in Politics

Post-Bhumibol Consensus

หลังจากม็อบคนรุ่นใหม่เริ่มกลายเป็นวาระแห่งชาติ ผมก็พยายามหาคำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ แต่ก็ไม่ค่อยเจอคำอธิบายที่โดนใจสักเท่าไรนัก จนกระทั่งได้มาอ่านบทสัมภาษณ์ อ.เกษียร เตชะพีระ ใน 101 ล่าสุด

นอกจากการเป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ที่โดดเด่นแล้ว อ.เกษียร ยังเป็นเจ้าของคำอธิบาย “ฉันทามติภูมิพล” (The Bhumibol Consensus) ที่ผมคิดว่าเป็นการสรุปการเมืองไทยในยุค ร.9 (หลังปี 2516) ได้อย่างเห็นภาพ (บทความเรื่อง The Bhumibol Consensus)

กล่าวโดยสรุปคือ “ฉันทามติภูมิพล” แบ่งออกเป็น 4 ด้าน

  1. ด้านเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุล โดยถ่วงทานไว้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  2. ด้านการเมือง : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  3. ด้านอุดมการณ์ : ราชาชาตินิยมหรืออุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ
  4. ด้านศาสนา : พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นในปี 2563 ถ้าใช้การอธิบายแบบเกษียร จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น Post-Bhumibol Consensus นั่นเอง

แกนหลักที่สุดในกรอบการมองของเกษียรจากบทความนี้ คือ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แบ่งเป็น 3 เลเยอร์

  • การเมืองในระบบเป็น ‘ปฏิกิริยา’
  • การเมืองภาคประชาชนเป็น ‘ปฏิรูป’
  • การเมืองวัฒนธรรมเป็น ‘ปฏิวัติ’

สิ่งที่น่าสนใจคือ การเมืองทั้ง 3 พื้นที่ใช้กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน

มันมีปัญหาเพราะการเมืองสามแบบนี้มีตรรกะกฎเกณฑ์คนละอย่าง การเมืองในระบบโดยเฉพาะในสภาคือศิลปะของความเป็นไปได้ (the art of the possible) การสร้างเสียงข้างมากขึ้นมาแม้กระทั่งจากฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่ง ส.ว. และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณต้องการ เกมการเมืองในสภาคือการสร้างพันธมิตรทางการเมืองและการสร้างเสียงข้างมาก ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร

ส่วนการเมืองภาคประชาชนมีจุดสำคัญคือการรวมคนให้ได้มากที่สุดและเหลือคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามน้อยที่สุด ต้องมีเป้าที่ชัดเจน เป็นเส้นค่อนข้างชัดเจนในเชิงอุดมการณ์ ต่างจากในสภาที่มีชักเท้าเข้า-ออก เปลี่ยนแนวร่วมไปเรื่อยๆ

ขณะที่การเมืองวัฒนธรรม ศัตรูมันอยู่ข้างในคุณ คือความคิดของคุณเอง เรื่องวัฒนธรรมอุดมการณ์แทรกซึมอยู่ในวิธีคิด ในสถาบันสังคม และอยู่ในหัวคุณด้วย

ตอนนี้การเมืองในระบบเป็นปฏิกิริยา การเมืองภาคประชาชนเป็นปฏิรูป การเมืองวัฒนธรรมเป็นปฏิวัติ จังหวะก้าวไม่ไปพร้อมกัน มันขัดแย้งกัน

การสร้างสมดุลใหม่ในยุค Post-Bhumibol Consensus จึงเป็นการซิงก์จังหวะของ 3 เลเยอร์นี้เข้าด้วยกัน คำถามคือซิงก์กันอย่างไร

ในบทสัมภาษณ์ล่าสุดของเกษียร ได้ประเมินสถานการณ์ในยุค Post-Bhumibol Consensus ด้วยกรอบ 4 ด้านข้างต้นใหม่

  1. ด้านเศรษฐกิจ : ทุนนิยมเหลื่อมล้ำ หรือ ‘ทุนนิยมแบบช่วงชั้น’ (hierarchy capitalism) ที่ทุนใหญ่กินก่อนแล้วมาแบ่งให้ทุนเล็กกินทีหลัง (โครงการประชารัฐ)
  2. ด้านการเมือง : เดิมคือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่ตอนนี้สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยกำลังออกห่างจากกัน
  3. ด้านอุดมการณ์ : “ราชา” กับ “ชาตินิยม” ไม่เป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว เพราะพระมหากษัตริย์เริ่มอยู่ต่างประเทศมากกว่า
  4. ด้านศาสนา : เกษียรบอกยังคิดไม่ออก (ฮา)

โครงสร้างข้างต้นนี้ยังไม่เสถียร และกำลังมุ่งไปสู่นิยามใหม่ เกษียรเสนอว่า

แต่อย่างน้อยจะต้องปรับดุลสามด้าน ซึ่งในตอนนี้เสียดุล คือระหว่าง ‘สถาบันกษัตริย์-ประชาธิปไตย’ ‘รัฐ-สังคม’ และ ‘ชนชั้นนำ-ประชาชน’ ตอนนี้มันเบ้ทางสถาบันกษัตริย์ รัฐ ชนชั้นนำมากเกินไป ต้องเอียงไปทางประชาธิปไตย สังคม ประชาชนมากขึ้น แต่จะแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องการต่อสู้นับจากนี้