เนื้อหาจากหนังสือ Age of Revolutions ของ Fareed Zakaria
Robert D. Putnam นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ Harvard เคยเขียนหนังสือชื่อ Bowling Alone: The Collapse and Revival of American Community ตีพิมพ์ในปี 2000 เล่าถึงปรากฏการณ์ในอเมริกา ที่ปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนทางกายภาพนั้นเริ่มถดถอยลง อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีขึ้น คนใช้เวลาดูทีวี เล่นเกม ใช้อินเทอร์เน็ตในบ้าน แทนการออกไปเจอกันตามคลับ สโมสร ชมรมต่างๆ ในเมือง ซึ่ง Putnam ชี้ว่ามันส่งผลให้ “ทุนทางสังคม” (ในความหมายนี้คือ social capital) ของทั้งสังคมลดลงตามไปด้วย
ตัดภาพมา 25 ปีให้หลัง ในยุคแห่งสมาร์ทโฟน โซเชียล สังคมออนไลน์ สถานการณ์ Bowling Alone ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น คนเปลี่ยวเหงาในโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น ไม่กล้าออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าในพื้นที่กายภาพเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็เข้าไปสร้างสังคมเสมือนกับคนแปลกหน้าที่อาจอยู่ห่างไกลกัน แต่มีความคิดคล้ายๆ กัน จนอาจเกิดชุมชนมีความ “เบียวกันเอง” สูงขึ้นเรื่อยๆ
(เคยเขียนประเด็นนี้ไว้ในตอน Community Function)
เมื่อบวกกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้งานของภาคการเกษตร-การผลิตแบบดั้งเดิมหายไป ถึงแม้มีงานใหม่ๆ ที่เป็นดิจิทัลเข้ามาแทน แต่ในบริบทของอเมริกาคือมันต้องย้ายเมืองตามด้วย พื้นที่ตอนกลางของประเทศไม่มีงานเพียงพอ ถ้าอยากทำงานดิจิทัล ภาคการเงิน ภาคบริการ ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองใหญ่ชายฝั่งทั้งสองด้าน
(หนังสือ Hillbilly Elegy ของ J.D. Vance ที่ตอนนี้เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้)
พลังของโลกดิจิทัลยังทำลายธุรกิจของชุมชนแบบดั้งเดิม ร้านขายของถูก disrupt โดยอีคอมเมิร์ซ, โรงหนังถูก disrupt โดย Netflix, ร้านเกมถูก disrupt โดยเกมออนไลน์ ฯลฯ ปัญหาคือความเป็นพื้นที่ของชุมชนให้ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มันหายตามไปกับธุรกิจด้วย
ถ้ามองให้เป็นบวก พลังของดิจิทัลทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ที่สามารถย้ายไปทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก (Anywhere) คนกลุ่มนี้มักเป็นคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง มีโอกาสทำงานระดับสูงๆ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นระดับโลก (global)
อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองในแง่ลบ การที่คนสามารถไปทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ยึดติดกับความเป็นพื้นถิ่น (Somewhere) มันทำให้คนขาดรากเหง้าในเชิงพื้นที่ เปลี่ยนวิธีคิดในการเชื่อมโยงระหว่างกันจากประโยคแนวๆ “เรามันคนคอนด้วยกัน” “คนอีสานเหมือนกัน” ไปสู่การถือคุณค่าเชิงนามธรรมประเภทอื่น เช่น “รักสัตว์” “vegan” ซึ่งไม่ผิด แต่อาจไม่สามารถทดแทนกันได้ทั้งหมด
ปัจจัยเหล่านี้จึงอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใด คนจึงเปลี่ยวเหงามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความเป็นชุมชนนั้นล่มสลายลงไป (the collapse of community)
Fareed Zakaria เสนอว่ารัฐ (ในบริบทของสหรัฐอเมริกา) ควรต้องมีนโยบายช่วยสร้างศูนย์กลางชุมชนขึ้นมาใหม่ ทั้งในเชิงโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ชีวิต เช่น ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และในเชิงการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เขาเสนอให้พัฒนาโรงเรียน-มหาวิทยาลัยเป็น community center ให้คนในชุมชนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเองมากขึ้น
ข้อเสนออีกอันที่น่าสนใจคือ Fareed เสนอให้มี universal national service คล้ายกับการเกณฑ์ทหารแต่เป็นยุคสมัยใหม่ เอาคนรุ่นใหม่ออกไปให้บริการสังคมแทน โดยเขายกตัวอย่างว่า JFK หนึ่งในลูกหลานตระกูลใหญ่ที่ร่ำรวยที่สุดของอเมริกา มีโอกาสไปใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับลูกคนงาน ชาวประมง ในเรือรบลำเดียวกันตอนสงครามโลก การที่คนยุคนั้นได้พบเจอคนที่หลากหลาย (แม้ไม่ตั้งใจ เพราะเกิดสงคราม) ทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างมาก และสภาพแบบนี้หายไปเกือบหมดแล้วในยุคปัจจุบัน ที่ต่างคนต่างอยู่ในสังคมของตัวเอง อยู่ใน bubble ของตัวเอง แม้เป็นพื้นที่กายภาพเดียวกัน
Fareed Zakaria ยกตัวอย่างจากคำพูดของ Lee Kuan Yew อดีตนายกสิงคโปร์ที่เขามีโอกาสไปสัมภาษณ์ โดย Lee ให้คุณค่ากับการนำคนจีน คนมาเลย์ คนอินเดีย ที่วัฒนธรรมแตกต่างหลากหลาย มาหลอมรวมเข้าด้วยกันได้สำเร็จในสิงคโปร์
Lee ยังเล่าถึงคนมาเลเซียในยุค 60-70s ที่ย้ายไปอยู่แคนาดา-ออสเตรเลีย เพราะต้องการคว้าโอกาสทางการศึกษาที่ดีให้ลูกๆ แต่เมื่อลูกเติบโต เรียนจบ แยกบ้านไปแล้ว พ่อแม่ชาวมาเลเซียเหล่านี้ก็รู้สึก “ว่างเปล่า” เพราะทิ้งชีวิต Somewhere ของตัวเองที่มีรากเหง้า มาสู่ Anywhere ที่มีโอกาสในชีวิตมากกว่าไปแล้ว ผลคือคนเหล่านี้ต้องหันไปโหยหาอดีต ฟังเพลงเก่า คุยกับเพื่อนเก่า และพยายามกลับไปใช้ชีวิตในประเทศเดิม เพราะมันคือ Somewhere ที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา