in Knowledge

Sahara and Malaria

อ่านเจอบทความ Why Europeans Colonized America Before Africa ของ Tomas Pueyo นักเขียนเรื่องภูมิศาสตร์ที่ติดตามอยู่

หัวข้อนี้เป็นสิ่งที่สนใจมานานแล้ว เพราะแอฟริกาอยู่ใกล้กับยุโรปมากกว่า คนยุโรปมีการค้า-ทำสงครามกับแอฟริกามายาวนานตั้งแต่สมัยกรีก แต่กลับไปถึงทวีปอเมริกา (โคลัมบัสค้นพบอเมริกาโดยบังเอิญปี 1492) ในช่วงไล่เลี่ยกับการเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Bartolomeu Dias ทำได้ในปี 1488)

เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบคือ “กำแพง” ทางกายภาพของแอฟริกาเอง เริ่มจากทะเลทรายซาฮาราที่กว้างใหญ่ ขวางกั้นทวีปแอฟริกาเหนือและใต้เอาไว้ การเดินทางทางบกข้ามทะเลทรายซาฮาราเป็นสิ่งที่ยากมาก

หากเดินทางด้วยเรือ ไปทางชายฝั่งตะวันตก จะเจอปัญหาเรื่องทะเลไร้ลม Doldrum และกระแสนน้ำย้อนทวน Equatorial Counter Current ซึ่งปัญหานี้แก้ได้ด้วยเทคโนโลยีการเดินเรือที่ดีขึ้น (ต่อเรือ Caravel) ในอีกหลายร้อยปีถัดมา

ส่วนไปทางตะวันออก ก็ไม่มีคลองสุเอซในยุคสมัยนั้น ทำให้ไม่สามารถยกกองเรือไปได้โดยตรง และจำเป็นต้องผ่านประเทศมุสลิมแถวตะวันออกกลางที่เป็นอริกัน (สงครามครูเสด) การค้าระหว่างกันผ่านพ่อค้าคนกลางอาจพอทำได้ แต่การมีกองเรือขนาดใหญ่เพื่อทำการค้าโดยตรงหรือทำสงคราม สร้างอาณานิคม เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้

เมื่อชาวยุโรปสามารถเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปไปยังอินเดียได้แล้ว ทวีปแอฟริกายังมีอีกปัญหาหนึ่งคือ โรคระบาด โดยเฉพาะมาลาเรีย

ดังนั้น เหล่านักเดินทางชาวยุโรปที่พิชิตชายฝั่งแอฟริกาได้แล้ว จึงไม่สามารถบุกรุกเข้าไปในแผ่นดินแอฟริกาตอนกลางที่มีแต่ป่าดิบชื้นได้ง่ายนัก เพราะโดนยุงกัดแล้วป่วยตายไปซะเยอะ จากสถิติแล้วมีคนยุโรปรอดได้เพียง 10% เท่านั้นเอง

ปัญหาข้อนี้แก้ได้ด้วยเทคโนโลยีเช่นกัน นั่นคือยาควินิน (quinine) ในปี 1817

เมื่อทุกอย่างพร้อม การบุกยึดครองอาณานิคมแอฟริกา (Scramble for Africa) จึงเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นานคือประมาณปี 1880 และยึดครองทั้งแอฟริกาได้ในปี 1914

เท่ากับว่าชาวยุโรปสามารถพิชิตอุปสรรคทางกายภาพ-ชีวภาพของแอฟริกา ได้ด้วยเทคโนโลยีนั่นเอง

คนที่สนใจเรื่องภูมิศาสตร์แอฟริกา สามารถอ่านเรื่องอื่นเพิ่มได้จากซีรีส์ทวีตของ Pueyo

ชุดที่สองเรื่องศาสนาในแอฟริกา กับข้อจำกัดทางกายภาพเช่นกัน