in Business, Games, Technology

Phil Spencer

ถ้าถามว่าผู้บริหารบริษัทไอทีคนไหนที่ประทับใจที่สุดในปี 2020 คำตอบแบบทิ้งขาดเลยคือ Phil Spencer หัวหน้าทีม Xbox

ผลงานของ Phil Spencer ในปี 2020 โดดเด่นมาก ตั้งแต่การเปิดตัว Xbox Series X|S, การผลักดันยุทธศาสตร์ Game Pass, การออกบริการ xCloud และที่เด่นที่สุดย่อมหนีไม่พ้นการซื้อ ZeniMax/Bethesda

แต่การจะบอกว่าจู่ๆ Phil Spencer เด่นขึ้นมาในปี 2020 อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะเขา “ค่อยๆ” ไต่ระดับความสำเร็จขึ้นมาให้เห็นตั้งแต่ช่วงราวๆ ปี 2018 แล้ว

และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นของ Spencer ในฐานะหัวหน้าทีม Xbox นั้นมาจาก “ติดลบ” จากมรดกบาปของหัวหน้าทีมคนก่อน Don Mattrick ทำไว้ในปี 2013 คือ Xbox One ที่วางยุทธศาสตร์ไว้ผิดพลาด แล้ว Don ลาออกไปกลางทาง ทำให้ทีมของ Spencer ที่เหลืออยู่ต้องมารับช่วงต่อ

รายละเอียดฉบับเต็มอยู่ในบทความของ Shack News ใครสนใจแนะนำให้อ่านเลย

Spencer ในปี 2013 ต้องช่วยเข็น Xbox One ออกขายให้ได้ ผลคือขายสำเร็จ แต่ยอดขายก็สู้ PS4 ไม่ได้เลย แถมตอนนั้นไมโครซอฟท์เองก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะ Steve Ballmer ประกาศลงจากตำแหน่ง และยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นซีอีโอคนใหม่

ปี 2014 ช่วงต้นปี Satya Nadella เข้ามาเป็นซีอีโอคนใหม่ และเชื่อในตัว Spencer (ทั้งคู่เป็นลูกหม้อไมโครซอฟท์เหมือนกัน) จึงให้โอกาสเขาผลักดัน Xbox ต่อในฐานะ “หัวหน้าทีม” คนใหม่ (รายละเอียดอยู่ในบทความ Shacknews)

ปี 2014 เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 เรื่องภายใต้ Spencer

  • ออก Xbox One เวอร์ชันไร้ Kinect เพื่อให้ทำราคามาสู้กับ PS4 ได้
  • ซื้อสตูดิโอ Mojang ผู้สร้าง Minecraft ซึ่งเป็นจังหวะโชคดีด้วยส่วนหนึ่ง (เพราะ Markus Persson ผู้ก่อตั้งอยากขายเอง ไมโครซอฟท์เลยเสนอตัวไปซื้อ) แต่ประสบการณ์ซื้อ Mojang ในตอนนั้น ทำให้ Spencer กล้าแกร่งไปซื้อสตูอื่นๆ ในภายหลังได้อีกมาก

ช่วงปี 2015-2016 Spencer ดูยังใช้เวลาไปกับการจัดทัพใหม่ จึงไม่มีผลงานออกมามากนัก

ปี 2016 ออก Xbox One S รุ่นรีเฟรชกลาง cycle

ปี 2017 ออก Xbox One X รุ่นพลังแรงสูง ที่ทำให้ไมโครซอฟท์ครองแชมป์ “คอนโซลแรงที่สุด” แรงกว่า PS4 Pro แต่เมื่อเรื่องเกมยังเป็นรอง ยอดขายก็ยังแย่

ปี 2017 มีอีกเหตุการณ์สำคัญคือการออก Xbox Game Pass ที่เป็นบริการเกมเหมาจ่าย (subscription) ซึ่งจะช่วยเรื่องซอฟต์แวร์ที่ยังเป็นรอง เพราะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปจากการซื้อขาดแบบเดิม

ปี 2018 Spencer ปล่อยของโดยการซื้อสตูดิโอชุดใหญ่ 6 แห่ง ตั้งใหม่อีก 1 แห่ง และเปิดบริการคลาวด์เกมมิ่ง xCloud

ปี 2019 ซื้อสตูดิโอเพิ่มอีก 1 และตั้งใหม่อีก 1 แห่ง

ปี 2020 แผนการทั้งหมดขมวดรวมกันเป็นเนื้อเดียว ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2017 เป็นต้นมาเริ่มออกดอกออกผล ทั้ง Xbox Game Pass, xCloud, การซื้อสตูดิโอเพิ่มเติม และมาจบที่การวางขายคอนโซลตัวใหม่ Xbox Series X และ S ซึ่งทีมของ Spencer มีส่วนออกแบบมาตั้งแต่แรก (ไม่เหมือน Xbox One ที่รับช่วงต่อมา)

ปี 2020 จึงเป็นเหมือนการ “ปลดแอก” จากภาระ Xbox One ที่รับช่วงต่อมา 7 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ใหม่ Xbox ที่ Spencer มีบทบาทอย่างชัดเจน

https://twitter.com/Xbox/status/1304540226057121794

ถ้าให้วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของ Spencer ผมคิดว่ามีอยู่ 3 เรื่อง

เรื่องแรกคือ Spencer เป็นคนรักเกมจริงๆ เขาให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เอาจริงๆ แล้วเขาอยากขังตัวเองอยู่ห้องใต้ดินเพื่อนั่งเล่มเกมอย่างเดียว ไม่อยากมาทำงานบริหารด้วยซ้ำ (เกมเมอร์ตัวจริง) แต่เมื่อต้องมาทำงานบริหาร ความรักต่อวงการเกมในตัวเขาจึงสะท้อนออกมาที่ความเข้าออกเข้าใจ ว่าเกมเมอร์คนอื่นๆ ต้องการอะไร

เรื่องที่สองคือ Spencer โชคดีที่ได้บอสอย่าง Nadella ซึ่งมีความเข้าอกเข้าใจ (empathy) คนอื่นอย่างมาก ผมก็ไม่ทราบแน่ชัดนักว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองคนเป็นอย่างไร แต่เมื่อมี Nadella ให้โอกาสและคอยสนับสนุน คนอย่าง Spencer จึงทะยานไปข้างหน้าได้

เรื่องที่สามคือ ได้บอสดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องได้เงินและทรัพยากรมาใช้ด้วย เพราะไมโครซอฟท์ในยุค Nadella รุ่งเรืองขึ้นกว่าในอดีตมาก เมื่อทำเงินจากหน่วยธุรกิจอื่นๆ ได้มหาศาล จึงมีเงินมาลงทุนให้ Spencer ไปทำโครงการต่างๆ ได้อย่างที่ใจคิด บริษัทที่มีเงินระดับพันล้านดอลลาร์ให้ซื้อสตูดิโอเกมได้เป็นเบือ ไม่น่าจะมีเยอะนัก ต้องบอกว่า Spencer โชคดีด้วยที่ได้มาคุมทีม Xbox ในยุคนี้