ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนของไทย (ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุคสร้างชาติไทยสมัยใหม่ช่วง ร.5-6 สกุลดำรงราชานุภาพ “Siam Mapped”) จะเล่าว่าไทยเสียดินแดนฝั่งภาคอีสานให้กับฝรั่งเศส และเสียดินแดนภาคตะวันตก-ภาคใต้ให้กับอังกฤษ (กลายเป็นส่วนหนึ่งของพม่าและมาเลเซียในปัจจุบัน)
กรณีของหัวเมืองภาคใต้นั้น เราท่องๆ กันมาในหนังสือเรียนว่า เสียหัวเมือง “ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู” แต่ถ้าถามว่าหัวเมืองที่เสียไปมันอยู่ตรงไหน ในหนังสือเรียนตามแบบฉบับนั้นไม่เคยสอน
ในฐานะเป็นเด็กรุ่นที่โตมากับ narrative แบบนี้ก็ไม่รู้จริงๆ ไม่เคยถูกสอน และไม่เคยอยากรู้มาก่อน จนช่วงหลังมาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์การสร้างชาติไทยสมัยใหม่ บวกกับมาอ่านบทความเรื่อง 112 ปีของสนธิสัญญาแองโกล-สยาม: จากมุมของสี่รัฐมลายู กลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และเปอร์ลิส เลยอยากรู้จนต้องค้นคว้า และได้คำตอบมาบันทึกไว้
นอกจากได้คำตอบว่าหัวเมืองเหล่านี้อยู่ตรงไหนแล้ว ความรู้ทางภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ของหัวเมืองภาคใต้ ก็ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย
ปูมหลังทางวัฒนธรรมของหัวเมืองมลายู
ก่อนอื่นเลย ต้องเข้าใจความรู้พื้นฐานของหัวเมืองมลายูเดิมก่อนคือ
- ภูมิศาสตร์: พื้นที่ในคาบสมุทรมลายู ที่นับรวมภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ตรงกลางๆ มันเป็นภูเขาและป่า คนอยู่ยาก ดังนั้นชุมชนจึงอยู่กันบริเวณที่ราบชายทะเลทั้ง 2 ฝั่ง (อันดามัน-อ่าวไทย)
- วัฒนธรรม: วัฒนธรรมของหัวเมืองมลายูอิงกับการค้าทางทะเล และศาสนาอิสลาม ซึ่งเหมือนกับนครรัฐหรืออาณาจักรอื่นในละแวกนี้ เช่น มาเลเซีย (มะละกา) อินโดนีเซีย (สุมาตรา/ศรีวิชัย) แต่ต่างจากอินโดจีนภาคพื้นทวีปที่เป็นพุทธ (พม่า สยาม ล้านนา ล้านช้าง) อย่างมาก
- ประวัติศาสตร์การเมือง: อาณาจักรแถวนี้อยู่มานานเป็นพันปี เก่าแก่กว่ารัฐสยาม (อยุธยา) ด้วยซ้ำ แต่เป็นอาณาจักรขนาดเล็ก (นครรัฐ) ที่อยู่ตรงกลางระหว่างอิทธิพลของรัฐขนาดใหญ่กว่า เช่น พม่า อยุธยา ศรีวิชัย ความสัมพันธ์อยู่ในรูปรัฐบรรณาการ แต่ไม่ใช่เมืองขึ้น (ลักษณะเดียวกับ สยามส่งบรรณาการให้จีน)
ความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องศาสนา ทำให้บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียในปัจจุบัน เป็น “รอยต่อทางวัฒนธรรม” ระหว่างชุมชนพุทธและอิสลามไปด้วย และเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด (อีกจุดในโลกนี้ที่เป็นรอยต่อระหว่างพุทธ vs อิสลาม คือ พรมแดนพม่า-บังกลาเทศ ที่มีปัญหาแบบเดียวกัน คือ โรฮิงญา)
ภูมิศาสตร์ของหัวเมืองมลายู
ทีนี้ถ้ามาดูรายละเอียดทางภูมิศาสตร์แบบเจาะจง ตามแผนที่ในภาพ จะเห็นจุดที่ตั้งของรัฐมลายูดั้งเดิม 4 โซนคือ
- ไทรบุรี (Saiburi หรือ Syburi) มาเลเซียเรียกในปัจจุบันว่า เคดาห์ (Kedah)
- ปัตตานี (Pattani)
- กลันตัน (Kelantan)
- ตรังกานู (Terengganu)
ถ้าไม่นับรวม ตรังกานู ที่อยู่ไกลออกไปหน่อย จะเห็นว่าเส้นพรมแดนไทย-มาเลเซียในปัจจุบัน (ที่เกิดจากสนธิสัญญากับอังกฤษในปี 1909) ตัดผ่านชุมชนโบราณทั้ง 3 แห่ง คือ ไทรบุรี ปัตตานี กลันตัน
แนวคิดเรื่องพรมแดนสมัยใหม่ ที่ตัดผ่านคลัสเตอร์เชิงวัฒนธรรมดั้งเดิม จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมาจนถึงปัจจุบัน
เริ่มจากเรื่องการแบ่งแยกชุมชนก่อน กรณีของไทรบุรีและกลันตันเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะรัฐเดิมเขาอยู่ของเขามาก่อนนานแล้ว แต่เส้นดินแดนใหม่มาแบ่งแยกประเทศเดิมเป็นหลายส่วน
- ไทรบุรี เดิมทีเป็นรัฐอิสระมายาวนาน สยามเข้ามาครอบครองและตั้งเป็น มณฑลไทรบุรี แบ่งแยกเคดะห์ (Kedah) กับปะลิส (Perlis) ที่เคยเป็นญาติกันออกเป็น 2 รัฐ (ตั้งเจ้าชายคนหนึ่งของเคดะห์มาเป็นราชาของปะลิส) พอตอนแบ่งดินแดนกับอังกฤษ ก็ผ่าตรงกลาง เอาสตูล (Setul ในชื่อดั้งเดิม) มาอยู่กับสยาม ส่วนปะลิสและเคดะห์เป็นของอังกฤษ
- กลันตัน ก็คล้ายๆ กันคือ ตัวเมืองหลักของกลันตันยกให้อังกฤษ แต่เมืองข้างๆ กันคือ ตากใบ อยู่ในพรมแดนฝั่งสยาม
ส่วนเคสของปัตตานี จะเห็นว่าเป็นรัฐเดียวใน 4 ชุมชนที่พลัดจากเพื่อนฝูง หลุดมาอยู่กับฝั่งสยาม และถ้าดูระยะจากแผนที่ เมืองยะลาและนราธิวาส (ที่เป็น “เมือง” ตามรูปแบบการปกครองไทยในยุคมณฑลเทศาภิบาล) ถือเป็นเมืองบริวารของรัฐปัตตานีเดิม
พื้นที่ทางตอนใต้ลงไปจาก 4 โซนคลัสเตอร์เหล่านี้ เริ่มมีลักษณะต่างออกไปแล้วคือ ปีนัง (Penang) ที่มีความพิเศษเพราะเป็นเกาะ เป็นเมืองท่าที่ถูกตั้งขึ้นต่างหาก (British East India มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ปี 1786) และ เปรัก (Perak) ที่อยู่ตอนใต้ลงไปมาก (เมืองหลักคือ Ipoh) แถมตั้งอยู่บนพื้นที่ราบหลักของมาเลเซีย (ที่ราบผืนเดียวกับกัวลาลัมเปอร์) ที่ถูกแบ่งแยกจากเทือกเขาตรงกลางบริเวณชายแดน
ดังนั้น ในเชิงความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์-วัฒนธรรม หัวเมืองพุทธที่อยู่ตอนใต้ที่สุดของไทยจึงมาสุดอยู่แถวๆ สงขลา-หาดใหญ่เท่านั้น ส่วนหัวเมืองที่อยู่ใต้ลงไปจากนั้น ไม่ว่าจะฝั่งอันดามัน (สตูล) หรือฝั่งอ่าวไทย (ปัตตานี +ยะลา +นราธิวาส) มีความแตกต่างทางศาสนา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์อย่างมากจากรัฐหลักของไทย
ประวัติศาสตร์การได้ดินแดน-เสียดินแดน
แนวคิดเรื่องการได้ดินแดน-เสียดินแดน เป็นแนวคิดยุคใหม่ในยุคอาณานิคมเป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอยู่ในรูป “รัฐบรรณาการ” เช่น ปัตตานีส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้สยาม (รวมถึงรัฐใหญ่อื่นๆ ในละแวก เช่น พม่า อาเจะห์) แต่ไม่ได้แปลว่าปัตตานีเป็นของไทย ลักษณะเดียวกับที่สยามส่งบรรณาการให้จักรพรรดิจีน (รายละเอียดอยู่ในบทความของ 101 ข้างต้น)
ธงชัย วินิจจะกูล เรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่า “เจ้าพ่อ” โดยรัฐใหญ่คือเจ้าพ่อใหญ่ มีเจ้าพ่อระดับกลาง ระดับเล็ก ลดหลั่นกันไป เจ้าพ่อเล็กอาจอยู่ใต้ sphere of influence ของเจ้าพ่อใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นลูกน้องกันโดยตรง
หัวเมืองมลายูอย่าง เคดะห์ ถือเป็นรัฐบรรณาการของอยุธยา แต่พอเสียกรุงก็เป็นอิสระอยู่พักหนึ่ง และกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีกันต่อในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนโดนสยามบุกยึดในช่วงรัชกาลที่ 2 (ปี 1821) ผนวกเคดะห์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม โดยใช้ข้าหลวงสยามเป็นผู้ปกครอง
แต่สยามก็มีอำนาจเดี่ยวอยู่ได้ไม่นาน เพราะอังกฤษเริ่มเข้ามาในช่วงนั้นพอดี รัชกาลที่ 3 เซ็น สนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) ในปี 1826 หลังจากนั้นเพียง 5 ปี ซึ่งเป็นสัญญาที่เน้นเรื่องการค้าเป็นหลัก และฝ่ายไทยค่อนข้างได้เปรียบ
หลังจากนั้น 30 ปี อังกฤษเข้ามาทำสัญญาฉบับใหม่คือ สัญญาเบาริง (Bowring Treaty) ในยุค ร.4 (ปี 1855) ที่ฝ่ายอังกฤษได้เปรียบมากขึ้น เปิดเสรีการค้า และมีประเด็นสำคัญคือ คนอังกฤษได้สิทธิภาพนอกอาณาเขต (extraterritoriality) ทำผิดในสยามไม่ต้องขึ้นศาลสยาม
สัญญาฉบับที่สามระหว่างสยามกับอังกฤษคือ สนธิสัญญาปี 1909 (ไม่มีชื่อสัญญาตามทูตเหมือน 2 ฉบับแรก) ซึ่งมีหัวข้อสำคัญคือ
- สยามยกสิทธิการปกครอง 4 รัฐให้อังกฤษ + อังกฤษชดใช้หนี้ของรัฐเหล่านี้ต่อสยามให้
- ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนอังกฤษ
- อังกฤษให้เงินกู้ 4.64 ล้านปอนด์กับสยามเพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้
จะเห็นว่า สัญญาฉบับปี 1909 นี้ สยามไม่ได้ “เสียดินแดน” แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้หนี้คืน ได้เงินกู้มา ได้แก้ปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วย เรียกได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันมากกว่า
รัฐไทยในยุคหลังมีชื่อเรียก รัฐทั้ง 4 แห่งที่ยกให้อังกฤษว่า “สี่รัฐมาลัย” (มาลัย = มาเลย์) และได้กลับคืนมาสั้นๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นบุกยึดครองคาบสมุทรมลายูได้ แต่ก็ต้องคืนให้อังกฤษไปเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง (ครองอยู่ประมาณ 2 ปี)