีขึ้น แต่เมื่อกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม เขาก็เสียสมาธิอีกครั้ง และเมื่อต้องมาเจอสถานการณ์ล็อคดาวน์ตอนโควิด อาการเสียสมาธิ ติดมือถือของเขาก็ยิ่งหนักกว่าเดิมซะอีก
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นความพยายามของ Hari เพื่อหาคำตอบว่ามันมีอะไรลึกซึ้งกว่านั้น ที่ทำให้สมาธิของคนยุคปัจจุบันแตกกระจาย
Hari เดินทางสัมภาษณ์คนมากมาย โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี การแพทย์ จิตวิทยา ว่าตกลงแล้วปัจจัยที่มีผลต่ออาการสมาธิสั้นของคนเกิดจากอะไรกันแน่ เขาสรุปออกมาได้ 12 ปัจจัย ได้แก่ (ขออิงตามชื่อบทภาษาอังกฤษ)
- The Increase in Speed, Switching, and Filtering
- The Crippling of Our Flow States
- The Rise of Physical and Mental Exhaustion
- The Collapse of Sustained Reading
- The Disruption of Mind-Wandering
- The Rise of Technology That Can Track and Manipulate You
- The Rise of Cruel Optimism
- The Surge in Stress
- Deteriorating Diet
- Rising Pollution
- The Rise of ADHD
- The Confinement of Our Children, Both Physically and Psychologically
ผมขอเรียกปัจจัยที่ 1-5 รวมๆ ว่าเป็นกลุ่มการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับสมาธิ เนื้อหาส่วนนี้ดีมาก เรียกได้ว่าเป็น literature review วิชาการด้านสมาธิและสมองได้เลยก็ว่าได้ อ่านแล้วเปิดโลกมาก
ผู้เขียนได้แนะนำงานวิจัยด้านสมองและสอนให้เรารู้ว่า สมาธิมีหลายแบบ มีทั้งแบบที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือ focus หรือการเพ่งสมาธิ แต่ก็มีสมาธิแบบอื่นอย่าง flow (ภาษาไทยแปลว่า ธารไหล) และ mind-wandering (ใจจร) ด้วย ซึ่งสมองของเราต้องใช้การทำงานของสมาธิหลายๆ แบบร่วมกันตามธรรมชาติ การสนใจเฉพาะเรื่อง focus เพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง
ส่วนปัจจัย 6-7 เป็นเรื่องเทคโนโลยี หากใครติดตามเรื่อง surveillance capitalism หรือการออกแบบบริการให้มี engagement สูงๆ น่าจะพอเข้าใจดีอยู่แล้ว เนื้อหาตรงนี้ Hari ไปสัมภาษณ์กลุ่มนักเทคโนโลยีที่ต่อต้าน engagement จนทำให้คนติดพัน ได้แก่ Aza Raskin และ Tristan Harris แล้วนำมาปะทะกับแนวคิดของ Nir Eyal ที่เป็นผู้นำเรื่อง growth hacking
ตัวของ Hari นั้นเอนเอียงมาทางฝั่งของ Raskin & Harris อย่างชัดเจน และสนับสนุนให้เกิดนโยบายของภาครัฐเพื่อกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้
ปัจจัยที่ 8-12 เรียกว่าเป็นปัจจัยทางสังคมศาสตร์ในภาพใหญ่ ตั้งแต่ [8] ความเครียดจากสภาพแวดล้อมในครอบครัว, [9] รูปแบบการบริโภคของอาหารยุคใหม่ ฟาสต์ฟู้ด ที่มีผลต่อสมอง, [10] มลพิษในสิ่งแวดล้อม ในอากาศ ที่มีผลต่อสมอง, [11] อาการโรคสมาธิสั้น ADHD ที่นักจิตวิทยายังไม่มีข้อสรุปว่าเกิดจากอะไร ซึ่ง Hari คิดว่าเกิดจาก [12] คือการกักเด็กไว้ในสภาพแวดล้อมปิด ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ไม่ปล่อยให้เล่นอิสระอย่างในอดีต ทำให้ขัดกับธรรมชาติของเด็ก และส่งผลให้เกิด ADHD
มุมมองของ Hari ยังคงเหมือนเดิมคือ เขามองว่าสังคมปัจจุบันมันบีบคั้นทุกทาง ทำให้คนมีสุขภาพจิตไม่ดีพอ และสมาธิถดถอยในภาพรวม และข้อเสนอของเขาคือให้คนปัจจุบันลุกขึ้นต่อสู้ เรียกร้อง แบบเดียวกับที่เคยเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง, สิทธิเกย์ หรือต่อสู้กับสารตะกั่วในน้ำมันสำเร็จมาแล้ว
ผมได้ประโยชน์มากจากการอ่านหนังสือส่วนต้น (ปัจจัย 1-5 ช่วงประมาณ 1/3 ส่วนแรกของหนังสือ) ถือเป็นการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่เคยรู้จักหรือใกล้ชิดมาก่อน ในขณะที่ปัจจัย 2 กลุ่มหลังก็อยู่ในระดับกลางๆ อ่านแล้วไม่ถึงกับว้าวเหมือนช่วงต้น
ผู้แปลหนังสือ คุณฐณฐ จินดานนท์ แปลเป็นภาษาไทยได้ดี อ่านแล้วลื่นไหล (มิตรสหายที่อ่านเล่มเดียวกันก็ชมเหมือนกัน)
จุดติคงมีข้อเดียวคือ สารบัญของหนังสือแปลเป็นภาษาไทยล้วนๆ เลยนึกตามไม่ออกว่าชื่อบทตามต้นฉบับภาษาอังกฤษคืออะไร เลยไม่สามารถคาดเดาหรือนึกภาพกว้างตามได้ว่าบทนี้จะพูดเกี่ยวกับอะไรกันแน่ ถ้ามีวงเล็บภาษาอังกฤษในสารบัญ หรือใต้ชื่อบทที่เป็นภาษาไทยจะดีขึ้นกว่าเดิมอีกมาก