in Books

Prisoners of Geography

หนังสือด้านภูมิรัฐศาสตร์ชื่อดังของ Tim Marshall เขียนในปี 2015 แล้วสำนักพิมพ์ Bookscape นำมาแปลภาษาไทย ขายในงานสัปดาห์หนังสือรอบต้นปี 2024 และติดชาร์ทยอดนิยมของสำนักพิมพ์เป็นอันดับหนึ่งด้วย (คนสนใจเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นมากจริงๆ ในช่วงหลัง)

Tim Marshall เล่าเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคต่างๆ จำนวน 10 ภูมิภาค แบ่งเป็น 10 บท แต่ละบทไม่มีเนื้อหาต่อเนื่องกันนัก ดังนั้นจะอ่านบทไหนก่อนก็ได้ตามชอบ

  1. รัสเซีย
  2. จีน
  3. สหรัฐอเมริกา
  4. ยุโรปตะวันตก
  5. แอฟริกา
  6. ตะวันออกกลาง
  7. อินเดียและปากีสถาน
  8. เกาหลีและญี่ปุ่น
  9. ลาตินอเมริกา
  10. อาร์กติก

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ดังมากมาตั้งแต่เวอร์ชันต้นฉบับภาษาอังกฤษแล้ว ก่อนอ่านเลยคาดหวังค่อนข้างสูง แต่อ่านแล้วก็ผิดหวังเล็กน้อย (เราอาจหวังมากไปเอง 555) เพราะหนังสือเน้นเล่าเรื่องสำหรับคนที่ไม่ได้อ่านเรื่องภูมิรัฐศาสตร์มาก่อน หากพอมีความรู้ด้านนี้มาบ้าง ก็จะรู้สึกว่าหลายเรื่องเป็นสิ่งที่รู้แล้ว หรือผู้เขียนยังเล่าลงลึกไม่ได้มากพอ (เหมือนอ่าน literature review ฉบับยาวๆ หน่อย)

ข้อเสียอีกประการของหนังสือเล่มนี้คือ “แผนที่” ครับ หนังสือโปรยไว้ตั้งแต่หน้าปก เป็นชื่อรองของหนังสือเลยว่า Ten Maps That Explain Everything About the World แต่เมื่อต้องมาใช้อธิบายจริงๆ การมีแต่แผนที่ภาพใหญ่ของภูมิภาคนั้นๆ ตอนต้นบทอย่างเดียว มันไม่ละเอียดมากพอ เพราะภูมิรัฐศาสตร์ต้องลงรายละเอียดเป็นจุดๆ ว่าตรงไหนมีปัญหาอย่างไร แล้วค่อยๆ อธิบายกันไป แต่เมื่อผู้เขียนใช้วิธีแปะแผนที่ไว้ด้านหน้าสุดของบท แล้วจากนั้นจัดหนัก text ล้วนๆ อธิบายต่อกันไปเรื่อยๆ มันไม่เห็นภาพเท่ากับการมีแผนที่มาขยายความเพิ่มเติม ในช่วงที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาตรงนั้น

หนังสือมีแทรกแผนที่เฉพาะจุดบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นบทที่ผมมองว่าอธิบายได้ละเอียดดี ที่ชอบเป็นพิเศษคือการอธิบายเรื่องตะวันออกกลาง และอินเดีย-ปากีสถาน ซึ่งก็น่าเสียดายว่าดันขยายความไว้ไม่เยอะอย่างที่ควรจะเป็น หากเทียบกับเล่มอื่นที่เคยอ่านแล้ว เล่ม Origins มีกระบวนการอธิบายแนวคิดทางภูมิศาสตร์ที่ทรงพลังกว่ามาก

ในอีกทางคือ การที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2015 แล้วเรามีโอกาสได้อ่านในปี 2024 ทำให้ข้อมูลหลายเรื่องไม่อัพเดตแล้ว เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ตอนอ่านจึงรู้สึกว่าข้อมูลมันเก่าไป (ในอีกทางก็คือผู้เขียนค่อนข้างแม่นจริงๆ ในการพยากรณ์และอธิบายเหตุผลของความขัดแย้ง)

ถัดจากเล่ม Prisoners แล้ว ผู้เขียนยังมีภาคต่อมาอีก 2 เล่มคือ The Power of Geography (2021) ที่เจาะลึกบางภูมิภาคหรือบางประเทศมากขึ้น และ The Future of Geography (2023) ที่พูดเรื่องอวกาศ

สิ่งที่ต้องชมคงเป็นผู้แปล คุณคุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ ที่แปลและถอดความเป็นภาษาไทยออกมาได้อย่างลื่นไหล และคุณภาพงานพิมพ์ งานออกแบบ ตามมาตรฐาน Bookscape ที่ไม่ทำให้ผิดหวัง