ภาพประกอบจาก Google, เนื้อหาปรับเพิ่มเติมจากโพสต์ในทวิตเตอร์
สัปดาห์นี้มีประเด็น #ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิสัส ที่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาลุกขึ้นมาประท้วงเรื่องการเรียนออนไลน์ในหลายประเด็น
ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลวมีด้วยกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องข้อกำหนดของ ก.ศึกษาธิการ, ความเครียดในการเรียนออนไลน์ ฯลฯ
แต่ที่อยากเขียนถึงคือประเด็นเรื่องการเข้าถึง (access) การเรียนออนไลน์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมสนใจและติดตามมาตลอด มีความรู้มากพอที่สามารถวิจารณ์และเสนอทางออกได้
Access to Internet
ปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (เพื่อไปเรียนออนไลน์อีกที) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว
ทฤษฎีของวงการนี้คือ พยายามนำคนให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้มากที่สุด เพราะบนอินเทอร์เน็ตมี “โอกาส” (opportunity) มากมาย ในการเข้าถึงสื่อความรู้ สื่อบันเทิง การสื่อสารต่างๆ ในราคาที่ถูกมาก คือค่า content แทบจะฟรี (ทั้งนี้ เราจะไม่สนใจว่าเข้าเน็ตได้แล้วไปทำอะไรต่อบ้าง เพราะถือว่า subjective ตามผู้ใช้แต่ละคน)
ปัญหาคือคนเข้าไม่ถึงเน็ตด้วยหลายปัจจัย เช่น ขาดอุปกรณ์ (device) ขาดการเชื่อมต่อ (connectivity) และขาดความรู้หรือความเชี่ยวชาญ (literacy) ในที่นี้จะพูดถึงการขาดอุปกรณ์และการเชื่อมต่อเป็นหลัก
- ปัญหาขาดอุปกรณ์ (device) คนยุคนี้ตระหนักถึงความจำเป็นของการมีอุปกรณ์ใช้งานแล้ว ปัจจัยหลักมาจากเรื่องราคา (price) ที่ยังเข้าไม่ถึง เรียกได้ว่า โดยส่วนใหญ่ ถ้ามีเงินพอ ก็ซื้อให้ลูกหลานใช้งานกันแหละ
- ปัญหาขาดการเชื่อมต่อ (connectivity) มีด้วยกันสองปัจจัยย่อยคือ ความครอบคลุมของสัญญาณ (coverage) และราคา (price) ยกตัวอย่างคือ บางคนอาจมีเงินจ่ายค่าเน็ต แต่แถวบ้านไม่มีสัญญาณเน็ต หรือกลับกันคือ มีสัญญาณเน็ต แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าเน็ต
ขอเริ่มที่ปัญหาเรื่องเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ก่อน คำว่าอุปกรณ์ (device) ในที่นี้หมายถึง ฮาร์ดแวร์อะไรก็ได้ที่ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ก็ตาม
ประเด็นเรื่องอุปกรณ์ไอทีมีราคาแพง จนคนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึง (และพลอยขาดโอกาสในชีวิตไปหลายเรื่อง) เป็นเรื่องที่พูดกันมานานมากแล้ว และมีหลายโครงการพยายามแก้ไขปัญหานี้
OLPC
โครงการแรกๆ ที่ดังระดับโลกคือ แล็ปท็อปร้อยเหรียญ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ One Laptop per Child (OLPC) ที่ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัย MIT ช่วงปี 2005 และรัฐบาลทักษิณในยุคนั้น ก็เข้าร่วมโครงการด้วย (แต่ไม่สำเร็จเพราะถูกรัฐประหารก่อนในปี 2006)
แนวคิดของ OLPC คือโน้ตบุ๊ก (ในยุคนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟนนะ) มีราคาแพงคือประมาณ 3 หมื่นบาท (1,000 ดอลลาร์) ขึ้นไป โครงการจึงพยายามออกแบบโน้ตบุ๊กที่มีราคาถูกมากๆ (ตั้งเป้าไว้ 100 ดอลลาร์) และใช้งานในพื้นที่ห่างไกลมากๆ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเน็ตได้ด้วย
เมื่อประมาณ 15-16 ปีที่แล้ว วงการไอทียังไม่พัฒนาเท่าสมัยนี้ ทำให้ OLPC ต้องคิดใหญ่มากๆ เพราะต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาเองทั้งหมด ตั้งแต่ออกแบบฮาร์ดแวร์ให้ทนทานมากๆ (มีที่ปั่นไฟในตัว) เขียน OS (เพราะต้องการกดต้นทุนให้ถูกที่สุด) เขียนระบบสื่อสารแบบ mesh ส่งต่อเครื่องต่อเครื่อง (เพราะเน็ตสมัยนั้นยังเพิ่งเริ่มมี Wi-Fi)
ส่วนประเด็นเรื่องราคาของ OLPC ใช้วิธีเลือกชิ้นส่วนในราคาถูก (ผลคือประสิทธิภาพแย่ จอขาวดำ) แล้วเจรจากับรัฐบาลในบางประเทศเพื่อการันตีการซื้อระดับล้านเครื่อง (จ้างผลิตแล้วกดต้นทุนลงได้)
ผลคือสุดท้าย OLPC ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ฝัน ผมมองว่าปัญหามันใหญ่เกินไป (problem is too big) โครงการจึงไม่ได้เป็นแค่การสร้างฮาร์ดแวร์ แต่เป็นการสร้าง ecosystem ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งยากมาก
กลายเป็นว่าเราได้อุปกรณ์แปลกๆ ที่ไม่มีใครเคยใช้มาก่อน ใช้ OS แปลกๆ เฉพาะตัว (เป็นลินุกซ์เวอร์ชันคัสตอม) เด็กใช้ไม่เป็น ครูใช้ไม่เป็น ช่างก็ซ่อมไม่เป็น อีกทั้งกระบวนการจัดหาทั้งหมดต้องไปพึ่งพาภาครัฐ (ในประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่มีประสิทธิภาพซะด้วย) สุดท้ายโครงการก็ล้มเหลว
OTPC
หลังจากยุค OLPC มา โลกเราก็มีสิ่งที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน (2007) แอนดรอยด์ (2008) แท็บเล็ต (2010) และเครือข่าย 4G ทำให้ทางออกของปัญหา “อุปกรณ์ราคาแพง” เปลี่ยนไป เพราะสามารถใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีในท้องตลาด (commodity hardware/OS) แทนฮาร์ดแวร์สั่งทำพิเศษแบบ OLPC ได้
เวฟถัดมาคือ การบูมของสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตแบรนด์จีน ทำให้ราคาของอุปกรณ์เหล่านี้ถูกลงมาก จากเดิมเราซื้อสมาร์ทโฟนในราคาประมาณ 2 หมื่นบาท ก็ลดลงมาเหลือหลักต่ำหมื่น หรือต่ำกว่า 5 พันในเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
ฝั่งซอฟต์แวร์ก็ไม่ต้องลงทุนสร้างใหม่ เพราะกูเกิลทำแอนดรอยด์มาให้ใช้ มีแอพต่างๆ เพียบพร้อมแล้ว (จากการผลักดันของกลไกตลาด) ที่สำคัญคือผู้ใช้ก็ใช้เป็นกันแล้ว กลายเป็นความรู้รวมหมู่ หากซื้อมือถือแอนดรอยด์มาแล้วใช้ไม่เป็น มันจะต้องมีคนรอบตัวเราที่ใช้เป็นและมาสอนใช้งานได้
ในช่วงปี 2555 (2012) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในตอนนั้น จึงปลุกไอเดีย OLPC กลับมาใหม่ เปลี่ยนเป็นโครงการแจกแท็บเล็ต One Tablet Per Child (OTPC) แทน (ข่าว) โดยสามารถกดราคาแท็บเล็ตลงมาได้เหลือเพียงเครื่องละ 82 ดอลลาร์
แต่ถึงแม้ OTPC แก้จุดอ่อนเรื่อง “ฮาร์ดแวร์เฉพาะกิจ” ของ OLPC ไปแล้ว ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกแก้ไขอยู่ดี เช่น
- การจัดซื้อ ยังใช้วิธีการสั่งผลิตแบบล็อตใหญ่ๆ จากโรงงานในจีน ทำให้กลายเป็นเครื่องแบรนด์เฉพาะกิจ ที่ไม่มีบริการหลังขาย ศูนย์ซ่อม ฯลฯ คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง (สุดท้ายบริษัทปิดตัวหนี ยอมเสียเงินค้ำประกัน) อีกทั้งสเปกก็สับสน ไม่มีกลไกตลาดคอยกำหนดว่าผู้บริโภคต้องการของแบบไหน
- ตัว OS เป็นแอนดรอยด์จริง แต่กลไกของโครงการไปสนใจแต่ฮาร์ดแวร์มากเกินไป ไม่ได้พัฒนาเรื่องสื่อการสอนไปพร้อมกัน ซอฟต์แวร์เพื่อการเรียนจึงไม่พร้อมอย่างมาก
- โครงข่ายอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนยุคนั้น (2012) ก็ยังไม่พร้อมเท่ายุคนี้ เพราะ 4G ยังเพิ่งเริ่ม มีราคาแพง ต้องพึ่งพาการติดตั้ง Wi-Fi
สุดท้ายเมื่อโครงการไม่เวิร์ค แล้วเจอกับเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ทำให้โครงการถูก คสช. สั่งยกเลิกไป (สรุปคือแจกของเด็กนักเรียนทีไร เจอรัฐประหารทุกทีสินะ 😂)
ข้อเสนอเรื่องอุปกรณ์เพื่อเรียนออนไลน์
หลังจากนั้น ไอเดียการแจกโน้ตบุ๊ก-แท็บเล็ตให้เด็กๆ ก็หายไป ความจำเป็นก็หมดไป จนกระทั่งเรามาเจอ COVID ที่บีบให้เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้านแทน ทำให้เราเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีกลับมาเด่นชัดอีกครั้ง (ปัญหามีอยู่แล้ว แต่สมัยก่อนเห็นไม่ชัดเพราะเด็กไปโรงเรียน พอเด็กไปโรงเรียนไม่ได้ มันเลยเด่นชัดขึ้นมากๆ)
ผมคิดว่าแนวคิดของโครงการข้างต้นทั้ง OLPC และ OTPC เป็นการตีโจทย์ที่ถูกต้อง (ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอุปกรณ์) แต่ด้วยโซลูชันที่ยังไม่ถูกต้อง (ส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับความพร้อมของยุคสมัยด้วย)
ถ้าให้ลองเสนอโซลูชันในบริบทของปี 2021 โดยนำบทเรียนจาก OLPC / OTPC มาแก้ไขข้อบกพร่องไม่ให้ซ้ำรอยเดิม คิดว่าสิ่งที่ต้องทำคือ
- ใช้ฮาร์ดแวร์ที่ผ่านกลไกตลาด ยกเลิกการจัดซื้อแบบบิ๊กล็อตโดยรัฐบาล เพราะอาจได้ฮาร์ดแวร์ที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ทั่วไป รวมถึงเรื่องการควบคุมคุณภาพ การคอร์รัปชั่น (มาถึงปี 2021 แล้วเราต้องยอมรับว่า ผู้ใช้ซึ่งในที่นี้คือนักเรียน ก็อยากได้ของที่ขายในตลาดนั่นแหละ แค่มีเงินไม่พอเท่านั้นเอง)
- ใช้ซอฟต์แวร์ตามความต้องการของตลาด ความจำเป็นเรื่องซอฟต์แวร์เฉพาะก็น้อยลงมากแล้ว ในยุค OTPC เราซื้อแท็บเล็ตราคาถูกมาเรียนสื่อการสอน (CIA) ที่ติดตั้งในเครื่อง เหมือนนำโปรแกรมยุค Flash มาแปลงลงแท็บเล็ต ทำให้มีปัญหาเรื่องสื่อการสอนไม่พร้อม แต่ในปี 2021 ครูทั่วไทยเคยสอนออนไลน์แบบเรียลไทม์ผ่าน Zoom/Teams/Meet (ซึ่งทั้งหมดให้ใช้ฟรี ไม่ต้องซื้อ) กันมาเกือบหมดแล้ว มีประสบการณ์การสอนในระดับหนึ่ง ดังนั้นเราปล่อยให้เรื่องสื่อการสอนเป็นงานของครูผู้สอน (หรือโครงการสนับสนุนครูผู้สอนอื่นๆ) ไม่ต้องไปกำหนดตรงนี้
ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำ มีเพียงการอุดหนุน “เงิน” ให้นักเรียนสามารถไปซื้ออุปกรณ์มาเพื่อเรียนออนไลน์เท่านั้นเอง เรื่องวิธีการใช้งาน ผมเชื่อว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่เรียนรู้กันเองได้ (ส่วนเรื่องสื่อการสอน วิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ เป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหานึง ที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้)
คำถามคือ เราควรซื้ออุปกรณ์อะไร ที่ราคาเท่าไรดี
เท่าที่ลองหาข้อมูลแบบคร่าวๆ ของสินค้าในตลาด
- แท็บเล็ตแอนดรอยด์ที่ราคาถูกที่สุด อยู่ราว 4-5 พันบาท
- โน้ตบุ๊กวินโดวส์ที่ราคาถูกที่สุด อยู่ราว 1 หมื่นบาท
ตรงนี้ขึ้นกับการออกแบบนโยบายว่า เราควรใช้อุปกรณ์แบบไหนกันแน่ รูปแบบอาจเป็นว่า นักเรียนชั้นโตหน่อย (เช่น มัธยม) สมควรได้โน้ตบุ๊กเพื่อให้ทำอะไรได้มากกว่าแท็บเล็ตหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่คงต้องไปคุยกันในรายละเอียด
แต่เพื่อความสะดวก ขอใช้ข้อสันนิษฐานว่า การใช้แท็บเล็ตน่าจะเพียงพอสำหรับความต้องการของคนส่วนใหญ่ โดยตั้งราคาไว้แบบง่ายๆ ที่ 5,000 บาทถ้วนแล้วกัน
คำถามถัดมา ควรแจกใครบ้าง ใช้งบเท่าไร
นโยบายเรื่องการแจกของลักษณะนี้ (ที่เรียกว่าประชานิยม 😏) มีข้อถกเถียงอยู่เสมอ ระหว่างความยุติธรรมว่าใครควรได้รับแจกบ้าง (ควรเจาะเฉพาะกลุ่มหรือถ้วนหน้า) ซึ่งสวนทางกับกรอบงบประมาณ (ยิ่งแจกเยอะยิ่งเปลืองเงิน)
โดยส่วนตัวแล้วอยากให้เป็นการแจกถ้วนหน้า (universal) ถ้าเป็นไปได้ในทางงบประมาณ และหากดูแนวทางล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการ ที่แจกเงินเยียวยาให้นักเรียน นักศึกษาทุกคน 2,000 บาท (ข่าวจากประชาชาติธุรกิจ) จำนวนนักเรียนที่ได้รับเงินเยียวยามีทั้งหมด 10.8 ล้านคน เราก็ควรต้องใช้ตัวเลขเดียวกันนี้ได้ด้วย
หากคำนวณงบประมาณที่ใช้ จะอยู่ที่ 54,000 ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าอยู่ในวิสัยที่รัฐไทยสามารถจ่ายได้ เพราะถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นต่อนักเรียนยุคนี้ และเป็นความจำเป็นที่ค่อนข้างเร่งด่วนด้วย
คำถามสุดท้ายคือ แจกอย่างไร
จากเหตุผลข้างต้น เราตระหนักแล้วว่าการจัดซื้อโดยรัฐไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ดังนั้นวิธีการควรเป็นรัฐอุดหนุนเงินให้นักเรียนไปหาซื้ออุปกรณ์ในตลาดกันเอง
วิธีการอุดหนุนเงินก็มี 2 แนวทาง ตั้งแต่จ่ายเป็นเงินสดไปเลย (เหมือนเคสแจกเงิน 2 พันบาทที่กล่าวไป) ซึ่งข้อดีคือง่ายและสะดวก ข้อเสียคือผู้รับเงินอาจนำเงินไปใช้อย่างอื่นได้ (ตรงนี้ขึ้นกับมุมมองอีกเหมือนกันว่า เราควรมองเด็กเป็นผู้มีความรับผิดชอบแค่ไหน ถ้ามองว่าคิดเองได้แล้ว เขาจะเอาเงิน 5 พันไปทำอย่างอื่น แล้วไม่มีเครื่องใช้เรียน ก็ไม่น่าจะเป็นไรมาก รับผิดชอบตัวเองกันเอง — ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างชอบวิธีนี้มากกว่า แต่ก็เข้าใจว่าอาจมีปัญหาอื่นๆ เช่น ผู้ปกครองมาแย่งเงินเด็กตรงนี้ไปแทนได้)
อีกวิธีหนึ่งคือจ่ายเป็น voucher ที่นำไปจ่ายได้เฉพาะร้านค้าหรือสินค้าที่รัฐไปทำข้อตกลงไว้ (คล้ายๆ กับเช็คช่วยชาติในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์) ตัวอย่างคือ voucher นี้จะสามารถจ่ายได้เฉพาะร้านค้าขายสินค้าไอทีที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ซึ่งรัฐจะ redeem เงินคืนให้ร้านในภายหลัง
ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม การอุดหนุนเป็นเงินยังจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความต้องการของนักเรียนแต่ละคนที่แตกต่างกันด้วย (ไม่ต้องใช้แท็บเล็ต OTPC แบบเหมาล็อต) เช่น นักเรียนที่มีฐานะหน่อย อาจจ่ายเงินส่วนต่างเพิ่มไปซื้อแท็บเล็ตรุ่นที่แพงขึ้น (เช่น แท็บเล็ต 10,000 บาท รัฐอุดหนุนให้ 5,000) หรือนักเรียนที่มีอุปกรณ์พร้อมอยู่แล้ว ก็ควรให้เอาเงินอุดหนุนนี้ไปทำอย่างอื่นได้ (เช่น ซื้อโน้ตบุ๊กเพิ่มโดยจ่ายส่วนต่างเอง หรือ ซื้ออุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ในหมวดข้างเคียงกันได้)
Connectivity
หมดประเด็นเรื่องตัวอุปกรณ์แล้ว อยากแตะเรื่องการเชื่อมต่อเน็ต (connectivity) ด้วยสักหน่อย
สถานการณ์ของตลาดโทรคมนาคมปี 2021 ก็เปลี่ยนไปจากปี 2006 หรือ 2012 มากแล้ว ตอนนี้เรามีเครือข่ายมือถือ 4G ที่ค่อนข้างครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่แล้ว
ปัญหาการเชื่อมต่อในเขตเมือง จึงอยู่ที่ราคา (price) ไม่ใช่ความครอบคลุมของเครือข่าย (coverage)
ตรงนี้เรามีกลไกเรื่องเงินส่วนแบ่งรายได้ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม (เปรียบเสมือน telecom tax) ที่เข้า กสทช. ไปเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว และปัจจุบัน กสทช. ได้จับมือกับค่ายมือถือ ออกซิมเรียนออนไลน์ราคา 79 บาท/เดือน ใช้ได้นาน 2 เดือนออกมาอยู่แล้ว
ผมคิดว่าแนวทางนี้ถูกต้องแล้ว แต่ต้องทำต่อและขยายผลให้มากกว่าเดิม เช่น ขยายระยะเวลาไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2564 หรือจนถึงจุดที่กลับมาเรียนแบบออฟไลน์ได้ รวมถึงอาจต้องไปไกลถึงการอุดหนุนซิมฟรี (ไม่ใช่แค่ 79 บาท) สำหรับเด็กที่ไม่มีเงินจริงๆ ด้วย
ส่วนนักเรียนที่อยู่ในเขตนอกพื้นที่ coverage จะเป็นปัญหาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. มีภารกิจด้านการให้บริการอย่างทั่วถึง USO (Universal Service Obligation) อยู่แล้ว ส่วนการให้บริการจะทำได้ดีแค่ไหนก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (ซึ่งก็มีข้อวิจารณ์ตรงนี้เยอะ)
ตรงนี้เป็นสิ่งที่ซับซ้อน เพราะความต้องการของแต่ละพื้นที่ต่างกัน บางพื้นที่อาจไม่ยากในแง่เทคนิค (ผู้ประกอบการทำได้ แต่ไม่มีแรงจูงใจให้ทำเพราะไม่คุ้ม รัฐต้องเข้าไปอุดหนุนเงิน) ในขณะที่บางพื้นที่อาจเป็นเรื่องเทคนิคจริงๆ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบอื่นๆ (เช่น ดาวเทียม ซึ่งอาจต้องมองไปไกลแบบ Starlink หรือจะเป็นการใช้โดรน-บอลลูนแบบที่ Facebook/Google ทำก็ได้) ตรงนี้คงไม่ขอลงรายละเอียดมากนัก เพราะถือเป็นปัญหาเชิงลึกในอีกประเด็นหนึ่ง
กล่าวโดยสรุปคือ เรื่อง connectivity สาธารณูปโภคเมืองไทยค่อนข้างพร้อมมาก มีหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจด้านนี้พร้อมอยู่แล้ว ขาดแต่การจัดการที่ดีเท่านั้น