in Knowledge

Origin of Dragons

ภาพมังกรของศิลปินญี่ปุ่น Utagawa Kuniyoshi (Google Arts & Culture)

“มังกร” เป็นสัตว์วิเศษที่อยู่มนุษย์โลกมาช้านาน

ถ้าตัดมังกรตามพวกนิยายแฟนตาซียุคหลังออกไปก่อน นับเฉพาะมังกรในแง่วัฒนธรรมโบราณเพียงอย่างเดียว เราจะเห็นว่าเกือบทุกอารยธรรมในโลกล้วนมี “สัตว์คล้ายงูยักษ์” มาเกี่ยวข้องเสมอ

ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยคือ พญานาค ของบ้านเรา, มังกรตะวันออก (สายจีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ที่มีลักษณะเป็นงูยาวๆ ไปจนถึงมังกรตะวันตก ที่มีขายืนได้คล้ายไดโนเสาร์มากกว่า

แต่จริงๆ แล้ววัฒนธรรมอื่นๆ ก็มีมังกรหรือสัตว์แบบงูด้วยเช่นกัน ตัวอย่างคือ

  • Apep เทพงูยักษ์ของอียิปต์ เรามักเห็นการใช้งูในสัญลักษณ์ Ouroboros (งูกินหางตัวเอง) ในนิยายต่างๆ ก็มาจากอียิปต์
  • อารยธรรมเมโสโปเตเมีย มีสัตว์ในตำนานที่เรียกว่า Mušḫuššu (น่าจะอ่านว่า มุสซุกซู) เป็นลูกผสมระหว่างสิงโตกับมังกร
  • อารยธรรม Levant คือแถวๆ อิสราเอลในปัจจุบัน มีมังกรทะเล Leviathan ที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ภายหลังก็แพร่หลายในยุโรปและโลกตะวันตกตามศาสนาคริสต์
  • อินเดีย ในคัมภีร์พระเวท (Rigveda) มีพูดถึงสงครามระหว่างพระอินทร์ เทพแห่งพายุ กับงูยักษ์ “วฤตระ” (Vrtra) เทพแห่งความแห้งแล้ง พระอินทร์ชนะด้วย “วัชระ” (สายฟ้า) แล้วเกิดเป็นฝน ตัวคัมภีร์พระเวทมีอายุประมาณ 1000-1500 ปีก่อนคริสตกาล ก็อาจถือเป็นหนึ่งในการอ้างถึงงูยักษ์ที่เก่าแก่ที่สุด
  • อารยธรรมกรีกโบราณ ในมหากาพย์ Iliad (800 ปีก่อนคริสตกาล) พูดถึงปีศาจพายุ Typhon ที่เป็นงูร้อยหัว นอกจากนี้ยังมี Hydra ที่เราคุ้นเคยกันดี
  • อารยธรรมนอร์สโบราณ มีงูหลายตัว เช่น Níðhöggr (Nidhogg) อยู่ใต้ต้นไม้แห่งโลก Yggdrasil, Jörmungandr มังกรที่ล้อมโลก และเป็นลูกของ Loki, Fafnir มังกรที่ต่อสู้กับวีรบุรุษ Sigurd

ภาพมังกร 4 ขา Mušḫuššu จากประตู Ishtar Gate เข้าเมืองบาบิโลน (ปัจจุบันอยู่ในอิรัก ใกล้แบกแดด) รูปนี้ถูกเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในอิสตันบูล

คำถามที่คนสงสัยกันมานานคือ ทำไมอารยธรรมเก่าแก่ทั้งโลก (old world) ถึงมีจินตนาการถึงมังกรหรืองูยักษ์ในลักษณะคล้ายๆ กัน (ต่างกันในรายละเอียด) มีคนพยายามหาคำตอบนี้ และเสนอออกมาด้วยกัน 4 ทฤษฎีหลักๆ คือ

  1. เห็นสัตว์ยักษ์จริงๆ ที่เป็นสัตว์เลื้อยคลานตัวใหญ่พันธุ์ต่างๆ เช่น จระเข้ อิกัวนา มังกรโคโมโด หรือบางครั้งอาจเป็นสัตว์ใหญ่ในทะเล (เช่น ปลาวาฬ) จึงนำมาเล่ากันต่อๆ โดยขยายเรื่องราวให้โอเวอร์ขึ้นเรื่อยๆ
  2. กระดูกไดโนเสาร์ คนในอดีตเจอกับกระดูกไดโนเสาร์ หรือกระดูกสัตว์ยักษ์โบราณอื่นๆ แต่ไม่มีความรู้ในการแยกแยะมัน จึงสรุปว่ามันคือกระดูกมังกร ในภาษาจีนมีคำว่า dragon bone คือเจอกระดูกสัตว์โบราณแล้วนำมาทำยาอายุวัฒนะ
  3. อยู่ในสัญชาตญาณของมนุษย์ตั้งแต่เป็นลิง เป็นข้อเสนอของนักมานุษยวิทยา David E. Jones ว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณกลัวงู สัตว์ตระกูลแมวขนาดใหญ่ นกนักล่า (พวกเหยี่ยว) ที่สืบทอดมาจากสมัยเป็นลิง ทำให้คนทั่วโลกกลัวงูยักษ์ที่ซ่อนอยู่ในสระน้ำหรือถ้ำมืดๆ แล้วแต่งเรื่องของมันขึ้นมา
  4. ปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศ เป็นข้อเสนอของนักภาษาศาสตร์ Robert Blust ว่ามังกรมักถูกโยงเข้ากับพายุ ฝน หรือท้องฟ้า จึงแต่งเรื่องอธิบายปรากฏการณ์บนท้องฟ้าแล้ววิวัฒนาการมาเป็นมังกร ข้อเสนอของเขาคือ สายรุ้ง ที่มีลักษณะเป็นงูยาวๆ บนท้องฟ้า พัฒนาต่อมาเป็นมังกร