บทความนี้เป็นตอนต่อของ New Deal แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุค Franklin D. Roosevelt โดยจะว่ากันเรื่อง “หนี้” ของประเทศ
โชคดีว่าพอเป็นเรื่องของสหรัฐอเมริกา ก็ค้นข้อมูลย้อนหลังได้ง่ายหน่อย สามารถหาได้ไม่ยากว่า “หนี้ธาสารณะ” (public debt) ของสหรัฐอเมริกาในแต่ละช่วงนั้นเป็นอย่างไร
จะเห็นว่า “หนี้” ของสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งในช่วงที่ประเทศมีวิกฤต ซึ่งในที่นี้คือ สงคราม 3 ครั้ง (สงครามกลางเมือง, สงครามโลกครั้งที่ 1-2) และวิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้งคือ Great Depression กับ Financial Crisis ปี 2008
จุดสูงที่สุดของหนี้สาธารณะคือ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะจังหวะนั้นเป็นจังหวะชี้เป็นชี้ตาย เป็นหนี้เท่าไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการชนะสงครามให้ได้ แต่พอสงครามจบแล้วหนี้ก็ลดลงมา ก่อนจะกลับมาเพิ่มเยอะอีกครั้งในยุคประธานาธิบดีเรแกน และบุช (ลดภาษีและเพิ่มงบการทหาร) แล้วทะยานขึ้นฟ้าในช่วงหลังปี 2008
เนื่องจากความสนใจของเราคือช่วง Great Depression / New Deal ก็จะขอโฟกัสเฉพาะช่วงนี้ ซึ่งโชคดีเช่นกันที่ Wikipedia มีทำกราฟไว้ละเอียดแล้ว ไม่ต้องมานั่งทำเอง
จากชาร์ทนี้ ซูมเข้ามาที่ช่วงปี 1929 (ปีที่เกิด Great Depression) จนถึงปี 1950 (สิ้นสุดสงครามโลก) จะเห็นว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกามีหนี้สาธาณะอยู่ที่ราว 20% ของ GDP/GNP แต่พอ Roosevelt เข้ามารับตำแหน่งในปี 1932 (คือผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้สักพักแล้ว) สัดส่วนหนี้เพิ่มมาเป็น 40% ของ GNP ก่อนที่จะมากระโดดในช่วงสงครามโลก
ถ้าดูบริบทอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกันมาประกอบ ตัวเลข GDP ช่วงหลัง Great Depression (นับเป็น billion dollar) หดตัวอย่างชัดเจนในช่วงปี 1930
ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ อัตราคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นสูงมาก คือจาก 5% ในช่วงเวลาปกติ เพิ่มเป็น 20% ของประชากรสหรัฐในช่วงปี 1932-1933
เนื่องจากเหตุการณ์ของ Great Depression กับสงครามโลกครั้งที่สอง ค่อนข้างใกล้กัน (ซึ่งเป็นด้านกลับของกันและกัน) ทำให้เราพิจารณาผลของ New Deal ตรงๆ ได้ยาก เพราะจังหวะสงครามโลกเป็นช่วงที่อเมริกา full mobilization จ้างงานทุกภาคส่วนเพื่อ “ผลิต” สิ่งของต่างๆ สำหรับสงคราม (ทั้งที่เป็นอาวุธและไม่ใช่อาวุธ) ในช่วงหลังจากนั้นจึงมีอัตราการจ้างงานที่สูงมาก (full employment) โดยแลกกับการลงทุนภาครัฐที่สูงมาก ทำให้ GNP ของประเทศพุ่งตามไปด้วยจากการผลิตจำนวนมหาศาลนี้
แต่อย่างน้อยๆ เราก็พอเห็นภาพว่า New Deal ได้ผลในแง่การเยียวยาให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้น ลดผลกระทบจากเศรษฐกิจลง โดยต้องแลกกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น (20% -> 40%) ซึ่งก็ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับวิกฤตอื่นๆ ในยุคถัดมา
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ New Deal เป็นการทุ่มงบประมาณภาครัฐครั้งใหญ่เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ แต่ Roosevelt รวมถึงสภาคองเกรส (ที่ยุคนั้นเป็นเดโมแครต ที่เน้นเรื่องงบประมาณสมดุล) ก็ใช้เงินอย่างระมัดระวัง จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น fiscal conservatism ด้วยซ้ำ มีการตัดงบประมาณหลายๆ ส่วนรวมถึงงบด้านการทหาร เพื่อโยกมาใช้ใน New Deal ที่จำเป็นกว่าในเวลานั้น
Government Economy Act – March 20: The Act cut the pay of government and military employees by 15%. It cut government spending by 25%.4 The $1 billion saved went to finance New Deal programs. – source
นอกจากนี้ FDR ยังออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มเติมไปพร้อมกัน เช่น การอนุญาตให้เบียร์-ไวน์ขายได้อย่างถูกกฎหมาย (อเมริกาเคยมีช่วงที่ห้ามขายเหล้าอยู่พักหนึ่งที่เรียกว่า Prohibition ซึ่งทำให้เกิดเหล้าเถื่อน) เพื่อให้รัฐสามารถเก็บภาษีเข้ามาเป็นงบประมาณได้
Beer-Wine Revenue Act – March 22: It legalized the sale of beer and wine and taxed alcohol sales, raising federal revenue. The Beer-Wine Revenue Act was followed by the passage of the 21st Amendment, which effectively ended Prohibition.
มาเขียนเรื่องหนี้สาธารณะในตอนนี้อาจช้าไปสักนิด เพราะรัฐบาลไทยก็ประกาศ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไปเรียบร้อยแล้ว คงไม่มีใครตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อแก้วิกฤตอีกแล้ว ประเด็นสำคัญคงอยู่ที่ว่ากู้มาแล้วจะใช้เงินอย่างไร ถึงจะคุ้มค่าและตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า
หมายเหตุ: เรื่องสนุกๆ ที่พบระหว่างการค้นคว้าข้อมูลมาเขียนบทความนี้คือ ตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐอเมริกาก็กู้เงินประชาชนโดยออกขายพันธบัตร ที่ชื่อเท่มากคือ Liberty Bond แถมยังมีโปสเตอร์เท่ๆ มากมาย ดูกันเองได้ตามลิงก์