in Thoughts

On Strategy

มีโอกาสได้อ่านโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับ “ยุทธศาสตร์” (strategy) สองโพสต์ที่พูดถึงประเด็นเดียวกัน

โพสต์แรกเป็นของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่นำประเด็นจากหนังสือ Good Strategy Bad Strategy ที่เขียนโดย Richard Rumelt อาจารย์ที่ UCLA และผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์องค์กร สรุปกลยุทธ์ที่ดีและแย่ว่ามีลักษณะใดบ้าง

โพสต์ของคุณชัชชาติ นำกรอบเรื่องกลยุทธ์ที่ดี 3 ประการจาก Rumelt มาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ COVID รอบต้นปี 2021

Rumelt อธิบายถึงแก่น (Kernel) ของการพัฒนากลยุทธ์ที่ดี ไว้ง่ายๆสามขั้นตอนคือ

1. Diagnosis วิเคราะห์สถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร อะไรคือความท้าทาย อุปสรรค ที่แท้จริง
2. A Guiding Policy นโยบายหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อเอาชนะอุปสรรคและความท้าทายนั้น
3. A Set of Coherent Actions แผนการทำงานที่สอดคล้องกันทุกหน่วยงานเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย Guiding Policy

กลยุทธ์ที่แย่มักจะเกิดจากความผิดพลาดในสามขั้นตอนนี้ เช่น ไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ไม่กล้าพูดถึงปัญหาหลัก นโยบายหลักไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแต่ละหน่วยงาน

ถ้าลองยกตัวอย่างกรณีการระบาดครั้งใหม่ของโควิด 19 ในส่วนของกลยุทธ์ย่อยในการควบคุมจุดเริ่มของการระบาด จากมุมมองของประชาชนคนหนึ่ง
Diagnosis การวิเคราะห์: การระบาดส่วนหนึ่งเริ่มจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบข้ามแดน การเปิดบ่อนการพนัน เมื่อผิดกฎหมายก็ไม่สามารถควบคุมเรื่องการคัดกรอง การเว้นระยะห่าง รวมถึงการพยายามปกปิดข้อมูล ทำให้การระบาดแพร่กระจายมากขึ้น
Guiding Policy นโยบายหลัก: ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนร่วม
Coherent Actions: ทำแผนปฎิบัติการร่วมกันทุกหน่วย จริงจังในการปฏิบัติ ไม่ลูบหน้าปะจมูก ลงโทษผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่ปล่อยปละละเลย ให้รางวัลในการชี้เบาะแส
แต่ถ้าเราเริ่มต้นการวิเคราะห์ว่า ไม่มีการทำผิดกฎหมาย ไม่มีบ่อน ไม่มีการลักลอบข้ามชายแดน ไม่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง สุดท้าย กลยุทธ์ก็จะไปเน้นไปที่การควบคุมคนที่ทำถูกกฎหมายแทน เพราะทำได้ง่ายกว่า สั่งปิด สั่งเปิด ได้ง่ายกว่า แต่ปัญหาและความท้าทายจริงๆไม่ได้รับการแก้ไข

อีกโพสต์นึงคือ ความเขลาของผู้มีอำนาจ ของคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ที่เขียนเรื่องคำสั่ง 66/2523 ในยุคป๋าเปรม

คนที่รู้จักนโยบาย 66/2523 คงทราบดีว่ามันเป็นการ “พลิกมุมคิด” ของสงครามต่อสู้คอมมิวนิสต์ในยุคนั้น

พลเอกเปรม เป็นอดีตแม่ทัพภาคสอง เป็นนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่สู้รบกับคอมมิวนิสต์มายาวนาน  การใช้กำลังทางทหารอย่างเดียว ไม่อาจแก้ปัญหาได้เลย มีการสู้รบกันทุกวัน ทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสีย ซึ่งเป็นคนไทยทั้งนั้น

ในระหว่างนั้นท่านมีทีมงานนายทหารหลักแหลมเป็นสายพิราบ  อาทิ พล.ต.ปฐม เสริมสิน, พ.อ.หาญ ลีนานนท์, พ.อ.เลิศ กนิษฐะนาคะ (ยศในขณะนั้น) ค่อย ๆ ออกแบบยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาสงครามกลางเมือง  คิดว่าหากยังแก้ปัญหาแบบเดิมประเทศไปไม่รอดแน่นอน

พวกเขาทราบดีว่า ชาวบ้านที่เข้าป่า เพราะถูกเจ้าหน้าที่หรือนายทุนข่มเหงรังแก จนทนไม่ไหวต้องเข้าป่าจับอาวุธ

เช่นเดียวกับนักศึกษาสามพันกว่าคนที่เข้าป่า คนเหล่านี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ แต่เมื่อพวกเขาไม่มีทางเลือก ต้องจับอาวุธสู้กับรัฐบาล

และเมื่อพลเอกเปรมเข้าสู่เก้าอี้ผู้นำประเทศได้ไม่นาน  ป๋าเปรมได้นำเอกสารคำสั่ง 66/2523 เข้าสู่ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดโอกาสให้วิจารณ์ได้ ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบว่าเป็นแนวทางที่จะยุติสงครามกลางเมืองได้ แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากนายทหารสายเหยี่ยวจำนวนมากในตอนนั้น

หลักการเหล่านี้ ต้องยอมรับว่ามีความก้าวหน้ามาก ทำให้สองปีผ่านไป นโยบาย 66/23 ได้ทำให้เกิดสภาพ “ป่าแตก” เกิดสภาพ“ทหารป่าคืนเมือง” มีผู้คนออกจากป่าหลายพันคนมามอบตัวอย่างไม่ผิดกฎหมาย ในนามผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จนได้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต้องประกาศยุติสงครามในที่สุด ( ไม่นับสาเหตุอื่น อาทิ เกิดความขัดแย้งของแกนนำในพรรคฯ และพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เคยให้ความสนับสนุนได้ลดความช่วยเหลือลงด้วย)

เหตุการณ์ในอดีตเมื่อสี่สิบปีก่อนนั้น แสดงถึงกึ๋นของนายทหารสายพิราบ หน่วยงานความมั่นคงฯ ที่ทำงานแบบมืออาชีพ เมื่อเห็นความแตกแยกของประเทศครั้งใหญ่ พวกเขาสุมหัวกันคิด และกล้านำเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ตามแนวทาง “การเมืองนำการทหาร” แม้จะได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากบรรดานายพลสายเหยี่ยว

นายทหารเหล่านี้ล้วนแต่เคยอยู่แนวหน้า ลงพื้นที่เสี่ยงตายท่ามกลางการสู้รบ แต่สุดท้ายพวกเขาทราบดีว่า ยิ่งรบก็ยิ่งพัง และที่สำคัญคือเขาไม่ได้มองพี่น้องประชาชนที่คิดต่างเป็นศัตรู

ทั้งสองโพสต์มีความเหมือนกันในเรื่องของการวิเคราะห์สถานการณ์ (ตามข้อแรกของ Rumelt) ว่าต้องมองสถานการณ์ให้ถูกต้องกับความเป็นจริงซะก่อน ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ง่ายนัก เพราะว่าคำว่า “จริง” มันลื่นไหล จริงของเรากับจริงของเขามันไม่เหมือนกัน

แต่หากมีความกล้าหาญที่จะพูดในความจริงที่ไม่อยากฟัง (inconvenient truth) เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว กระบวนการถกเถียงเพื่อให้การวิเคราะห์ใกล้เคียงกับความจริงที่สุด ก็ไม่น่าใช่เรื่องยากจนเกินไปนัก