Rahm Emanuel เป็นนักการเมืองสหรัฐที่มีประวัติน่าทึ่งมากคนหนึ่ง ถ้าให้เล่าแบบสั้นๆ เขาคือคนที่ Hilary Clinton และ Barack Obama แย่งตัวกันในการเลือกตั้งปี 2008
Rahm Emanuel เป็นคนเชื้อสายยิวทั้งฝั่งพ่อและแม่ เขาเกิดและอาศัยอยู่ที่ชิคาโก เริ่มชีวิตทางการเมืองช่วงแรกๆ โดยอยู่ในทีมหาเสียงของ Bill Clinton ตอนเลือกตั้งปี 1992 (ตอนนั้น Rahm อายุ 33) และทำเรื่องระดมทุนจนทำให้ Bill Clinton มีเงินมากพอที่จะหาเสียงได้นานกว่าคู่แข่งที่เงินหมดก่อน จนสุดท้าย Clinton ได้เป็นประธานาธิบดี
ผลงานนี้ทำให้ Rahm ได้เป็น “ที่ปรึกษาประธานาธิบดี” (Senior Advisor to the President for Policy and Strategy) นั่งทำงานในทำเนียบขาวตั้งแต่อายุยังน้อย เขาลาออกในปี 1998 แล้วไปทำงานการเงินอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนไปลงสมัคร ส.ส. รัฐอิลินอยส์ และได้เป็น ส.ส. ระหว่างปี 2002-2008
ในการเลือกตั้งปี 2008 เขาต้องเลือกระหว่าง Hilary ซึ่งเป็นภรรยาของ Bill Clinton ที่เขาทำงานด้วยมานาน กับ Barack Obama คนบ้านเดียวกัน ชิคาโกด้วยกัน จึงประกาศว่าจะไม่ยุ่งและวางตัวเป็นกลาง
เมื่อ Obama ชนะเลือกตั้งปี 2008 Rahm ได้ตำแหน่งเป็น Chief of Staff (เทียบได้กับเลขาธิการนายก) กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง แต่ก็เป็นอยู่สั้นๆ เพียงปีกว่า เพราะปี 2010 เขาประกาศลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก และเขาชนะเลือกตั้งสองสมัย ได้ทำงานนี้ระหว่างปี 2011-2019
หลัง Joe Biden ชนะเลือกตั้งปี 2020 ตัวจี๊ดฝั่งเดโมแครตอย่าง Rahm ก็ได้ทำงานระดับชาติอีกครั้ง รอบนี้เขาได้รับแต่งตั้งเป็น เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่น เริ่มงานตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 มาจนถึงปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุปคือ Rahm ทำการเมืองมาน่าจะครบทุกตำแหน่งแล้ว ทั้ง ส.ส., ท้องถิ่น, ฝ่ายบริหาร และล่าสุดคืองานต่างประเทศ แถมได้ทำงานกับประธานาธิบดีเดโมแครต 3 คนคือ Clinton, Obama, Biden คงมีคนที่ทำได้ครบถ้วนแบบเขาในระดับนับนิ้วได้เลย
สไตล์การทำงานของเขาต้องเรียกว่า “ดุดันไม่เกรงใจใคร” และถือเป็นสายเหยี่ยวคนหนึ่งในพรรคเดโมแครต
มีโอกาสฟัง Rahm Emanuel ออกรายการสัมภาษณ์กับ Kara Swisher ซึ่งเขาได้วิเคราะห์จีนไว้อย่างน่าสนใจ (อยู่ช่วงประมาณนาทีที่ 24)
Rahm บอกว่ากรอบวิเคราะห์ของเขามองจีนออกเป็น 3 วง (3 rings) ซึ่งแต่ละวงมีลักษณะแตกต่างกัน
- วงในสุด (core ring) ธีมคือ Calm คือพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามสร้าง “ความสงบ” ในประเทศ คนจีนไม่ลุกฮือประท้วง แต่ปัญหาของแนวทางนี้คือ คนรวยทยอยออกจากประเทศจีน ทุนต่างชาติไหลออก
- วงกลาง ธีมคือ Conflict จีนมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น จีน โดย Rahm บอกว่าจีนไม่มีทางได้รางวัล “ประเทศเพื่อนบ้านดีเด่น” แน่นอน
- วงนอกสุด ธีมคือ Charm คือการที่จีนพยายามใช้นโยบายการต่างประเทศ การค้า การลงทุน ไปหว่านเสน่ห์ให้ประเทศที่อยู่ไกลออกไปชื่นชอบ
ประเด็นของ Emanuel คือแต่ละวงของจีนมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน มีความตึงเครียด (tension) ระหว่างกันอยู่
ท่าทีของ Rahm นั้นวิจารณ์จีนอย่างตรงไปตรงมา จนถึงขั้นเคยมีข่าวว่า ทำเนียบขาวขอให้หยุดพูด เพราะจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
Rahm ยังพูดถึงญี่ปุ่น ว่าเปลี่ยนไปจากเดิมที่คนอเมริกันเคยรู้จักมาก ขอให้เรียกว่า New Japan และลืมภาพญี่ปุ่นที่รักสงบตั้งแต่หลังสงครามโลกไปได้เลย จุดเปลี่ยนสำคัญคือแรงกดดันจากจีน ทำให้ ญี่ปุ่นประกาศขึ้นงบประมาณการทหารจาก 1% เป็น 2% ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก